logologo

Easy Branches ให้คุณแบ่งปันโพสต์แขกของคุณภายในเครือข่ายของเราในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก เริ่มแบ่งปันเรื่องราวของคุณวันนี้!

Easy Branches

34/17 Moo 3 Chao fah west Road, Phuket, Thailand, Phuket

Call: 076 367 766

info@easybranches.com
วาไรตี้

วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:59 ครูปิ่น เล่าจากชีวิตจริง “ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง (4)” กับไข 7 หัวข้อข้องใจ

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 429 ระหว่างวันที่ 26 เม.ย.-3 พ.ค.67 หน้า 33 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP 59 : pinsiri ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง (4)             “ครูปิ่น-ปิ่นศิริ ศิริปิ่น” รับหน้าที่คนสุดท้าย มาปิดประเด็น “ถูกต้องแต่ไ


  • Apr 26 2024
  • 68
  • 2993 Views
วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:59 ครูปิ่น เล่าจากชีวิตจริง “ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง (4)” กับไข 7 หัวข้อข้องใจ
วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:5

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 429 ระหว่างวันที่ 26 เม.ย.-3 พ.ค.67

หน้า 33 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP 59 : pinsiri

ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ

ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง (4)

            “ครูปิ่น-ปิ่นศิริ ศิริปิ่น” รับหน้าที่คนสุดท้าย มาปิดประเด็น “ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง” ซึ่งขอนำประสบการณ์ตรงมาถ่ายทอดสู่กันฟังครับ!

1.ลูกทุ่งกับลูกกรุงคนละมุ้งกัน : เวทีประกวดร้องเพลงในบ้านเรา ณ ขณะนี้ มีที่นิยมกันคือ ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง (มีหมอลำบ้างแต่น้อย) กับ ประกวดร้องเพลงลูกกรุง ปัญหาคือ เวลาที่ผู้เข้าประกวดแนวลูกทุ่ง ข้ามห้วยมาประกวดร้องเพลงแนวลูกกรุง เรามักจะได้ยินเสียงคอมเมนต์จากคอมเมนเตเตอร์คือ  “หนู/น้องมาจากสายลูกทุ่งใช่มั้ย?…มิน่าล่ะ ถึงมีกลิ่นอายของลูกทุ่ง” ซึ่งครูปิ่นไม่ได้บูลลี่นะครับ คนฟังทั่วไปอาจจะถูกใจบอกว่า ไพเราะจับใจ แต่จะบอกว่า ไม่ถูกต้อง เพราะลูกทุ่งกับลูกกรุงนั้นคนละสไตล์กัน แค่เอื้อนกรรมการก็ฟังออกละว่า ใช่ลูกกรุงหรือไม่ใช่ ดังนั้นในการประกวดร้องเพลงลูกกรุง คุณต้องสลัดความเป็นลูกทุ่งออกให้ได้ อย่านำเอามาปนกัน

แต่ถึงกระนั้นนักร้องที่ชนะเลิศบนเวทีลูกกรุงบางคน เรามารู้ทีหลังว่าเขาหรือเธอมาจากสายลูกทุ่งมาก่อน นั่นหมายความว่าอย่างไร? หมายความว่า เขาหรือเธอสามารถที่จะเปลี่ยนลิ้นพลิกเสียง แยกแยะเสียงระหว่างลูกทุ่งกับลูกกรุงออกจากกันได้อย่างดีเยี่ยม ทำได้เนียนมาก จนกระทั่งกรรมการจับผิดไม่ได้

ไหน ๆ พูดเรื่องลูกทุ่งกับลูกกรุงกันแล้ว จะขอพูดอีกเรื่องหนึ่งเลยก็คือ การประกวดร้องเพลงสากล ซึ่งผู้เข้าประกวดบางคนยังติดสำเนียงไทย ทำให้ขาดอรรถรสของเพลงสากลไป เนื่องจากเพลงแต่ละประเภทนั้นจะมีสไตล์หรือเอกลักษณ์และเทคนิคในการร้องที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

2.มือไม้นั้นอย่าขยันมากเกินไปนัก : จริงอยู่ในการร้องเพลงนั้น หากเรายืนทื่อทำตัวแข็งเหมือนท่อนไม้คงไม่มีใครอยากดู ในขณะเดียวกันหากใช้มือไม้ หรือ Body language มากจนเกินไปก็ไม่น่ามองเช่นกัน เหมือนมาแสดงจินตลีลามากกว่าที่จะมาประกวดร้องเพลง เราไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ลีลาภาษากายในทุก ๆ คำของเพลง ผู้ชมบางคนอาจรู้สึกเฉยๆ แต่สำหรับกรรมการนั้นไม่ได้ ดูเป็นการประดิษฐ์ไม่เป็นธรรมชาติ ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมและไม่เชย สรุปคือ ต้องไม่มากไม่น้อยจนเกินไป รวมถึงการโชว์ออฟมากจนเกินไป  เช่น ร้องไปด้วยเต้นไปด้วย ถ้าคุณฝึกฝนมาดีก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าประสบการณ์ยังน้อย หากทำแบบนี้จะทำให้เสียงแกว่ง เสียคะแนนโดยใช่เหตุ กรณีแบบนี้ครูปิ่นจะแนะนำไปว่า “ถ้าร้องอย่าเต้น ถ้าเต้นอย่าร้อง”

3.ระวังอักขระที่เปล่งเสียง : การออกเสียงอักขระระหว่างการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งกับลูกกรุงนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ลูกทุ่งจะชัดถ้อยชัดคำมาก โดยเฉพาะ ตัว ร.เรือ มีกี่ลำก็ขนกันออกมาโชว์กันแบบรัว ๆๆๆๆๆๆ ไม่มียั้ง กรรมการก็ให้คะแนนในช่องออกอักขระชัดเจนแบบรัว ๆ เช่นกัน แต่สำหรับเพลงลูกกรุงสามารถออกอักขระชัดได้ แต่ไม่ถึงขนาดชัดเวอร์แบบลูกทุ่ง ผู้ชมอาจถูกใจให้ถ้วย แต่กรรมการคงให้ถ้วยไม่ได้ มิเช่นนั้นจะดูแปลก ๆ เสียเอกลักษณ์ไปโดยสิ้นเชิง

4.ชุดพอเพียงอย่าเยอะเกิน : เรื่องเสื้อผ้า รวมถึงหน้าผมก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการประกวดร้องเพลงไม่น้อยเลยทีเดียว จากประสบการณ์ในการเป็นกรรมการของครูปิ่น บางครั้งเห็นชุดเสื้อผ้าของผู้เข้าประกวดบางคนดูขัดใจมากคือ ดูรกรุงรัง เกะกะลูกกะตา ประโคมโหมใส่กระทั่งเสียบุคลิกภาพ เช่น เดินเหินบนเวทีไม่สะดวก ทำให้ดูไม่สง่างาม แต่งองค์ทรงเครื่องเยอะเกินไป (สู้น้อยชิ้นแต่ดูดีก็ไม่ได้) กรรมการก็คงไม่ได้ให้คะแนนเยอะตามชุดเสื้อผ้าที่สวมใส่ ผู้ชมอาจถูกใจเช่นเคย แต่กรรมการนั้นคงเห็นไม่ถูกต้อง

5.มิวสิเคิลพาเพลินเกินบริบทยิ่ง : ในการร้องเพลงที่ครูปิ่นกล่าวมาตั้งแต่ต้น มีบริบทคือ สำหรับการประกวดร้อง แต่บางคนพลังเยอะอยากโชว์ของ ทำให้บางครั้งเล่นใหญ่ดูเกินเลยจาก “นักร้องประกวด” เป็น “นักแสดงแนวเดอะมิวสิเคิล” ที่เล่นใหญ่แบบเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ คือดูผิดบริบท ไป แทนที่จะได้คะแนนจากคณะกรรมการ…แต่ผู้ชมอาจชอบถูกใจปรบมือรัวๆๆๆ ขอฝากไว้อีกนิดสำหรับในข้อนี้คือ หากคุณเป็นนักร้องประกวด อย่าไปประดิษฐ์เสียง โดยเฉพาะผู้ชายที่บางคนชอบเก๊กเสียงหล่อ คือโทนเสียงใหญ่หรือต่ำจนเกินไป จะสร้างความอีดอัดใจให้แก่คณะกรรมการ มากกว่าที่จะเป็นความสบายหูดูแล้วสบายตา

6.ชายเสียงหญิงเก่งจริงหรือไม่? : เป็นเคสที่ถูกถามบ่อยมากว่า “ทำไมนักร้องชายเสียงหญิงจึงไม่ได้แชมป์ใด ๆ ในการประกวดร้องเพลงเลย?” การประกวดร้องเพลงในสมัยก่อนนี่ผู้ชายก็ร้องเสียงผู้ชายผู้หญิงก็ร้องเสียงผู้หญิงกันไปเลย แต่มายุคนี้เวทีเปิดกว้างขึ้นมาก ๆ ใครมั่นใจว่าร้องเพลงเพราะเชิญมาประกวดได้เลย และบางเวทีไม่จำกัดอายุอีกด้วย ย้อนกลับไปที่คำถามกรณีนี้ครูปิ่นยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากเพิ่งจะมีผู้ร้องเพลงแนวนี้มาประกวดร้องเพลงกัน แต่ทว่า ครูก็ได้ยินมาเหมือนกันว่า ตามเวทีเล็ก ๆ เขามีการประกวดนักร้องชายเสียงหญิงกันโดยเฉพาะเลย

ครูปิ่นตั้งข้อสังเกตว่า การที่นักร้องชายมาร้องเสียงหญิงนั้น เสียงจะออกเป็น 2 แบบคือ 1. แบบบีบเสียง อย่างนี้คนฟังหรือกรรมการฟังแล้วไม่สบายหู 2. แบบธรรมชาติ คือหลับตาฟังนึกว่าเป็นเสียงร้องของผู้หญิงจริง ๆ แบบนี้ต้องปรบมือให้ และเมื่อเวทีเปิดกว้างแล้ว ผู้ที่เป็นกรรมการก็ต้องเปิดใจให้กว้างด้วย อย่าใจแคบมองเพียงแค่ว่า ที่ไม่เลือกหรือไม่ให้คะแนนเขาไม่ใช่ผู้หญิงจริง ๆ

7.เด็กกับผู้ใหญ่ใครศักยภาพดีกว่า? : อย่างที่ครูปิ่นกล่าวไปในข้อ 6. ว่า สมัยนี้เวทีประกวดร้องเพลงเปิดกว้างมากขึ้น ไม่จำกัดขีดความสามารถ โดยเฉพาะเรื่องเพศและอายุ หรือแม้แต่ความพิการทางร่างกาย มาประกวดได้หมด แต่ที่เป็นคำถามกันก่อนการประกวดคือ เอาเด็กมาประกวดร้องเพลงร่วมกับผู้ใหญ่ แบบนี้ผู้ใหญ่ก็กินรอบวง เพราะมีประสบการณ์เหนือกว่า บางคนก็เป็นนักร้องอาชีพมาด้วย แล้วเป็นไง เด็กล้มช้างคว้าแชมป์กันเป็นว่าเล่น ครูปิ่นก็ไม่ได้ไปนั่งเป็นคณะกรรมการ แค่ดูผ่านโทรทัศน์หรือช่องทางของโซเชี่ยลมีเดียต่าง ๆ

จึงมองได้หลายแง่ อาทิ ด้านการตลาดนั้นเด็กยังทำอะไรได้เยอะ ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่นับถอยหลังลงไปเรื่อย ๆ ด้านดราม่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก การประกวดร้องเพลงผ่านรายการโทรทัศน์ มักจะมีการถ่ายทำเบื้องหลังของผู้เข้าประกวดแต่ละคนว่า มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรกันบ้าง ส่วนใหญ่จะสู้ชีวิตลำบากตรากตรำ โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะเรียกคะแนนสงสารได้มากกว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้..จุดที่เข้ามาประกวดร้องเพลง ครูปิ่นเชื่อว่า น่าจะทำเป็นสีสันให้กับเวที กรรมการคงไม่ไขว้เขวกัน เพราะคือการประกวดร้องเพลง ไม่ใช่การประกวดความดราม่า อย่างไรก็ตามผู้สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศจริง ๆ ก็ควรเป็นผู้ที่มีความสามารถเปี่ยมล้น และทางเวทียังสามารถนำไปต่อยอดทางการตลาดได้ด้วยเช่นกัน (เนื่องจากทุกอย่างคือการลงทุน)

…ครูปิ่นขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนนะครับ!…

เรื่อง : ครูปิ่น-ปิ่นศิริ ศิริปิ่น

เรียบเรียง : ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ

หน้า 33  วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:59

ครูปิ่น เล่าจากชีวิตจริง “ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง (4)” กับไข 7 หัวข้อข้องใจ

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๒๙

ระหว่างวันที่ ๒๖ เมษายน-๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗

https://book.bangkok-today.com/books/lsuh/#p=33

(พลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

 

The post วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:59 ครูปิ่น เล่าจากชีวิตจริง “ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง (4)” กับไข 7 หัวข้อข้องใจ first appeared on สำนักข่าว บางกอก ทูเดย์.

ที่เกี่ยวข้อง


แบ่งปันหน้านี้

โพสต์ของแขกโดย Easy Branches

all our websites