ต่างประเทศ
'เครื่องบินรบไอพ่นล่องหน' รุ่นใหม่ของจีน เปิดตัวครั้งแรกสัปดาห์นี้
เครื่องบินรบไอพ่นล่องหน (stealth fighter jet) รุ่นใหม่ของจีน J-35A จะถูกนำมาแสดงเป็นครั้งแรกในสัปดาห์หน้า ที่นิทรรศการการบินทหารและพลเรือนงานใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งจัดขึ้นทุกสองปี นิทรรศการอวกาศและการบินระหว่างประเทศ (China International Aviation & A
เครื่องบินรบไอพ่นล่องหน (stealth fighter jet) รุ่นใหม่ของจีน J-35A จะถูกนำมาแสดงเป็นครั้งแรกในสัปดาห์หน้า ที่นิทรรศการการบินทหารและพลเรือนงานใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งจัดขึ้นทุกสองปี
นิทรรศการอวกาศและการบินระหว่างประเทศ (China International Aviation & Aerospace Exhibition) จะเริ่มขึ้นวันอังคารนี้ที่เมืองจูไห่ ทางภาคใต้ของจีน โดยใช้เวลา 6 วัน
โดยในการจัดงานเมื่อสองปีที่แล้ว มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านอากาศและอวกาศเป็นมูลค่าราว 40,000 ล้านดอลลาร์
จีนกำลังพยายามยกระดับความทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ด้วยการผลิตอาวุธของตนเองและลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีทางการทหารจากต่างชาติ ท่ามกลางความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวันและทะเลจีนใต้
นอกจากนี้ จีนยังต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ในระดับโลก ผ่านบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของรัฐบาลจีน โคแมค (COMAC) ที่นำเทคโนโลยีการบินรุ่นใหม่มาแสดงในงานนี้ด้วย
เครื่องบินรบไอพ่นล่องหน
ที่นิทรรศการอวกาศและการบินระหว่างประเทศในปีนี้ กองทัพอากาศปลดปล่อยประชนจีน (PLAAF) จะเปิดตัวเครื่องบินรบไอพ่นล่องหนรุ่นใหม่ J-35A ของบริษัทเฉินหยาง แอร์คราฟท์ คอร์ปอเรชัน (Shenyang Aircraft Corporation) ซึ่งเป็นเครื่องบินรบล่องหนขนาดกลาง
ขณะเดียวกัน รัสเซียจะส่งเครื่องบินรบไอพ่นรุ่นล่าสุด SU-57 ไปแสดงการบินที่เมืองจูไห่ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับจีนไปยังชาติตะวันตก
เครื่องบินรบล่องหน J-35A พัฒนามาจากเครื่องบินไอพ่น J-35 ที่ใช้ประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินของจีน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับศักยภาพเครื่องบินรุ่นใหม่นี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าน่าจะคล้ายกับเครื่องบินรุ่น F-35 ของบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin) ของสหรัฐฯ
COMAC
หลายปีที่ผ่านมา จีนลงทุนอย่างมากในการพัฒนาเครื่องบินพาณิชย์ของตนเอง รวมทั้งเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถนำมาใช้แทนเครื่องยนต์นำเ้ขาจากต่างประเทศที่ใช้อยู่กับเครื่องบินพาณิชย์ของบริษัทโคแมค
โคแมค พยายามเข้ามาตีตลาดเครื่องบินโดยสารที่ครอบครองโดยสองบริษัทใหญ่ คือ โบอิ้ง (Boeing) ของสหรัฐฯ และแอร์บัส (Airbus) ของยุโรป ท่ามกลางปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่บริษัทเครื่องบินทั้งสองแห่งนี้
เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โคแมคส่งมอบเครื่องบิน ซี919 ลำแรกให้กับสายการบิน ไชน่า อีสเทิร์น (China Eastern) สำหรับใช้ในประเทศ โดยปัจจุบันสายการบินนี้มีเครื่องบิน ซี919 ให้บริการทั้งหมด 7 ลำ
ทั้งนี้ สายการบินรายใหญ่ของจีน 3 แห่งที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ คือ แอร์ไชน่า, ไชน่า เซาธ์เทิร์น แอร์ไลน์ส และ ไชน่า อีสเทิร์น ล้วนสั่งซื้อเครื่องบิน ซี919 รายละ 100 ลำ
ซี919 สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 192 คน มีขนาดใกล้เคียงกับ โบอิ้ง 737 แมกซ์ (Boeing 737 MAX) และแอร์บัส เอ320นีโอ (Airbus A320neo)
ทางโคแมคระบุว่า จนถึงขณะนี้มียอดสั่งซื้อเครื่องบินรุ่น ซี919 เข้ามาแล้วกว่า 1,000 ลำ โดยทางบริษัทได้ขยายแผนการผลิตและการตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และซาอุดิอาระเบีย ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการบิน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า โคแมคยังคงห่างไกลกับการกระโจนเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ หากไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
บริษัทที่ปรึกษาด้านการบิน ซีเรียม (Cirium) คาดการณ์ว่า ในปี 2042 โคแมคจะมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 25% ขณะที่โบอิ้งและแอร์บัสจะมีส่วนแบ่ง 30% และ 45% ตามลำดับ ที่มา: รอยเตอร์