อเมริกา
วิเคราะห์: ประชุมสุดยอดคิม-ทรัมป์ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่?
WASHINGTON — นักวิเคราะห์กล่าวว่าผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน แสดงให้เห็นว่าฝ่ายตนยังคงแน่วแน่ที่จะดำเนินนโยบายนิวเคลียร์ต่อไป เมื่อสหรัฐฯ กำลังจะมีประธานาธิบดีคนใหม่มารับตำแหน่ง คิม สื่อสารจุดยืนของตนเรื่องนี้ ที่การประชุมกับเจ้าหน้าที่ของทัพบกเกา
WASHINGTON — นักวิเคราะห์กล่าวว่าผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน แสดงให้เห็นว่าฝ่ายตนยังคงแน่วแน่ที่จะดำเนินนโยบายนิวเคลียร์ต่อไป เมื่อสหรัฐฯ กำลังจะมีประธานาธิบดีคนใหม่มารับตำแหน่ง
คิม สื่อสารจุดยืนของตนเรื่องนี้ ที่การประชุมกับเจ้าหน้าที่ของทัพบกเกาหลีเหนือเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งเเรกที่เขาส่งสัญญาณนี้ตั้งเเต่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
คิมกล่าวว่าจะพัฒนาความสามารถทางนิวเคลียร์ "อย่างไม่มีข้อจำกัด" เขายังได้ประณามรัฐบาลกรุงวอชิงตัน ที่ร่วมมือกับเกาหลีใต้ในยุทธศาสตร์ป้องปรามเกาหลีเหนือ
สื่อ KCNA ของทางการเกาหลีเหนือ รายงานถึงถ้อยเเถลงของคิม ที่ระบุว่า "สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จะไม่มีวันหลีกหนีความรับผิดชอบในฐานะผู้กระทำผิดที่ทำลายสันติภาพและความมั่นคงของคาบสมุทรเกาหลี และของภูมิภาค"
คิมเสริมว่า "งานที่สำคัญที่สุด ของกองทัพคือการเตรียมการทำสงคราม"
เอแวนส์ รีเวียร์ อดีตรักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกเเละแปซิฟิก ตีความว่าสิ่งที่คิมกล่าวเปรียบได้กับข้อความโดยตรงไปยังว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งผู้นำทั้งสองเคยพบกันมาเเล้วสามครั้งระหว่างปี 2018 - 2019
"คิม จอง อึน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนต่อ ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ว่าทุกสิ่งได้เปลี่ยนไปตั้งแต่การพบกันก่อนหน้านี้" รีเวียร์กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเกาหลีผ่านอีเมล
"เปียงยางได้กลายมาเป็นรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทางพฤตินัยและจะไม่ยอมทิ้งดาบอันทรงคุณค่านี้ " เขากล่าว
การหารือกับระหว่างคิมกับทรัมป์เรื่องนิวเคลียร์ ที่กรุงฮานอย เมื่อวันเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 ไม่ประสบความสำเร็จ
ทรัมป์ปฏิเสธที่จะยกเลิกมาตรการลงโทษต่อเกาหลีเหนือ เพื่อเเลกกับการที่คิมจะรื้อถอนสถานที่สำคัญภายใต้โครงการนิวเคลียร์ของประเทศ และตั้งเเต่นั้นเป็นต้นมารัฐบาลเปียงยางไม่ได้ชะลอการพัฒนาศักยภาพทางนิวเคลียร์เลย
นอกจากนั้น ห้าวันก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธวิถีโค้งข้ามทวีปรุ่นใหม่ที่ชื่อ 'ฮวาซอง-19' ที่มีพิสัยการยิงที่อาจไกลถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ
รีเวียร์กล่าวว่า " หลังจากที่ได้พัฒนาศักยภาพการป้องปรามที่น่าเชื่อถือ ที่มีทั้งระบบยิงที่ลำ้สมัยในระยะกลางและระยะไกล เกาหลีเหนือ ต้องการเป็นที่ยอมรับ หรืออย่างน้อยให้ได้รับรู้ว่า (ฝ่ายตน) คือหนึ่งในตัวเเสดงที่มีอำนาจด้านนิวเคลียร์"
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวด้วยว่า คิมต้องการจะบอกทรัมป์ว่า "ประตูปิดสนิทแล้วสำหรับการปลดอาวุธนิวเคลียร์"
นั่นหมายว่าว่าทรัมป์ ต้องรับมือกับการที่เกาหลีเหนือแน่วแน่ที่จะรักษาความสามารถทางนิวเคลียร์ของตน
อีกด้านหนึ่ง โจเซฟ เดทรานี อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษในการเจรจาหกฝ่ายกับเกาหลีเหนือเพื่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์ กล่าวว่าคิม น่าจะยังคงต้องการพบกับทรัมป์
แต่การพบกันในอนาคตนี้ จะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขใดนั้น เดทรานีกล่าวว่าปัจจัยเเวดล้อมในเวลานี้น่าจะเเตกต่างจากอดีตอย่างมาก
เขากล่าวในอีเมลกับวีโอเอเมื่อวันอังคารว่า หากมีการประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์และคิมอีกครั้ง ฝ่ายเกาหนีเหนือน่าจะเจรจา "จากจุดยืนของความเข้มเเข็ง" เพราะคิมได้ทำสนธิสัญญาไว้กับรัสเซีย ซึ่งระบุว่า กองทัพเครมลินและเปียงยางจะเข้ามาช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าประเทศคู่สัญญาถูกโจมตี
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายระบุว่า ยังไม่น่าตีความท่าทีของคิมเลยเถิดไปมากนัก
ซิดนีย์ เซเลอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ด้านเกาหลีเหนือ กล่าวว่าสิ่งที่คิม จอง อึนกล่าวไม่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกมากนักเกี่ยวกับวิธีที่เขาจะปฏิบัติต่อรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯภายใต้ทรัมป์
นอกจากนั้น เเกรี เซมอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ประสานงานของทำเนียบขาวด้านการควบคุมอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างรุนเเรงกล่าวในอีเมลต่อวีโอเอภาคภาษาเกาหลีว่า เนื่องจากคิมมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นกับปูติน ผู้นำเกาหลีเหนืออาจไม่ได้มองว่าการประชุมสุดยอดกับทรัมป์อีกรอบเป็นวาระสำคัญลำดับต้น ๆ
เซมอร์กล่าวด้วยว่าในทางกลับกัน "ประเด็นการต่างประเทศอันดับต้น ๆ ของทรัมป์ คือการยุติสงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง และการขึ้นภาษีกับจีน....(ส่วน) สถานการณ์เกาหลีค่อนข้างนิ่งและเงียบ ไม่มีใครคิดว่าการประชุมสุดยอมทรัมป์-คิมอีกครั้งจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่"
วีโอเอติดต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรื่องสัญญาณล่าสุดจากคิม จอง อึน ต่อสหรัฐฯ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับโดยทันที ที่มา: วีโอเอ