มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ร่วมกับ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านคา โรงพยาบาลตำบลบ้านคา และภาคีเครือข่าย จัดโครงการดนตรีพลังบวก เผยโฉมนักขับร้องประสานเสียง “วงปล่อยแก่” กว่า 50 คน และ “วงเด็กภูมิดี” หวังสร้างพลังใจและรอยยิ้มให้กับผู้สูงวัย สร้างโอกาสให้เด็กเยาวชน ณ ศาลาเอนกประสงค์ที่ว่าการอำเภอบ้านคา จ.ราชบุรี
รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องผู้สูงอายุทั้งในด้านจำนวน การจัดการด้านความเป็นอยู่ของผู้อายุไม่ให้เป็นภาระ ผู้สูงอายุหลายคนถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว เกิดความเหงา ซึมเศร้า และไม่มีลูกหลานอยู่ใกล้ ไม่มีใครดูแลใครเอาใจใส่เหมือนเช่นในอดีต สังคมรุ่นใหม่กับสังคมผู้สูงอายุ มีบริบททางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างไป ประสบการณ์ วิสัยทัศน์ของผู้สูงอายุ อาจใช้ไม่ได้กับวิถีชีวิตสมัยใหม่อีกต่อไป ผู้สูงอายุยังเชื่อประสบการณ์เก่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่ เชื่อถือและเชื่อมั่นความสามารถตนเอง ด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้สูงอายุหมดความหมายและหมดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ
มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดโครงการดนตรีพลังบวกขึ้น โดยผ่านกิจกรรมการขับร้องประสานเสียงมาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม ชมรมผู้สูงอายุ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งวงขับร้องประสานเสียง “วงปล่อยแก่” สำหรับผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจ และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยหวังให้การร้องเพลงประสานเสียงเป็นยารักษาโรค เป็นเพื่อนในยามเหงา สร้างรอยยิ้มและปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้อย่างกลมกลืน นอกจากนี้การร้องเพลงยังเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยการไหลเวียนของสารแห่งความสุขและปรับสมดุลของธาตุต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งโมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในชุมชนที่มีผู้สูงอายุในชุมชนอื่นๆ ได้อีกด้วย
ด้าน ดร.กฤษฏา เสกตระกูล กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการดนตรีพลังบวก ตอกย้ำให้เราทุกคนเห็นว่าดนตรีคือส่วนหนึ่งในชีวิต เสียงดนตรีทำให้เรามีความสุขโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤต ท้อแท้ หมดหวัง เสียงดนตรีกลับทำให้เรามีพลังลุกขึ้นมาต่อสู้ ลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ วงเด็กภูมิดี ทำให้เราเห็นว่าเด็กไทยมีความรู้ความสามารถ เขาคือพลังในการอนุรักษ์ดนตรีไทยให้คงอยู่กับสังคมไทย ฝึกฝนให้รู้จักการทำงานเป็นทีม มีความสามัคคีกัน รู้จักรับฟังเพื่อนรอบข้าง นี่คือพลังเล็กๆ ที่เป็นต้นแบบความสำเร็จในสังคมยุคใหม่ ในส่วนกลุ่มผู้สูงอายุที่จำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นกลุ่มที่ต้องการกำลังกาย กำลังใจ เพื่อให้เขามีพลังลุกขึ้นจากเตียงนอนในทุกเช้า ฉะนั้น ทางมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์จึงเลือกอำเภอบ้านคาเป็นต้นแบบที่แรกในการนำดนตรีพลังบวกเข้ามา ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมมากครับ ขอบคุณมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ที่เป็นพันธมิตรที่ดีของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับเป็นมิติที่ดีที่เราต้องดูแลร่วมกันต่อไปครับ
“หมอหนิง” หรือ นางสาวปาริชาติ เกิดฤทธิ์ พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ เปิดเผยว่า กว่า 14 ปี ที่ได้ทำงานที่ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี และดูแลชมรมผู้สูงอายุรู้สึกผูกพันกับผู้สูงอายุที่บ้านคามาก ผู้สูงอายุที่นี่เป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่ ที่เราหวังจะให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่ยืนยาว จากข้อมูลล่าสุด อำเภอบ้านคามีผู้สูงอายุทั้งหมด 1,118 คน คิดเป็น 19.18 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดยแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มติดบ้าน กลุ่มติดเตียง และกลุ่มติดสังคม ในส่วน 2 กลุ่มแรก ราว 40 คน จะมีแพทย์และพยาบาลไปพบถึงที่บ้าน โดยเป็นการดูแลเฉพาะทาง ส่วนกลุ่มติดสังคม คือเป็นกลุ่มที่ทีมแพทย์พยายามไม่ให้ไปสู่กลุ่มติดเตียง โดยเราใช้หลักสูตรของกลุ่มอนามัย คือ ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย จึงมีกิจกรรมให้มาร่วมกันทุกเดือน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกิจกรรมไปเรื่อยๆ และจะมีการมาร่วมกิจกรรมแบบหลวม ๆ ตามความสนใจ คือบางท่านเลือกที่จะมาฟังคุณหมอให้ความรู้ บางท่านมาออกกำลังกาย บางท่านมาเพื่อตัดผม พอกิจกรรมขับร้องวงดนตรีปล่อยแก่เข้ามา กลับมีผู้สูงอายุสนใจเข้าร่วมมากมาย เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น ความตั้งใจในการมาก่อนเวลานัดหมายและเห็นถึงความสามัคคีกันในกลุ่ม ชมรมผู้สูงอายุนี้มีเครือข่ายที่ค่อนข้างเหนียวแน่น และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บางท่านอ่านหนังสือไม่ออก ก็ช่วยเหลือกันจนร้องเพลงได้ ในส่วนการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะก็ดีขึ้นตามลำดับ ที่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของผู้สูงอายุคือผู้สูงอายุทุกท่านเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่ซึมเศร้า เมื่อเข้ามาร้องเพลงที่อนามัย ทุกคนสนุกสนาน มีความสุข มีรอยยิ้ม คุณหมอและพยาบาลทุกคนก็หายเหนื่อย หวังว่ากิจกรรมดีๆ เหล่านี้จะมีการดำเนินกิจกรรมต่อไป ขอเป็นตัวแทนขอบคุณมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ในการส่งเสริมโครงการดนตรีพลังบวกในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงค่ะ
พ่อจวน คำสวาย อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 15 วัย 66 ปี เปิดเผยว่า พ่ออายุมากแล้ว ในชีวิตนี้ผ่านอะไรมามากมาย ทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี พอผ่านมาได้ก็รู้สึกว่าไม่อยากเจอเรื่องอะไรที่ไม่ดีแล้ว อยากมีความสุขในบั้นปลายชีวิต เริ่มต้นตอนนี้คืออยากมีสุขภาพจิตที่ดี โครงการปล่อยแก่ ทำให้ผู้สูงอายุในอำเภอบ้านคา ได้รู้จักกันมากขึ้น สามัคคีกัน เป็นพี่น้องกัน มันทำให้เรามีความสุขใจ ไม่เศร้ากับเรื่องเก่าๆ ในชีวิต ไม่ให้เราคิดอะไรมาก มาร้องรำทำเพลง มันดีต่อจิตใจเรา วิทยากรใจดี ให้คำแนะนำดี ร้องอย่างไรให้ถูกต้อง ถูกหลักการเป็นทักษะที่พวกเราในชมรมผู้สูงอายุทำได้แบบไม่เครียด ไม่ใช่อยู่บ้าน เลี้ยงหลานอย่างเดียว โครงการนี้ทำให้มีความสุข มีการออกกำลังกาย อยากให้มีโครงการแบบนี้ทั่วประเทศ เพราะผู้สูงอายุมีทั่วประเทศและกำลังเพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ
นายคมกฤช จูตะกานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท เวริทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผมในฐานะคนที่ผูกพันกับชุมชน ได้มองเห็นถึงจุดเด่นของบ้านคา มีวิถีธรรมชาติที่น่าชื่นชม เช่น ด้านวัฒนธรรมสุขภาพ มี 5 อ คือ 1) อากาศ บ้านคาอากาศดีมาก ตอนเช้าอากาศสดชื่น กลางคืนอากาศเย็นสบาย คนที่อยู่บ้านคานอนห่มผ้าทุกคืน โดยไม่พึ่งเครื่องปรับอากาศ 2) อาหาร บ้านคาเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ มีการปลูกสมุนไพรไทย โดยร่วมกับเกษตรจังหวัด เกษตรตำบลหลายอย่าง 3) ออกกำลังกาย เราพยายามพัฒนาเรื่องการออกกำลังกาย ผ่านกิจกรรมการวิ่ง ปั่นจักรยานและการร้องเพลง 4) อารมณ์ ผู้คนที่บ้านคาทุกคนอารมณ์ดี มีแต่รอยยิ้มให้แก่กัน ผู้สูงอายุนับเป็นเป็นต้นบุญของครอบครัว อยากให้อยู่กับลูกหลานไปนานๆ ต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และส่งมอบสุขภาพร่างกายที่ดี แข็งแรง ไม่เป็นภาระของบุตรหลาน นี่คือมรดกที่ดีที่สุดสำหรับลูกหลาน และ 5) การออมบุญ บ้านคาเป็นแหล่งธรรมะ มีสำนักสงฆ์มากมาย เป็นแหล่งปฏิบัติธรรม ผมพร้อมสนับสนุนและพัฒนาบ้านคาต่อไป
คุณครูวีระพงษ์ ภู่เงิน ครูชำนาญการ โรงเรียนวัดลาดทราย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในส่วนของโครงการเด็กภูมิดีด้วยดนตรีพื้นบ้าน เริ่มดำเนินงานปี พ.ศ.2556 มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ทุนในการสนับสนุนจัดกิจกรรมโดยผ่านวิทยากรมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข นับเป็นปรากฏการณ์ที่ดีสำหรับโรงเรียนวัดลาดทราย เพราะโรงเรียนวัดลาดทรายไม่มีคุณครูดนตรีไทย ไม่มีเครื่องดนตรีไทย เราเริ่มต้นจากศูนย์ ทั้งสองมูลนิธิได้ทำให้เกิดมิติใหม่ ให้กับนักเรียนและชุมชนลำไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในทุกวันพระที่ไม่ตรงกับเสาร์อาทิตย์ เราจะเด็กๆ ไปแสดง ในช่วงที่มีการทำบุญ ตักบาตร และยังเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน ประเพณีไทยให้คงอยู่ต่อไป และยังมีใจดีร่วมบริจาคปัจจัยในการนำมาซ่อมแซมเครื่องดนตรี และแบ่งรายได้ให้กับเด็กนักเรียน จากการที่คนในชุมชน บริษัท ห้างร้าน มาจ้างงานแสดงดนตรีไทยเรา ทำให้โรงเรียนของเรามีชื่อเสียงในด้านดนตรีไทย ในด้านคุณธรรม มีการสร้างความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ มีวินัยในการฝึกฝนดนตรี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สร้างทักษะอาชีพให้กับเด็กนักเรียน ในการประกอบอาชีพและมีทางเลือกในการศึกษาต่อไปสมัครเรียนในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี ขอบคุณมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เป็นอย่างสูงครับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุทุกคนต้องปล่อยวางและเคร่งครัด กระตือรือร้นที่จะมีชีวิตอยู่ ตื่นจากเตียงให้ได้ เมื่อคิดอะไรได้ให้ลุกขึ้นมาทำเลย รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ มีประโยชน์ อย่าทานอาหารเยอะเกินจำเป็น ให้ทานแต่พอดี ลุกมามองหาเพื่อนดีๆ พูดคุย ออกกำลังกายเพื่อให้มีเรี่ยวแรง และยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจสะอาด พยายามเชื่อมชีวิตกับธรรมชาติให้มากที่สุด ชาวบ้านคามีอากาศที่สะอาดเป็นต้นทุนที่ดีแล้ว ต้องขอบคุณกับสิ่งที่มี พอใจสิ่งที่มี และอยู่กับปัจจุบันให้ได้แล้วชีวิตจะมีความสุขครับ รศ.ดร.สุกรี กล่าวทิ้งท้าย