คณบดี CITE DPU เผยเบื้องหลังความสำเร็จ นศ.วิศวะ คว้า 2 รางวัลประกวดโครงงานสหกิจศึกษาดีเด่นระดับชาติประจำปี 2566
ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPU) เปิดเผยว่า ทางวิทยาลัย CITE DPU ได้วางแนวทางในการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้นปีการศึกษาที่ 1 สำหรับหลักสูตรปร
- Nov 27 2023
- 98
- 7653 Views
ชี้ DPU เน้นปั้นเด็กให้มีทักษะรอบด้าน รู้ลึก รู้กว้าง และเรียนรู้ได้
ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPU) เปิดเผยว่า ทางวิทยาลัย CITE DPU ได้วางแนวทางในการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้นปีการศึกษาที่ 1 สำหรับหลักสูตรปริญญาตรี ซึ่งปัจจุบันมี 3 สาขา ได้แก่ 1.วิศวกรรมโลจิสติกส์ (LE) 2.วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (CE) และ 3.เทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาการข้อมูล (ITDS) ทั้งนี้ นอกเหนือจากการเรียนทฤษฎี และเรียนปฏิบัติแล้ว ยังต้องผ่านการปลูกฝัง 6 ทักษะจาก DPU Core ประกอบด้วย 1. ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ 2. ทักษะด้านการสื่อสาร 3.ทักษะการคิดวิเคราะห์ 4.ทักษะการมีความคิดสร้างสรรค์ 5.ทักษะการทำงานเป็นทีม และ 6.ทักษะด้านเทคโนโลยี ซึ่งทักษะทั้งหมดถือเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ที่สำคัญยังบ่งบอกถึงตัวตนและเป็นจุดเด่นของนักศึกษา DPU
“นอกจากนี้จุดแข็งของเด็ก CITE DPU ก่อนที่นักศึกษาจะออกไปสหกิจศึกษาในสถานประกอบการต่าง ๆ แล้วนักศึกษาของ CITE DPU ทุกคนต้องทำโครงงานวิศวกรรม (Project Based Learning) ก่อนซึ่งเป็นการบูรณาการความรู้ที่เรียนมาตั้งแต่ปี 1-3 นำมาประยุกต์ใช้เพื่อฝึกการวางแผน คิดวิเคราะห์ และฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเอง ควบคู่กับการทำสหกิจศึกษา รวมถึงการลงพื้นที่ออกค่ายจิตอาสา เพื่อเสริมทักษะการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงฝึกการทำงานเป็นทีม เมื่อลงสนามการทำงานจริง เด็กจะที่มีทักษะรอบด้านติดตัว ส่งผลให้เรียนรู้งานเร็วและปรับตัวเร็ว เมื่อพบปัญหา จะค้นหาวิธีการใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน” ผศ.ดร.ชัยพร กล่าว
คณบดี CITE DPU กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวทางการเรียนการสอนผ่านกระบวนการต่าง ๆ บ่มเพาะให้นักศึกษาของเราเป็นผู้มีทักษะรอบด้าน โดยล่าสุดนักศึกษาวิทยาลัย CITE DPU คว้า 2 รางวัล จากโครงการประกวดโครงงาน CWIE ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 จัดโดยเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE) ภาคกลางตอนบน ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภทนักศึกษาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานที่มีโครงงานด้านนวัตกรรมสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานดีเด่น โครงงานเรื่อง “หุ่นยนต์ตรวจตราและเฝ้าระวังสำหรับสถานการณ์ COVID” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ประเภทนักศึกษาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานที่มีโครงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่น โครงงานเรื่อง “การกำหนด ABC Analysis Part PC Store Layout” โดยรางวัลทั้งหมดที่ได้รับนับเป็นการการันตีถึงคุณภาพของนักศึกษา DPU
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวในตอนท้ายว่า แนวโน้มการทำงานในยุคปัจจุบันทุกองค์กรต้องการบุคลากรที่มี Skill รอบด้าน ปรับตัวได้ และสิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุดคือ คุณภาพของนักศึกษาที่เรียนจบไป อาจจะยังทำงานไม่ได้ในทันที ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน วิทยาลัย CITE จึงพยายามปั้นให้เด็กมีศักยภาพพร้อมเริ่มทำงานได้ทันที โดยสอนให้ฝึกการเรียนรู้ตั้งแต่ปี 1 นอกจากนี้ยังเสริมด้วยการ Teach และ Coach ของอาจารย์ในแต่ละสาขาวิชา พร้อมปรับหลักสูตรให้เข้ากับยุคปัจจุบัน รวมถึง Up Skill ใหม่ ๆ ให้นักศึกษาอยู่เสมอ เพื่อส่งเสริมให้เด็ก CITE DPU มีความโดดเด่น มีตัวตนที่เป็นผู้รู้ลึก รู้กว้าง พร้อมมี Multidiscipline หรือ Soft Skill อาทิ ทักษะทางภาษา ทักษะทางด้านสังคม ทักษะทางดิจิทัล ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กเข้าสู่โลกของการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อนักศึกษาก้าวเข้าสู่การทำงานจะสามารถทำได้หลากหลายอาชีพ เช่น จบโลจิสติกส์ สามารถทำวิเคราะห์ทางด้าน DATA ได้ จบ IT สามารถทำ Software House ได้ เนื่องจากมี Skill ความเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น
จากการสำรวจสถิตินักศึกษาของวิทยาลัย CITE DPU ที่จบการศึกษาในปี 2565 พบส่วนใหญ่ทำงานตรงสายอาชีพที่เรียนมา และมีงานรองรับทันที ประกอบด้วย วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 100% เทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาการข้อมูล 95% วิศวกรรมโลจิสติกส์ 94.44% วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 95.91% สำหรับนักศึกษาที่เหลือส่วนหนึ่งไปรับใช้ชาติโดยการเป็นทหารหรือประกอบธุรกิจส่วนตัว