Juneyao JY AIR Plus ลองขับรถไฟฟ้ารุ่นแรกของจูนเหยา
เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ ● จูนเหยา กรุ๊ป (JuneYao Group) บริษัทแม่ของสายการบินจูนเหยา แอร์ไลน์ (JuneYao Airlines) หนึ่งในสายการบินเอกชนชั้นนำในประเทศจีน เข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัท ชื่อ JY AIR ทำตลาดในไทยภายใต้ชื่อ
เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ
● จูนเหยา กรุ๊ป (JuneYao Group) บริษัทแม่ของสายการบินจูนเหยา แอร์ไลน์ (JuneYao Airlines) หนึ่งในสายการบินเอกชนชั้นนำในประเทศจีน เข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัท ชื่อ JY AIR ทำตลาดในไทยภายใต้ชื่อ บริษัท จูนเหยา ออโต (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว JY AIR ในไทย 2 รุ่นย่อย ใช้มอเตอร์เดี่ยวขับเคลื่อนล้อหลัง รุ่น Standard มีกำลัง 201 แรงม้า แบตเตอรี่ 51 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขับได้ 430 กิโลเมตร (NEDC) ราคา 759,000 บาท และ JY AIR Plus มีกำลัง 214 แรงม้า แบตเตอรี่ 64 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขับได้ 520 กิโลเมตร (NEDC) ราคา 869,000 บาท ซึ่งเป็นรุ่นที่ทีมงานมอเตอร์ทริเวียได้ทดลองขับ บนเส้นทาง บางนา-พัทยา ระยะทางรวมไปกลับประมาณ 300 กิโลเมตร
จากอากาศยานสู่รถยนต์ไฟฟ้า
● เนื่องจากเป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในไทย ก่อนทดลองขับ คุณพัชร์รวิพล สุวรรณธนกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท จูนเหยา ออโต (ประเทศไทย) จำกัด จึงมาเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของจูนเหยา เพื่อให้ผู้ที่สนใจมีความมั่นใจมากขึ้น หนึ่งใน 5 ธุรกิจหลักในเครือ จูนเหยา กรุ๊ป ก็คือธุรกิจการบินขนาดใหญ่ระดับต้นๆ ของประเทศจีน มีเครื่องบิน 125 ลำ 260 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 25 ล้านคนต่อปี และยังมีธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ อีกมากมาย ส่วน จูนเหยา ออโต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2022 และเนื่องจากจูนเหยาทำธุรกิจเกี่ยวกับการบิน จึงมีธุรกิจเกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ เป็นของตัวเองด้วย
● ส่วนโรงงานผลิตรถยนต์ตั้งอยู่ในประเทศจีน มีกำลังการผลิต 1 แสนคันต่อปี ในโรงงานมีทั้งงานประกอบและทำสี รวมถึงการตรวจสอบรถทุกคันก่อนส่งมอง มีเครื่องปั๊มขึ้นรูป มีศูนย์ทดสอบรถรุ่นแรกคือ JY AIR มีนวัตกรรมที่จดสิทธิบัตรไว้ถึง 738 สิทธิบัตร มีทีม R&R กว่า 300 คน เพื่อวิจัยและพัฒนารถแบบครบวงจร ตั้งแต่โครงสร้างไปจนถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ของตัวเอง ไม่ได้ซื้อจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์
● พัฒนาโครงสร้างแพลตฟอร์ม SKY EV สำหรับการพัฒนาเป็นรถ EV โดยเฉพาะ และเป็นแบบ Global Platform ใช้เหมือนกันทั่วโลกทั้งพวงมาลัยซ้ายและขวา สามารถพัฒนาต่อไปเป็นรุ่นรถใหม่สำหรับทั่วโลก และครอบคลุมตั้งแต่รถขนาด A ไปถึงซีดานคลาส C, SUV, Coupe, MPV และอื่นๆ โครงสร้างใช้โลหะที่มีความแข็งแรงในจุดที่รับแรงกระแทกหากเกิดการชน กว่า 22 เปอร์เซ็นต์ของโครงสร้างผลิตจากโลหะโบรอนที่ปั๊มขึ้นรูปด้วยความร้อนด้วยแรงกด 1500 MPa หรือประมาณ 2.2 แสนปอนด์ต่อตารางนิ้ว ผ่านมาตรฐานการทดสอบชนจากยุโรป ทั้ง CNCAP/Euro NCAP ในระดับสูงสุดคือ 5 ดาว
รับประกันแบตเตอรี่ 8 ปี
● อีกหนึ่งความกังวลของคนที่อยากใช้รถไฟฟ้าก็คือ ความทนทานของแบตเตอรี่ เมื่อต้องขับผ่านน้ำรอการระบายด้วยรถเก๋งที่ระยะต่ำสุดไม่มากนัก จูนเหยาจึงทดสอบความทนทานและการกันน้ำของแบตเตอรี่อย่างหนักหน่วงในระดับ Military-Grade Standard และการกันน้ำในระดับ IP68 ทดสอบถอดแบตเตอรี่แช่ในน้ำที่ความลึก 1.5 เมตร เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และแช่แบตเตอรี่ที่ติดอยู่ในตัวรถที่ความลึก 30 เซนติเมตร เป็นเวลา 7 ชั่วโมง และรถสามารถใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์
● ในรุ่น Plus ใช้ไส้แบตเตอรี่จากซัพพลายเออร์ CATL ซึ่งให้การรับประกัน 8 ปี หรือ 800,000 กิโลเมตร เป็นการรับประกันโดยตรงจาก CATL Factory ส่วนแบตเตอรี่ของรุ่น Standard ใช้ของอีกบริษัท รับประกัน 8 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร เป็นแบตเตอรี่ LFP หรือ Lithium Iron Phosphate น้ำหนัก 448 กิโลกรัม ความจุ 64 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ 0-100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนของโครงสร้างภายนอกใช้เทคโนโลยีของจูนเหยา กรุ๊ป รองรับแรงกระแทก 30 ตัน ทดสอบการทนความร้อน 300 องศาเซลเซียส ต่อเนื่อง 5 นาที จากนั้นทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ตัวแบตเตอรี่ไม่เกิดเพลิงไหม้
พัฒนาซอร์ฟแวร์เอง
● ควบคุมการทำงานของรถด้วย Crystal OS ที่ทางจูนเหยาพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของรถรุ่นนี้ เพราะสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรืออัพเดทได้อย่างอิสระ ทั้งซอฟต์แวร์ในส่วนของการควบคุมห้องโดยสารที่เป็นแบบ AI Cockpit รวมถึงซอฟต์แวร์ของระบบความปลอดภัย ระบบช่วยขับ หรือระบบขับอัตโนมัติ ที่สามารถอัพเดทเพิ่มเติมได้ในอนาคต รวมทั้งซอฟต์แวร์ในการจัดการแบตเตอี่ของรถ ทางจูนเหยาก็พัฒนาเองเช่นกัน ทำให้รถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำนวณระยะทางการใช้งานได้อย่างแม่นยำ
สมรรถนะต่างกันเล็กน้อย
● รุ่น Standard ใช้แบตเตอรี่ความจุ 51 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับกำลังชาร์จสูงสุด 70 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จ DC จาก 30-80 เปอร์เซ็นต์ ใน 30 นาที ชาร์จ AC จาก 10-100 เปอร์เซ็นต์ ใน 5.3 ชั่วโมง มอเตอร์ขับล้อหลังมีกำลัง 201 แรงม้า แรงบิด 250 นิวตัน-เมตร เร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่ำกว่า 7.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
● รุ่น Plus ใช้แบตเตอรี่ความจุ 64 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับกำลังชาร์จสูงสุด 90 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จ DC จาก 30-80 เปอร์เซ็นต์ ใน 21 นาที ชาร์จ AC จาก 10-100 เปอร์เซ็นต์ ใน 6.5 ชั่วโมง มอเตอร์ขับล้อหลังมีกำลัง 214 แรงม้า แรงบิด 250 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่ำและความเร็วสูงสุดเท่ากับรุ่น Standard
● เท่าที่ลองขับรุ่น Plus ก็เร่งได้ทันใจพอสมควรแล้ว ไม่ได้เน้นความแรงแบบบ้าเลือด ขับใช้งานในโหมด NORMAL ก็เหลือเฟือ หรืออยากสนุกก็เปลี่ยนเป็นโหมด SPORT รถก็จะกระฉับกระเฉงขึ้นอีกพอสมควร แต่ก็ต้องแลกกับการกินไฟที่เพิ่มขึ้นด้วย
ภายนอกต่างกันหลายจุด
● นอกจากทางเลือกของสีตัวรถที่รุ่น Plus มีให้เลือกมากกว่าแล้ว ทั้ง 2 รุ่นย่อยยังมีความแตกต่างกันในหลายจุด ที่เห็นชัดๆ ก็คือล้อแม็ก ที่ต่างกันทั้งขนาดและลวดลาย รุ่น Standard ได้ล้อ 17 นิ้ว ยาง 215/60/17 ส่วนรุ่น Plus ได้ล้อ 19 นิ้ว ยาง 235/45/19 ทั้ง 2 รุ่นย่อยมีระบบวัดแรงดันลมยางมาให้ อีกจุดที่แตกต่างคือ รุ่น Standard ไม่มีหลังคากระจก Panoramic Glass Roof ส่วนความแตกต่างปลีกย่อยก็เช่น คิ้วรอบกรอบกระจกประตูข้างรุ่น Standard เป็นสีโครเมียม ส่วนรุ่น Plus เป็นสีดำเงา
● นอกนั้นให้อุปกรณ์มาตรฐานมาเท่าเทียมกัน ทั้งไฟหน้า LED ปรับอัตโนมัติ และปรับสูง-ต่ำได้ มีไฟเดย์ไทม์แบบ LED ส่วนไฟท้ายก็เป็นแบบ OLED เหมือนกันทั้ง 2 รุ่น มิติตัวรถมีความยาว 4,550 มิลลิเมตร กว้าง 1,860 มิลลิเมตร สูง 1,515 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,800 มิลลิเมตร ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ 0.23 เมื่อเทียบความยาวตัวรถกับความยาวฐานล้อ จะเห็นได้ว่าเป็นรถคันไม่ใหญ่ที่ฐานล้อยาวมาก สังเกตจากภายนอกล้อหน้าจะเลื่อนไปอยู่เกือบสุดมุมตัวรถ ทำให้หน้ารถสั้น ระยะโอเวอร์แฮงค์สั้น เพื่อให้ได้พื้นที่ภายในกว้างโดยที่รถไม่ยาวมาก
● ภายนอกของรุ่น Standard มี 2 สีให้เลือก คือ ขาวจันทรา และเทาฟ้าคราม ส่วนรุ่น Plus มี 4 สี คือ ดำอเมริกาโน่, เทาฟ้าคราม, เขียวปีกแมลงทับ และขาวแบล็กท๊อป (หลังคาดำ)
ภายในให้มาเกือบครบ
● เช่นเดียวกับภายนอก ภายในของทั้ง 2 รุ่นย่อย ก็มีสีให้เลือกต่างกัน รุ่น Standard มีเฉพาะสีเทา ส่วนรุ่น Plus มีทั้งสีเทาพาร์สเทล, สีดำแบล็กไนท์ และสีส้มคาราเมล (PU) และอุปกรณ์มาตรฐานก็ต่างกันหลายจุด กับราคาทั้ง 2 รุ่นที่ต่างกัน 1.1 แสนบาท จึงไม่แปลกใจที่ยอดจองในมอเตอร์เอ็กซ์โปที่เพิ่งจบไป เกือบทั้งหมดเป็นรุ่นท๊อป
● ไล่เรียงจากอุปกรณ์ที่ได้เหมือนกันทั้ง 2 รุ่น ประกอบด้วย กุญแจรีโมท, กุญแจ NFC, ที่เปิดประตูแบบซ่อน, เบาะผ้าผสม PVC, ชุดมาตรวัดดิจิตอลขนาด 8.8 นิ้ว หน้าจอกลางระบบสัมผัส 15.6 นิ้ว รองรับ CarPlay และ Android Auto แบบไร้สาย ลำโพง 8 ตำแหน่ง, แอร์อัตโนมัติ พร้อมตัวกรองอากาศ PM 2.5, ช่องแอร์หลัง, พนักพิงเบาะหลังแยกพับ 60:40, กล้อง 360 องศา พร้อมระบบแสดงภาพแบบโปร่งแสง พอร์ท USB-A 1 จุดด้านหน้า พอร์ท USB-C 1 จุดด้านหน้า 2 จุดใต้ช่องแอร์หลัง กระจกไฟฟ้า One-Touch up-Down พร้อมระบบป้องกันการหนีบ กระจกมองข้างปรับและพับไฟฟ้าพร้อมไล่ฝ้า
● ที่นั่งนิรภัยมาตรฐาน I-SIZE ระบบปลดล็อกประตูอัตโนมัติเมื่อเกิดการชน ระบบล็อกป้องกันเด็กเปิดประตูคู่หลัง, ระบบเตือนจำกัดความเร็ว, ระบบป้องกันการโจรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และแอร์แบ็กคู่หน้า พร้อมสวิตช์เปิด-ปิดการทำงานของแอร์แบ็กฝั่งผู้โดยสาร กรณีติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กไว้ด้านหน้า ระบบการขับอัจฉริยะ ก็มี ACC, AEB, FCW, LDW, LKA, LCC, ISA และ ICA
● ส่วนรุ่น Plus ให้เบาะหนัง PU คู่หน้าปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง, แท่นชาร์จไร้สาย 50 วัตต์, ฝาท้ายอัตโนมัติ, หน้าจอกลางระบบสัมผัสขนาด 15.6 นิ้วเหมือนกัน แต่หมุนไปทางผู้ขับได้ ระบบความปลอดภัยเพิ่มแอร์แบ็กข้าง ม่านถุงลม และถุงลมระหว่างเบาะคู่หน้า ระบบช่วยขับเพิ่ม ELK, BSD, LCW, DOW, RCTA, RCTB, RCW และ DMS ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานที่อยากได้เพิ่มก็เช่น พวงมาลัยปรับใกล้-ไกลได้ (เดิมปรับได้แค่สูง-ต่ำ) และกระจกมองหลังปรับลดแสงอัตโนมัติ (เดิมเป็นแบบคันโยก)
● การทำงานของระบบความปลอดภัยต่างๆ เช่น ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ และระบบช่วยรักษารถให้อยู่ในเลนด้วยการหมุนพวงมาลัยกลับ ทั้ง 2 ระบบทำงานที่ความเร็ว 5-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบอะแดปทีฟครูสคอนโทรล ทำงานที่ความเร็ว 0-130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะช่วยเหลือผู้ขับรักษาความเร็วและทิศทางของรถให้อยู่ในเลน โดยบนชุดมาตรวัดจะแสดงสภาพแวดล้อม 3 มิติ แบบ Real-Time ด้วย การปรับตั้งการทำงานของระบบช่วยขับต่างๆ สามารถทำได้ผ่านหน้าจอกลางด้วยระบบสัมผัส
● ระบบความปลอดภัยต่างๆ เป็นการทำงานร่วมกันของกล้องที่กระจกบานหน้าหน้า มุมกว้าง ความละเอียดสูง ระยะทำการ 200 เมตร กล้องที่กันชนหน้าและกระจกมองข้าง มุมรับภาพ 360 องศา ความละเอียด 120 ล้านพิกเซล สำหรับระบบเตือนจุดบอด และเตือนรถด้านหลังขณะถอย รวมทั้งเรดาห์ด้านหลังที่มีความละเอียดสูง
● ที่เก็บของด้านหลังดูมีความตั้งอกตั้งใจทำ ใช้วัสดุคุณภาพดี มีไฟส่องสว่างแบบ LED แผ่นปิดพื้นที่เก็บสัมภาระก็หนาแข็งแรง บุพรมสวยงาม ฝาท้ายไฟฟ้ามีระบบป้องกันการหนีบ ยกพร้อมกระจกหลังทั้งชิ้นสไตล์รถฟาสแบ็ค มีความจุ 420 ลิตร และเพิ่มเป็น 1,338 ลิตร เมื่อพับพนักพิงเบาะหลังลง
● คันที่ขับภายนอกสีขาว ภายในสีเทาพาร์สเทล วัสดุภายในให้สัมผัสที่ดี จับแล้วเนียนมือ และเกือบทั้งหมดเป็นแบบ Soft Touch ดีไซน์เรียบๆ ร่วมสมัย ไม่หวือหวาจนเกินไป ปุ่มสวิตช์และคันโยกต่างๆ ให้ความรู้สึกที่หนักแน่นเมื่อใช้งาน มีคันเกียร์อยู่ที่คอพวงมาลัยฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้ายเป็นไฟเลี้ยวและที่ปัดน้ำฝน มาตรวัดดิจิตอลสีสันสวยงาม สว่างสู้แสงได้ดี จอกลางขนาดใหญ่ตอบสนองการสั่งงานด้วยระบบสัมผัสได้อย่างลื่นไหลติดมือ มีความละเอียดคมชัด รวมทุกฟังก์ชั่นไว้ในจอ แต่ก็มีปุ่มลัดระบบหลักไว้ที่ด้านล่างของจอ ทำให้ไม่ต้องเข้าเมนูลึกๆ
● ทัศนวิสัยรอบคันอยู่ในเกณฑ์ดี ยกเว้นเมื่อมองผ่านกระจกส่องหลัง มุมมองจะค่อนข้างแคบ เพราะถูกบีบด้วยรูปทรงของกระจกบานท้าย และถูกชุดเบาะหลังและหมอนรองศีรษะบีบให้แคบลงอีก เวลาถอยหลังยังอาศัยภาพจากกล้องหลังที่มีเส้นกะระยะแบบแปรผันช่วยได้ แต่เวลาขับจะมองข้างหลังยากหน่อย อีกอย่างที่ไม่ชอบก็คือ หลังคาพาโนรามิกรูฟบานเดียวขนาดใหญ่ ที่โฆษณาว่ามีพื้นที่ 2.072 ตารางเมตร แสงส่องผ่านได้ 98.68 เปอร์เซ็นต์ และกรองรังสี UV ได้ 99.94 เปอร์เซ็นต์ แต่เท่าที่ลองขับและนั่งเบาะหลังตอนเที่ยงๆ ก็ยังรู้สึกว่าร้อนกว่าหลังคาเหล็กอยู่ดี แม้จะติดฟิล์มที่หลังคากระจกมาให้แล้วก็ตาม ไม่เถียงเรื่องความสวยงาม และตอนกลางคืนก็น่าจะเห็นวิวสวยงามดี แต่การใช้งานตอนกลางวันในเมืองไทยที่เป็นเมืองร้อน ดูจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไร สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน
● ขากลับลองนั่งเบาะหลัง รู้สึกว่าพนักพิงตั้งชันไปหน่อย ถ้าปรับเอนได้อีก 2-3 องศาน่าจะนั่งสบายขึ้น กับเบาะรองขาที่สั้นและต่ำไปนิด ทำให้นั่งไม่ค่อยสบายสำหรับผู้โดยสารที่มีความสูง 169 เซนติเมตร หมอนรองศีรษะเบาะหลังก็ปรับได้ไม่มาก เพราะติดเพดานเนื่องจากกระจกบานหลังลาดลงค่อนข้างเยอะคล้ายรถฟาสแบ็ค มีความจุ 420 ลิตร และเพิ่มเป็น 1,338 ลิตร เมื่อพับพนักพิงเบาะหลังลง สองอย่างที่อยากได้เพิ่มคือ ที่เท้าแขนกลางเบาะหลัง กับที่จับบนเพดานที่ช่วยพยุงตัวเวลาปรับเปลี่ยนอิริยาบท
● โดยรวมของห้องโดยสารโดยเฉพาะด้านหน้าทำได้ดี เรียบๆ สไตล์มินิมอล แต่ใช้งานง่าย เบาะปรับไฟฟ้านั่งสบาย ขับขาไปใช้เส้นลอยฟ้าบูรพาวิถี ลมค่อนข้างแรง ขับความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้ยินเสียงลมปะทะค่อนข้างชัด ลงทางราบแล้วลองใช้ความเร็วเท่าเดิมอีกครั้ง รู้สึกว่าเสียงลมไม่ดังเท่าตอนขับบนลอยฟ้า ส่วนหนึ่งของเสียงลมรบกวนน่าจะมาจากลมที่ค่อนข้างแรง
ขับล้อหลัง กระจายน้ำหนัก 50:50
● รถรุ่นนี้ออกแบบภายใต้แนวคิด ONE-BOX เพื่อให้มีพื้นที่ภายในกว้างที่สุดในรถคลาสเดียวกัน ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างเพื่อเป็นรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ แบตเตอรี่วางกึ่งกลาง มีการกระจายน้ำหนักหน้าหลังแบบ 50:50 และช่วงล่างแบบอิสระ 4 ล้อ แสดงออกถึงความพยายามในการผลิตรถที่มีสมรรถนะการขับที่ดี ซึ่งจากการทดลองขับ สื่อมวลชนหลายคนก็ให้ความคิดเห็นตรงกันว่าเป็นรถที่ขับดี ช่วงล่างดี
● จูนเหยา JY AIR ทั้ง 2 รุ่นย่อย ใช้ระบบกันสะเทือนเหมือนกันแบบอิสระ 4 ล้อ ด้านหน้าแม็กเฟอร์สัน ด้านหลังมัลติลิงก์ 5 จุดยึด ใช้ชิ้นส่วนพาร์ทนัมเบอร์เดียวกัน ต่างกันที่ขนาดของล้อและยางเท่านั้น ขับรุ่น Plus ล้อ 19 นิ้ว ยางใหญ่แก้มเตี้ย 235/45/19 นั่งกัน 4 คน ขับในเมืองความเร็วต่ำผ่านถนนขรุขระหรือฝาท่อ ก็ไม่รู้สึกกระแทกหรือสะเทือน ช่วงล่างซับแรงได้ดีและให้ความรู้สึกหนักแน่น ขึ้นด่วนบูรพาวิถี ใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รู้สึกว่ามีอาการเซนิดๆ เพราะลมแรง แต่เพื่อน 2 คนที่นั่งหลัง บอกว่าไม่รู้สึกอะไร ลงทางราบแล้วลองอีกครั้ง ก็ขับได้นิ่งปกติดี เพิ่มความเร็วขึ้นอีกนิดก็ยังไม่มีอาการแปลกปลอม จึงพอจะสรุปได้ว่าที่ขับเร็วบนด่วนลอยฟ้าแล้วรถเซ น่าจะเป็นเพราะลมแรง
● พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า เซตมาในแบบที่ชอบคือ พอมีน้ำหนักหนืดมือ ไม่เบาหวิวแบบพวงมาลัยเกม ขับช้าก็ไม่ได้หนักมาก ยังหมุนได้คล่องแคล่ว ขับเร็วก็หนักแน่นดี ไม่ต้องประคองพวงมาลัย ระบบเบรกดิสก์ 4 ล้อ แตะเบรกแล้วรู้สึกว่าเบรกแล้วไหลไปนิด ต้องเพิ่มแรงเหยียบขึ้นอีกหน่อย ขับไปสักพักเมื่อชินแล้วก็จะกะระยะเบรกได้ และควบคุมแรงเบรกให้เบรกได้อย่างปลอดภัยและนุ่มนวล
ความมั่นคงด้านราคา และการบำรุงรักษา
● อีกปัจจัยที่ทำให้คนที่อยากได้รถไฟฟ้าเกิดความลังเลคือ การลดราคาอย่างดุเดือด ซึ่งจูนเหยาประกาศอย่างชัดเจนว่า ได้ตั้งราคาจำหน่ายที่เหมาะสมไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องลดราคาอีกในอนาคต และเตรียมเปิดดีลเลอร์ 3 แห่ง ในช่วงเดือนมกราคม 2568 ที่สุวินทวงศ์ นวมินทร์ และบายพาสชลบุรี และอีก 3 แห่งภายในไตรมาสแรกของปี 2568 แต่ยังระบุพื้นที่ไม่ได้ เพราะต้องเปลี่ยนจากแบรนด์เดิมมาเป็นจูนเหยา และภายในปี 2568 จะมีดีลเลอร์รวมประมาณ 20-30 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ส่วนเรื่องอะไหล่มีคลังอะไหล่อยู่ที่บางนา สำหรับอะไหล่บางชิ้นที่ต้องสั่งจากประเทศจีน รับประกันว่าจะได้รับภายใน 3 วันทำการ เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของจูนเหยา ที่ให้บริษัทแม่ช่วยซัพพอร์ทในเรื่องอะไหล่และการบริการ
● จูนเหยา กรุ๊ป มีธุรกิจขนาดใหญ่ในเครือมากมาย มีเทคโนโลยีและองค์ความรู้เป็นของตัวเอง ทำให้การวิจัยและพัฒนารถทำได้ง่ายขึ้น และลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์ภายนอกลงได้ เป็นบริษัทที่มั่นคงเชื่อถือได้ นโยบายและแผนงานต่างๆ ที่วางไว้ก็ดูจะตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการ และลดความกังวลของผู้ที่กำลังจะซื้อรถไฟฟ้าได้ ตัวรถ JY AIR ทั้ง 2 รุ่นย่อย ก็เปิดราคามาได้น่าสนใจ รุ่น Standard มีกำลัง 201 แรงม้า แบตเตอรี่ 51 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขับได้ 430 กิโลเมตร (NEDC) ราคา 759,000 บาท และ JY AIR Plus มีกำลัง 214 แรงม้า แบตเตอรี่ 64 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขับได้ 520 กิโลเมตร (NEDC) ราคา 869,000 บาท ช่วงแรกทำตลาดด้วยการนำเข้าจากประเทศจีน และเมื่อโรงงานผลิตที่สุพรรณบุรีเสร็จเรียบร้อย ก็จะประกอบในประเทศไทย
● ติดตามข่าวสาร JY AIR ได้ที่ www.juneyaoauto.com และ www.facebook.com/Juneyaothailand ●
ขอบคุณ บริษัท จูนเหยา ออโต (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง
Group Test : 2024 Juneyao JY AIR Plus
The post Juneyao JY AIR Plus ลองขับรถไฟฟ้ารุ่นแรกของจูนเหยา appeared first on motortrivia.