ต่างประเทศ
เริ่มแล้ว! ชาวอเมริกันเข้าคูหากาบัตรเลือกผู้นำทำเนียบขาวคนใหม่
ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเดินเข้าคูหาเลือกตั้งในวันอังคารที่ 5 พ.ย. เพื่อกาบัตรลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ระหว่างผู้สมัครสองคน คือ คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ก่อนหน้านี้ ชาวอเมริกันมากกว่า 81 ล้านค
ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเดินเข้าคูหาเลือกตั้งในวันอังคารที่ 5 พ.ย. เพื่อกาบัตรลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ระหว่างผู้สมัครสองคน คือ คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน
ก่อนหน้านี้ ชาวอเมริกันมากกว่า 81 ล้านคนเข้าคูหาเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งทางไปรษณีย์ไปแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อ 4 ปีก่อนที่มีจำนวนทั้งหมด 158 คน
อดีตปธน.ทรัมป์ ผู้พ่ายแพ้แก่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อปี 2020 กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ระหว่างการหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนียว่า ตนไม่ควร "ออกจากทำเนียบขาว" เมื่อไบเดนย้ายเข้าไปเมื่อเดือนมกราคม ปี 2021
ทรัมป์บอกด้วยว่า ตนจะยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ต่อเมื่อตนเชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรม ซึ่งผู้วิจารณ์หลายคนชี้ว่าความหมายของทรัมป์คือเขาจะยอมรับหากเขาเป็นผู้ชนะเท่านั้น
หากทรัมป์ชนะ เขาจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่สองที่สามารถกลับมานั่งในตำแหน่งได้หลังจากเว้นช่วงไป ต่อจากอดีตปธน.โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ เมื่อทศวรรษ 1880 นอกจากนี้ทรัมป์ยังอาจกลายเป็นผู้ต้องคดีฟ้องร้องคนแรกที่ได้นั่งในตำแหน่งประธานาธิบดีของชาวอเมริกันด้วย หลังจากที่เขาถูกตั้งข้อหา 34 กระทงซึ่งเชื่อมโยงกับคดีต่าง ๆ ที่เขาถูกฟ้องร้องอยู่
ในการหาเสียงที่ผ่านมา ทรัมป์มักกล่าวโจมตีคู่แข่งจากพรรคเดโมแครตด้วยถ้อยคำรุนแรง เช่นเรียกว่าเป็น "ศัตรูภายในประเทศ" และเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของอเมริกา รวมทั้งเรียกแฮร์ริสว่าเป็นบุคคลที่ไม่ฉลาด และจะตกเป็นเบี้ยของบรรดาผู้นำโลกคนอื่น ๆ
ด้านรองปธน.แฮร์ริส กล่าวในการหาเสียงมารตลอดว่าเธอเป็น "มวยรอง" จนกระทั่งไม่นานนี้ที่เธอแสดงความมั่นใจว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 และประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอเมริกาได้ ซึ่งหากเธอทำได้จริงเธอจะกลายเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนที่สองต่อจากบารัค โอบาม่า และเป็นผู้มีเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกที่ได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ ด้วย
ก่อนหน้านี้ แฮร์ริสมักกล่าวว่าทรัมป์เป็น "คนไม่จริงจัง" ซึ่งจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย และยัง "จิตหลุด" จากสิ่งที่ประธานาธิบดีทั่วไปเป็น หลังจากที่ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำตัดสินเมื่อต้นปีนี้ว่า ประธานาธิบดีจะได้รับสิทธิปกป้องจากการถูกดำเนินคดีตามความผิดใด ๆ ขณะอยู่ในตำแหน่ง
ผลการสำรวจความเห็นประชาชนก่อนวันเลือกตั้งชี้ว่า จะเป็นการแข่งขันที่สูสี โดยเฉพาะในกลุ่มรัฐสมรภูมิ (battleground states) 7 รัฐที่จะชี้ขาดผู้ชนะ ได้แก่ รัฐนอร์ธแคโรไลนา เพนซิลเวเนีย มิชิแกน วิสคอนซิน เนวาดา แอริโซนา และจอร์เจีย
โพลล์ของเอบีซีนิวส์ชี้ว่า ทรัมป์มีคะแนนนำใน 5 จาก 7 รัฐสมรภูมิ ในขณะที่โพลล์ของวอชิงตันโพสต์ระบุว่า แฮร์ริสนำใน 4 จาก 7 รัฐสมรภูมิ ส่วนโพลล์ของนิวยอร์กไทมส์บอกว่า ทรัมป์นำ 4 รัฐ แฮร์ริสนำ 2 รัฐ และเสมอกันที่รัฐเพนซิลเวเนีย
ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดัสหรัฐฯ มิได้ตัดสินด้วยผลการลงคะแนนรายบุคคลทั่วประเทศ (national popular vote) เหมือนกับประเทศอื่น แต่จะแพ้ชนะด้วยจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ของทั้ง 50 รัฐ ซึ่งแต่ละรัฐมีจำนวนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในรัฐนั้น ๆ
ในจำนวนทั้ง 50 รัฐ มี 48 รัฐที่ผู้ชนะเลือกตั้งในรัฐนั้นจะได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด มีเพียงสองรัฐ คือ เนบราสกา และเมน ที่จะจัดสรรจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไปตามคะแนนเสียงของแต่ละเขตเลือกตั้งภายในรัฐดังกล่าว
ผู้สมัครที่ได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 คนจาก 538 คน จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกา ข้อมูลบางส่วนจากเอพี และรอยเตอร์