ต่างประเทศ
สหรัฐฯ ส่งสัญญาณมอบความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขให้ซีเรีย
สหรัฐฯ เตรียมส่งความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขให้กับรัฐบาลชุดใหม่ของซีเรีย หลังการล่มสลายของรัฐบาลประธานาธิบดีบะชาร์ อัล-อัซซาด แห่งซีเรีย โดยคณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่า จะให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างโปร่งใสและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รัฐมนตร
สหรัฐฯ เตรียมส่งความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขให้กับรัฐบาลชุดใหม่ของซีเรีย หลังการล่มสลายของรัฐบาลประธานาธิบดีบะชาร์ อัล-อัซซาด แห่งซีเรีย โดยคณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่า จะให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างโปร่งใสและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารว่า “กระบวนการเปลี่ยนผ่านและรัฐบาลใหม่ต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในการเคารพสิทธิของชนกลุ่มน้อย อำนวยความสะดวกให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็น ปกป้องซีเรียจากการถูกใช้เป็นฐานของกลุ่มก่อการร้ายหรือก่อภัยคุกคามกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้แน่ใจว่าได้ทำลายคลังอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพอย่างปลอดภัย”
ทั้งนี้ การยอมรับรัฐบาลใหม่ของกรุงดามัสกัส อาจนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับซีเรีย ซึ่งเป็นเงื่อนไขจูงใจที่คณะทำงานของไบเดนสามารถต่อรองในช่วงเวลาที่อนาคตของซีเรียยังไม่แน่นอน
โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ จอห์น เคอร์บี กล่าวในการสัมภาษณ์เมื่อวันอังคารกับวีโอเอว่า สหรัฐฯ ต้องการเห็นรัฐบาลที่น่าเชื่อถือและชอบธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความยั่งยืน และเป็นไปตามเจตจำนงของชาวซีเรีย
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ระบุให้ กลุ่มแข็งข้อต่อต้าน ฮายัต ทาห์เรีย อัล-ชาม หรือ HTS ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีบะชาร์ อัล-อัซซาดและยึดครองกรุงดามัสกัสของซีเรียเมื่อสุดสัปดาห์ เป็นกลุ่มก่อการร้าย และตั้งค่าหัว อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-กอลานี อดีตสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายอัล-ไคดา ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มนี้ที่ 10 ล้านดอลลาร์
บทบาทของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์ซีเรีย
หลังการล่มสลายของระบอบอัซซาดเมื่อสุดสัปดาห์ ปธน.โจ ไบเดน ได้ส่งรมต.บลิงเคนไปตุรกีและจอร์แดนในวันพุธ เพื่อหารือเรื่องสถานการณ์ในซีเรีย หลังออกคำสั่งให้มีการโจมตีทางอากาศกว่า 70 ครั้งต่อเป้าหมายกลุ่มรัฐอิสลามในซีเรียเมื่อวันอาทิตย์ และไบเดนกล่าวว่า “สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในซีเรีย เพื่อช่วยเหลือพวกเขาในการคว้าโอกาสเพื่อจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้น”
ขณะที่ในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า ไบเดนจะแทนที่ด้วยว่าที่ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งสัญญาณว่าต้องการให้สหรัฐฯ เอาตัวออกห่างจากความขัดแย้งในซีเรีย โดยทรัมป์กล่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า “นี่ไม่ใช่สงครามของเรา” และว่า “ปล่อยให้มันดำเนินไป อย่าไปยุ่ง!”
แต่ ณ เวลานี้ สหรัฐฯ ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามซีเรียแล้ว โดยสหรัฐฯ มีทหาร 900 นายประจำการในซีเรีย และให้การสนับสนุนกลุ่มกบฎชาวเคิร์ดในซีเรีย นอกจากนี้ รัฐบาลวอชิงตันยังมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านอย่างอิรัก เลบานอน อิสราเอล จอร์แดน และตุรกี ซึ่งเป็นพันธมิตรนาโต้
ไรอัน โครกเกอร์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำซีเรีย อิรัก และเลบานอน บอกกับวีโอเอว่า “พวกเขา(พันธมิตรสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง)ได้รับผลกระทบโดยตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในซีเรีย และอยู่ในจุดที่มีอิทธิพลต่อสถานการณ์ที่นั่น ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตามที” และมองว่าสหรัฐฯ ไม่ควรเอาตัวออกห่างจากสงครามดังกล่าว “แต่หากไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากเกินไป นี่คือเวลาที่สหรัฐฯ ต้องทำงานใกล้ชิดกับประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาค”
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ใต้การนำของทรัมป์ ที่มีนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ไม่ได้สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ มีเป้าหมายด้านการทูตเหมือนอย่างที่ไบเดนต้องการ นั่นคือ การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของซีเรียที่ไม่แบ่งแยกทางความเชื่อและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมหรือไม่
การโจมตียังดำเนินต่อ
อีกด้านหนึ่งในซีเรีย สหรัฐฯ อิสราเอล ตุรกี ระดมโจมตีเป้าหมายในซีเรียตามเป้าประสงค์ของแต่ละฝ่ายต่อไป
โดยตอนเหนือของซีเรีย กลุ่มกบฏที่ตุรกีให้การสนับสนุนได้โจมตีนักรบชาวเคิร์ดที่สหรัฐฯ หนุนหลัง
อิสราเอลโจมตีเป้าหมายทางทหารในซีเรียหลายร้อยครั้ง เพื่อทำให้กองทัพที่เป็นพันธมิตรของอิหร่านอ่อนกำลังและไม่ให้อาวุธตกอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้าย และในวันพฤหัสบดี อิสราเอลระบุว่าจะปักหลักบริเวณเขตกันชนบริเวณที่ราบสูงโกลันต่อไป จนกว่ากองทัพที่เข้าไปในซีเรียจะยืนยันว่าปลอดภัยสำหรับการเข้าถึงพื้นที่ในซีเรียเพิ่มเติม
สำนักงานของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ระบุว่า “อิสราเอลจะไม่ยอมให้กลุ่มจิฮัดเข้ามาในภาวะสุญญากาศนี้ และคุกคามชุมชนชาวอิสราเอลในที่ราบสูงโกลัน ด้วยการโจมตีเหมือนเหตุการณ์เมื่อ 7 ตุลาคมปีก่อน”
การเคลื่อนไหวของอิสราเอล ได้รับเสียงวิจารณ์จากสหประชาชาติว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงเมื่อปี 1974 ที่ระบุเส้นแบ่งระหว่างกองทัพอิสราเอลและซีเรียบริเวณเขตกันชนที่ยูเอ็นจับตาอยู่ เช่นเดียวกับฝรั่งเศส อิหร่าน รัสเซีย ตุรกี และซาอุดีอาระเบียที่ตำหนิท่าทีของอิสราเอลในเรื่องนี้ ขณะที่สหรัฐฯ ระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องส่งทหารเข้าไปเป็นการชั่วคราว
หลังอัซซาดถูกโค่นอำนาจ กองทัพอิสราเอลได้เคลื่อนกำลังเข้ายึดครองเขตกันชนภายในดินแดนของซีเรียขนาดราว 400 ตารางกม. ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังสงครามในตะวันออกกลางเมื่อปี 1973 โดยระบุว่าเพื่อเป็นการปกป้องพลเมืองของอิสราเอล
อิสราเอลยังได้โจมตีทำลายสถานที่ที่เชื่อว่าเป็นโกดังเก็บอาวุธเคมีและขีปนาวุธของซีเรีย เพื่อไม่ให้อาวุธเหล่านั้นตกอยู่ในมือของกลุ่มแนวคิดสุดโต่ง
หลายสิบปีที่ผ่านมา อิสราเอลมักใช้วิธีเข้ายึดดินแดนของเพื่อนบ้านขณะที่เกิดสงครามและครอบครองไว้เป็นของตนเองในระยะยาวโดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงปลอดภัย เช่น การยึดครองและควบรวมที่ราบสูงโกลันจากซีเรียเมื่อปี 1967 ระหว่างสงครามตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ยกเว้นสหรัฐฯ
องค์กรตรวจสอบ Syrian Observatory for Human Rights ในอังกฤษ ซึ่งติดตามตรวจสอบความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองในซีเรียมาตั้งแต่ปี 2011 หลังเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนที่เรียกว่า อาหรับสปริง กล่าวว่า อิสราเอลโจมตีทางอากาศมากกว่า 300 ครั้งทั่วซีเรียนับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบอัซซาด
ทั้งนี้ มีผู้คนมากกว่า 500,000 คนถูกสังหารในสงครามซีเรีย และประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศต้องพลัดถิ่นเพราะสงคราม ชาวซีเรียราว 6 ล้านคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว เบกุม โกเมซ, ยูเลีย ซาฟเชนโก, และแจ็คสัน มวุนกานยี และมีเนื้อหาบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์