logologo

Easy Branches ให้คุณแบ่งปันโพสต์แขกของคุณภายในเครือข่ายของเราในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก เริ่มแบ่งปันเรื่องราวของคุณวันนี้!

Easy Branches

34/17 Moo 3 Chao fah west Road, Phuket, Thailand, Phuket

Call: 076 367 766

info@easybranches.com
เศรษฐกิจ

ย้อนรอยเส้นทาง Robinhood แอปฯ เพื่อคนตัวเล็ก พร้อมวิเคราะห์เหตุผลก่อนที่ SCBX ประกาศปิดตัวในท้ายที่สุด

Positioning พาไปย้อนรอยเส้นทางของแอปพลิเคชันส่งอาหารรวมถึงบริการอื่นๆ อย่าง Robinhood โดยชูจุดเด่นว่าเป็นแอปฯ เพื่อคนตัวเล็ก ก่อนในท้ายที่สุดบริษัทแม่เจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง SCBX จะประกาศปิดตัวแอปฯ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้


  • Jun 28 2024
  • 169
  • 9189 Views
พาไปย้อนรอยเส้นทางของแอปพลิเคชันส่งอาหารรวมถึงบริการอื่นๆ อย่าง Robinhood โดยชูจุดเด่นว่าเป็นแอปฯ เพื่อคนตัวเล็ก ก่อนในท้ายที่สุดบริษัทแม่เจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง SCBX จะประกาศปิดตัวแอปฯ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

ถือเป็นข่าวที่สร้างความตกใจไม่น้อย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา SCBX ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ทางคณะกรรมการบริษัทได้แจ้งถึงการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งจะมีผลภายในวันที่ 31 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

ซึ่งการปิดตัวแอปพลิเคชัน Robinhood ทำให้ผู้บริโภคหลายคนใจหายไม่น้อย เนื่องจากเป็นอีกแพลตฟอร์มที่สามารถสั่งอาหารหรือบริการอื่นๆ ได้

Positioning พาไปย้อนรอยแอปฯ ดังกล่าว และวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไมถึงต้องปิดตัวลง

เปิดตัวแอปฯ เพื่อช่วยคนตัวเล็ก

ในช่วงปี 2020 บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันโรบินฮู้ด (Robinhood) โดยในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นทางกลุ่ม SCB มองว่าเป็นโครงการ CSR เพื่อคืนกำไรให้สังคม ให้ทั้งส่วนของ คนซื้อ คนขาย และคนส่งสินค้าได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และเป็นธรรม

Robinhood เกิดขึ้นจากไอเดียของ อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของ SCB ตอนที่ต้องกักตัวในช่วงการระบาดโควิด และต้องทำงานจากที่บ้าน ทำให้ต้องสั่งอาหารออนไลน์บ่อยครั้ง และมองเห็นโอกาสว่าธนาคารมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำได้ จึงต่อยอดด้วยการระดมทีมกว่า 80 คนพัฒนาแอปฯ นี้ขึ้น ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือนก่อนเปิดตัว

จุดเด่นสำคัญคือ Robinhood จึงไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ เช่น ไม่มีค่าสมัคร ไม่คิดค่า GP (Gross Profit) ร้านอาหารจะได้เงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ รวมถึงยังช่วยให้ร้านค้ามีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วย

และในช่วงเวลาดังกล่าวทางแอปฯ มองว่ามีช่องทางในการเจาะตลาดลูกค้า โดยมองว่าถ้าหากมีการสั่งอาหารที่ยอด 300 บาทขึ้นไป แอปฯ ดังกล่าวถือว่าตอบโจทย์มากกว่า

ขยายบริการ

นอกจากบริการส่งอาหารแล้ว ในปี 2022 ทาง Robinhood ได้เปิดบริการเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นบริการ จองโรงแรม บริการการท่องเที่ยว บริการจัดส่งเอกสารและพัสดุ หรือแม้แต่บริการเรียกรถ ซึ่งบริษัทได้ขยายธุรกิจเพื่อที่จะหารายได้เพิ่มเติมให้กับแพลตฟอร์ม

ไม่เพียงเท่านี้ในช่วงเวลาดังกล่าว เพอร์เพิล เวนเจอร์ส มีแผนที่จะมีการระดมทุน Series A จากนักลงทุนภายนอกด้วย รวมถึงวางเป้าในการเป็น Super App ในอาเซียน

ขณะเดียวกันทาง Robinhood เองมองว่าในเมื่อทางแอปฯ เองไม่ได้ต้องการที่จะเก็บค่า GP จากทั้งร้านค้า หรือแม้แต่คนขับ ทำให้เกิดไอเดียในการหากำไรเพิ่มเติม เพื่อที่จะทำให้แอปฯ อยู่รอดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาภายในแอปฯ หรือแม้แต่การปล่อยสินเชื่อ หรือการทำลีซซิ่ง มอเตอร์ไซค์และรถยนต์ไฟฟ้า

ถ้าหากแผนการดังกล่าวเป็นไปตามคาดจะทำให้ผลประกอบการของ Robinhood นั้นกลับมามีกำไรได้ภายในปี 2025 

Robinhood Ride

การแข่งขันสูง ภายใต้อุตสาหกรรมที่เติบโตช้าลง

อย่างไรก็ดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันระหว่างบริการส่งอาหารภายในประเทศไทยนั้นมีความดุเดือดไม่น้อย แม้ว่าในช่วงของการแพร่ระบาดโควิดธุรกิจส่งอาหารจะได้รับความนิยมก็ตาม เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่เปลี่ยนไป

ข้อมูลจาก Momentum Works ที่ได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่าในปี 2023 ผู้เล่นในตลาดบริการส่งอาหารมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% และ LINE MAN ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 36%

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายรองลงมาอย่าง foodpanda ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 8% และ Shopee Food ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 6% ที่เหลืออีก 3% เป็นของ Robinhood เท่านั้น

ถ้าหากเทียบส่วนแบ่งการตลาดในปี 2022 นั้น Robinhood มีส่วนแบ่งตลาด 6% แต่ปี 2023 กลับมีส่วนแบ่งตลาดเหลือแค่ 3% ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจส่งอาหารในไทยยังมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาคือ Shopee Food ทำให้การแข่งขันนั้นเพิ่มมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเทียบตัวเลขของ Momentum Works จะเห็นว่าขนาดตลาด เมื่อใช้ตัวเลขยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในแพลตฟอร์ม (GMV) ของไทยนั้นปี 2022 มีขนาด 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2023 เติบโตเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

จะเห็นได้ว่าตลาดในประเทศไทยนั้นการเติบโตเริ่มช้าลง แต่ผู้เล่นรายใหญ่นั้นยังมีการแข่งขันที่ดุเดือด ไม่เพียงเท่านี้สภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้า โดยบทวิเคราะห์ของ Bernstein ชี้ว่าอุตสาหกรรมส่งอาหารในอาเซียน อย่างเช่นในประเทศไทย (รวมถึงสิงคโปร์) นั้นเติบโตช้าลง

ปัจจัยข้างต้นยิ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมแพลตฟอร์มส่งอาหาร ส่งผลทำให้ผู้เล่นระดับรองๆ นั้นอาจไปต่อไม่ได้ภายใต้สภาวะเช่นนี้

ผู้เล่นในตลาดส่งอาหารในไทยมีหลายราย ภายใต้การเติบโต GMV ที่เริ่มโตช้าลง – ภาพจาก Shutterstock

ประกาศปิดตัว

ถ้าหากไปย้อนดูผลประกอบการของบริษัทแม่เจ้าของแอปฯ Robinhood นี้ โดยปี 2022 บริษัทมีผลขาดทุนราวๆ 1,900 ล้านบาท และปี 2023 มีผลขาดทุนราวๆ 2,100 ล้านบาท  ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้  เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ต้องปิดตัวแอปฯ ดังกล่าวลง

ในบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ชี้ว่า ถ้าหาก SCBX ได้เลิกกิจการของแอปพลิเคชัน Robinhood จะช่วยทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 800 ล้านบาทในปี 2024 นี้ และมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรก

ขณะที่บทวิเคราะห์จาก UBS ยังชี้ว่าการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood คาดว่าจะมีการตั้งด้อยค่าเพียง 1 ครั้งในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปี 2024 นี้และมองว่าการปิดตัวของแอปฯ ยังช่วยยุติการเผาเงินของบริษัท ช่วยให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ SCBX ในปี 2025 ลงได้

UBS ยังมองว่าในปี 2023 นั้น เพอร์เพิล เวนเจอร์ส มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานถึง 2,900 ล้านบาท และเมื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ทำให้ SCBX สามารถนำเงินไปลงทุนในส่วนอื่น หรือแม้แต่ทำให้สามารถมีเงินจ่ายปันผลได้อย่างยั่งยืนขึ้น

และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งการปิดฉากแอปฯ ส่งอาหารชื่อดังของไทย ภายใต้สภาวะอันท้าทายเช่นนี้

ที่มา – Tech In Asia, ข้อมูลจาก Momentum Works, บทวิเคราะห์จาก Bernstein, Tisco, UBS

ที่เกี่ยวข้อง


แบ่งปันหน้านี้

โพสต์ของแขกโดย Easy Branches

all our websites

image