เอเชีย
ทองแลกข้าว เทรนด์เถื่อนในบังกลาเทศยุคสินค้าขาดตลาด
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่เป็นผลสะท้อนจากการที่อินเดียลดการส่งออกอาหาร คือตลาดเถื่อนที่เฟื่องฟูขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ใช้ทองคำเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ตามการรายงานของรอยเตอร์ ราคาสินค้าจำพวกอาหารในบังกลาเทศดีดตัวสูงขึ้นหลังอินเดียที่เป็นผู้ส
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่เป็นผลสะท้อนจากการที่อินเดียลดการส่งออกอาหาร คือตลาดเถื่อนที่เฟื่องฟูขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ใช้ทองคำเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ตามการรายงานของรอยเตอร์
ราคาสินค้าจำพวกอาหารในบังกลาเทศดีดตัวสูงขึ้นหลังอินเดียที่เป็นผู้ส่งออกหลัก ลดการส่งออกสินค้าอาหารจำพวกข้าว หัวหอม น้ำตาล และอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าขาดแคลนในประเทศตั้งแต่กลางปี 2022 เป็นต้นมา
การห้ามส่งออก นำมาซึ่งการลักลอบขนส่งสินค้าข้ามแดนกันแบบผิดกฎหมายและไม่เสียภาษีตามพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศที่มีความยาวราว 4,000 กิโลเมตรในลักษณะที่กลุ่มค้ายาเสพติดกระทำกัน
ที่ผ่านมามีกรณีที่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ลักลอบขนน้ำตาลเข้าบังกลาเทศด้วยการซุกซ่อนไว้ใต้แผ่นบรรจุทราย รวมถึงการตรวจพบคนแอบซุกทองคำ 4.7 กิโลกรัมไว้ในไส้กรองอากาศรถจักรยานยนต์ขณะมุ่งหน้าไปอินเดีย
ทองคำถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางเพราะอินเดียเป็นผู้บริโภคทองคำรายใหญ่อันดับสองของโลก ผนวกกับการที่ราคาทองคำสูงขึ้น 50% ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 ทำให้ผู้ค้าในตลาดสีเทามองเห็นโอกาสที่จะเก็งกำไรจากราคาของทองคำในตลาดอินเดีย และจากราคาของสินค้าอาหารในบังกลาเทศที่สูงกว่าราคาในอินเดีย 150%
ทองคำจึงถูกลักลอบนำเข้าแบบเลี่ยงภาษีศุลกากรในฐานะสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับอาหาร และคู่ค้าก็จะนำทองคำไปขึ้นเป็นเงินสดในอินเดียเพื่อกินส่วนต่างกำไร หรือไม่ก็ขายต่อให้กับโรงสกัดทองในราคาที่ถูกกว่าตลาด อ้างอิงจากฮาร์ชาด อัจเมรา ผู้ค้าทองคำจากบริษัทเจเจ โกลด์เฮาส์ ในกัลกัตตา ประเทศอินเดีย
ในช่วงที่มีการรายงานข่าว ส่วนต่างกำไรของทองคำที่ซื้อขายในลักษณะนี้อยู่ที่ 700,000 รูปีต่อกิโลกรัม คิดเป็นเงินไทยราว 230,000 บาท
สภาทองคำโลก (WGC) ระบุว่าเมื่อปี 2023 ยอดนำเข้าทองคำแบบผิดกฎหมายในอินเดียอยู่ที่ 156 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 100 ตันเมื่อปี 2022
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมและภาครัฐกล่าวกับรอยเตอร์ว่า เกือบหนึ่งในสามของทองคำเถื่อนมาจากบังกลาเทศ โดยจำนวนมากถูกใช้เพื่อแลกเปลี่ยนกับอาหาร
ปัญหานี้ทำให้รัฐบาลสองประเทศสูญเสียรายได้จากภาษีรวมกันหลายพันล้านดอลลาร์ ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้เกษตรกรบังกลาเทศเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่ถูกลง เพราะของเถื่อนที่เข้ามาตีตลาดทำให้กลไกราคาปั่นป่วนจนโครงการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศไม่เกิดประสิทธิภาพ
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมประเมินว่าธุรกิจลักลอบค้าทองคำทำให้อินเดียสูญเสียรายได้ที่ควรได้จากภาษีนำเข้าทองคำเป็นมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 54,700 ล้านบาท)
บาลวานต์ โฮลการ์ พ่อค้าในรัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของอินเดียกล่าวว่า “รัฐบาลจำกัดการส่งออกเพื่อเร่งลดราคาในประเทศ แต่การลักลอบซื้อขายสินค้าส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์นั้น และเกษตรกรก็รับกรรมจากการจำกัดนั้น” ที่มา: รอยเตอร์