จับตาอนาคตโครงการอวกาศโบอิ้ง หลังปัญหา 'สตาร์ไลเนอร์'

การตัดสินใจขององค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (NASA) ที่ให้กระสวยอวกาศสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) เดินทางกลับโลกโดยไม่นำนักบินอวกาศสองคนกลับมาด้วย กำลังทำให้เกิดคำถามต่อนาคตของโครงการอวกาศของบริษัทโบอิ้ง (Boeing) สตาร์ไลเนอร์นำนักบินอวกาศสองคน คือ บุตช์ วิลมอร์ และ ซูนี วิลเลียมส์ เดินทางไปยังสถานีอวกาศระหว่างประเทศในวงโคจรรอบโลก เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ โดยทั้งสองคนมีกำหนดอยู่ที่สถานีดังกล่าวเพียง 8 วัน แต่เนื่องจากปัญหาของสตาร์ไลเนอร์ ทำให้ทั้งคู่ต้องเลื่อนเวลาออกไปเป็น 8 เดือน ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบขั้นสุดท้ายก่อนที่นาซ่าจะตัดสินใจว่าจะรับรองให้ยานสตาร์ไลเนอร์เป็นเที่ยวบินขนส่งสัมภาระและนักบินไปยังสถานีอวกาศหรือไม่ แต่ระบบขับเคลื่อนของสตาร์ไลเนอร์เกิดปัญหาขัดข้อง ซึ่งนาซ่าเชื่อว่าไม่ปลอดภัยต่อการนำนักบินเดินทางกลับโลกตามแผนเดิม โดยทั้งวิลมอร์และวิลเลียมส์จะกลับมาพร้อมกับแคปซูลอวกาศของบริษัทสเปซเอกซ์ (SpaceX) ของอิลอน มัสก์ ที่จะเดินทางไปรับในช่วงต้นปีหน้าแทน หลายปีที่ผ่านมา สตาร์ไลเนอร์ประสบปัญหามากมาย ทั้งความล่าช้า ปัญหาทางเทคนิค และการขาดแคลนชิ้นส่วนเพราะปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลให้กับบริษัทโบอิ้ง อ้างอิงจากข้อมูลการวิเคราะห์ของรอยเตอร์ เวลานี้ ซีอีโอคนใหม่ของโบอิ้ง เคลลี ออร์ทเบิร์ก ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนนี้ จะต้องตัดสินใจว่าจะทุ่มเงินลงไปกับโครงการสตาร์ไลเนอร์ต่อ แม้อาจจะไม่มีผลกำไร หรือจะยอมทิ้งธุรกิจกระสวยอวกาศนี้เสีย แล้วหันไปทุ่มเทกับธุรกิจหลัก คือการผลิตเครื่องบิน ซึ่งก็ประสบปัญหาไม่แพ้กัน สืบเนื่องจากประเด็นเรื่องความปลอดภัย หลังจากเหตุการณ์ประตูเครื่องบินรุ่น 737 MAX หลุดกลางอากาศเมื่อต้นปีนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่า ในที่สุดแล้ว โบอิ้งอาจต้องเดินหน้าโครงการสตาร์ไลเนอร์นี้ต่อไป เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาของโบอิ้งที่เคยเผชิญกับปัญหาหนักกว่านี้มาแล้วหลายครั้งในโครงการอื่น ๆ  และที่สำคัญ โบอิ้งตั้งเป้าว่า ในอนาคต กระสวยสตาร์ไลเนอร์อาจกลายเป็นพาหนะหลักแทนยานอวกาศของนาซ่า ในการขนส่งมนุษย์ไปยังสถานีอวกาศเอกชนที่จะมาแทนสถานีอวกาศระหว่างประเทศหลังจากปี 2030  ปัญหาและความคาดหวังของนาซ่า ที่ผ่านมา นาซ่าตั้งความหวังว่า สตาร์ไลเนอร์จะกลายเป็นเที่ยวบินอวกาศสำรองของบริษัทสเปซเอกซ์ ในภารกิจเดินทางไปยังสถานีอวกาศระหว่างประเทศ หลังจากที่โบอิ้งชนะการประมูลสัญญามูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2014 แต่ผ่านไป 10 ปี สตาร์ไลเนอร์เพิ่งสามารถนำนักบินไปยังสถานีอวกาศได้เพียงครั้งเดียวและยังประสบปัญหาในการนำนักบินกลับมายังโลก เทียบกับยานครูว์ดรากอน (Crew Dragon) ของสเปซเอกซ์ ที่เดินทางไป-กลับสถานีอวกาศมาแล้วถึง 10 รอบ หลังทำสัญญามูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์กับนาซ่าเมื่อปี 2020  หลายปีมานี้ โบอิ้งสูญเสียบุคลากรจำนวนมากในโครงการด้านอวกาศให้แก่บริษัทสเปซเอกซ์ และบลู ออริจิน (Blue Origin) ของเจฟฟ์ เบโซส ประกอบกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานวึ่งส่งผลให้การผลิตเป็นไปอย่างล่าช้า    นอกจากสตาร์ไลเนอร์แล้ว โครงการจรวดขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า Space Launch System (SLS) rocket ก็สร้างปัญหาปวดหัวให้กับโบอิ้งเช่นกัน เมื่อผู้ตรวจสอบขององค์การนาซ่าจัดทำรายงานเมื่อต้นเดือนนี้ว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพ บุคลากรขาดประสบการณ์และการฝึกฝนที่จำเป็น ซึ่งทางโบอิ้งออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว ที่มา: รอยเตอร์

จับตาอนาคตโครงการอวกาศโบอิ้ง หลังปัญหา 'สตาร์ไลเนอร์'

จับตาอนาคตโครงการอวกาศโบอิ้ง หลังปัญหา 'สตาร์ไลเนอร์'

จับตาอนาคตโครงการอวกาศโบอิ้ง หลังปัญหา 'สตาร์ไลเนอร์'

จับตาอนาคตโครงการอวกาศโบอิ้ง หลังปัญหา 'สตาร์ไลเนอร์'
จับตาอนาคตโครงการอวกาศโบอิ้ง หลังปัญหา 'สตาร์ไลเนอร์'
Ads Links by Easy Branches
เล่นเกมออนไลน์ฟรีที่ games.easybranches.com

บริการโพสต์ thainews.easybranches.com/contribute