เอเชีย
'แพทองธาร' คุย 'บลิงเคน' กระชับสัมพันธ์ใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน พบหารือกับกับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Summit) และประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ที่ประเทศลาว ในวันพฤ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน พบหารือกับกับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Summit) และประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ที่ประเทศลาว ในวันพฤหัสบดี
รัฐมนตรีบลิงเคน เป็นตัวแทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางมาร่วมการประชุมกับผู้นำประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ หลังจากที่ต้องทำหน้าที่ผสานความสัมพันธ์ทางการทูตและจัดการความตึงเครียดอย่างหนักในตะวันออกกลางตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
ในวันพฤหัสบดี รมต.บลิงเคน พบหารือกับนายกฯ แพทองธาร ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม และถือเป็นผู้นำประเทศที่อายุน้อยที่สุดที่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนและ East Asia Summit ในครั้งนี้ ด้วยวัย 38 ปี
บลิงเคน กล่าวว่า สหรัฐฯ หวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับนายกฯ คนใหม่ของไทย "เพื่อมุ่งเน้นสิ่งที่เราทำได้เพื่อให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น" รวมทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
"สองประเทศมีประวัติศาสตร์ที่พิเศษยาวนานร่วมกัน และเราต้องการจะสานต่อสิ่งนี้" รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว
ด้านนายกฯ แพทองธาร กล่าวกับบลิงเคนถึงอุทกภัยที่ประชาชนทางภาคเหนือของไทยกำลังเผชิญ พร้อมกล่าวสนับสนุนความสัมพันธ์อันยาวนานของไทยกับสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ไทยถือเป็นหนึ่งในมิตรประเทศเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงวอชิงตันมักวิจารณ์ประวัติด้านประชาธิปไตยของไทยบ่อยครั้ง แม้จะไม่ใช่การตำหนิอย่างรุนแรงก็ตาม
ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนสิงหาคม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นเวลา 10 ปี
หารือทวิภาคีกับผู้นำมาเลเซีย
ในวันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาวิจารณ์สหรัฐฯ กรณีให้การสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามในกาซ่า
ในการแถลงข่าวร่วมกัน ทั้งสองคนมิได้กล่าวถึงประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่มุ่งไปที่การทำงานร่วมกันระหว่างสองประเทศมากกว่า
บลิงเคน ระบุว่า สหรัฐฯ คือผู้ลงทุนจากต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย และเชื่อว่า "นี่คือสัญญาณที่สำคัญยิ่งของความเชื่อใจและความเชื่อมั่น เพราะการลงทุนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งใหญ่ในประเทศนั้น"
เจ้าหน้าที่อเมริกันกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า สหรัฐฯ เข้าใจดีถึงแรงกดดันทางการเมืองในมาเลเซีย และต้องการให้เกิดความสัมพันธ์ในเชิงความร่วมมือกันกับนายกฯ มาเลเซีย
ในการประชุมที่ประเทศลาวครั้งนี้ รัฐบาลไทยยังได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ “การประชุมปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการ” กับตัวแทนสมาชิกกลุ่มอื่น ๆ อีก 9 ประเทศ ในเดือนธันวาคมเพื่อใช้หาทางออกให้กับภาวะความขัดแย้งรุนแรงที่ทำให้ประชาชนนับล้านคนพลัดถิ่น
โดยรัฐบาลทหารเมียนมาส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่าสามปี
ทางด้านรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวสนับสนุนความพยายามทางการทูตเพื่อจัดการวิกฤตในเมียนมา แต่ก็ยืนยันว่าจะกดดันรัฐบาลทหารต่อไปหลังจากที่ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาความกังวลหลายประการ เช่น การปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองและการลดความรุนแรง
ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ รัฐมนตรีบลิงเคนซึ่งเพิ่งพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ ที่นครนิวยอร์ก เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ยืนยันสนับสนุนความพยายามของประเทศในอาเซียนที่ต้องการชูความกังวลเรื่องท่าทีของจีนในทะเลจีนใต้ให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งรับทราบ
และในการประชุม East Asia Summit ครั้งนี้ รัฐมนตรีบลิงเคนจะนั่งอยู่ในห้องเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ด้วย แต่จะไม่มีการพูดคุยหารือกันระหว่างตัวแทนมหาอำนาจสองชาตินี้แต่อย่างใด ที่มา: เอเอฟพี