กสศ. เดินหน้า“ครูรัก(ษ์)ถิ่น”ปีที่ 4
โรงแรมทีเค พาเลส ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ วันที่ 22 มิถุนายน 2565 - กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมชี้แจงการเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อร่วมเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครู “โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น” รุ่นที่ 4 ปีการศึกษา 2566 มุ่งพัฒนานวัตกรรมกระ
- Jun 28 2022
- 104
- 3734 Views
เปิดรับสถาบันการศึกษา ร่วมสร้างครูคุณภาพสูงของชุมชน
ช่วยลดความเหลื่อมล้ำยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล
โรงแรมทีเค พาเลส ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ วันที่ 22 มิถุนายน 2565 - กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมชี้แจงการเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อร่วมเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครู “โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น” รุ่นที่ 4 ปีการศึกษา 2566 มุ่งพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอย่างเป็นระบบ และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ได้เรียนครูจนจบปริญญาตรี และได้รับการบรรจุเป็นครูคุณภาพสูงในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเองทั้งหมด โดยมีเป้าหมายผลิตครูให้ได้จำนวน 1,500 คน ภายในระยะเวลา 9 ปี และเกิดการยกระดับการศึกษาและพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมากกว่า 600 โรงเรียน
รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการผลิตครูของประเทศยังไม่ตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งระบบการบรรจุครูของโรงเรียนในพื้นที่ทำให้ได้ครูที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นมากถึงร้อยละ 80 จนเกิดปัญหาครูย้ายออกจากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลจำนวนมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโอกาสและคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จึงได้ดำเนิน โครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” โดยร่วมกับ 6 หน่วยงานประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.), กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอย่างเป็นระบบ และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น รวมถึงพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกันซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบและนโยบายสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูของประเทศไทยที่มีอัตลักษณ์สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และความต้องการของประเทศ
“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มุ่งทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต้นแบบที่ร่วมโครงการในลักษณะเครือข่าย ร่วมพัฒนาหลักสูตรสร้างครูรุ่นใหม่ที่มีอัตลักษณ์ สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชนแต่ละภูมิภาค และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ให้ได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีและได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเองทั้งหมด โดยนักศึกษาจะได้รับการบ่มเพาะให้เป็นครูของชุมชนที่มีคุณภาพสูง มีสมรรถนะทั้งทางวิชาการ และวิชาชีพ มีความสามารถพัฒนาผู้เรียนและชุมชนเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโรงเรียนได้ ถือเป็นการลงทุนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ตรงจุด สอดคล้องกับปัญหาของประเทศ” รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี กล่าว
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ยังกล่าวอีกว่า “โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงานผลิตและพัฒนาครูตั้งแต่ปี 2563-2571 มีเป้าหมายผลิตครูให้ได้จำนวน 1,500 คน ปัจจุบันเป็นปีที่ 4 มีนักเรียนที่ได้รับโอกาสเข้าศึกษาต่อเข้าเรียนครูในสาขาประถมศึกษาและปฐมวัยรวมทั้งสิ้น 861 คน และมีเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 6๙๖ แห่ง โดยมีสถาบันผลิตและพัฒนาครูเข้าร่วมโครงการจำนวน 1๖ สถาบัน”
ผศ.ดร.อนุชา พิมศักดิ์ รองคณบดี คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 16 สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมกับ กสศ. ในการพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น มาตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวว่า ในอดีตการผลิตครูจะเป็นไปตามหลักสูตรของคุรุสภา แต่ในโครงการนี้เริ่มจากต้องปรับกระบวนการคิดและทำงานโดยเข้าไปค้นหาตัวเด็กแทน และต้องปรับหลักสูตรให้ตอบโจทย์กับพื้นที่ของชุมชน โดยครูจะต้องมีทักษะการสอนที่หลากหลาย สามารถสอนได้ทุกระดับชั้น เพราะในพื้นที่ห่างไกลมีครูน้อย และหลักสูตรที่ได้พัฒนาร่วมกับ กสศ. นั้นยังมีความแตกต่างจากเดิม เพราะเกิดจากการลงพื้นที่สอบถามทางโรงเรียนและชุมชนว่าต้องการครูที่มีคุณสมบัติแบบไหน แล้วสถาบันก็จะพัฒนาครูให้มีทักษะตรงกับที่ชุมชนนั้นๆต้องการ
“สิ่งที่แตกต่างคือการเป็นครูของท้องถิ่นจากคนในท้องถิ่นจริงๆ มีทักษะในการเป็นนักพัฒนาชุมชน เพราะสภาพพื้นที่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นภาคการเกษตรที่หลากหลาย ดังนั้นครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงต้องมีความรู้เรื่องการเกษตรที่ยั่งยืน มีความเข้าใจในศาสตร์ของพระราชา มีความรู้เรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีทักษะการเกษตรที่สามารถประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นและนำเข้าสู่ชุมชนและสร้างความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนและชุมชนได้จริง”
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีการศึกษา 2566 กำลังเปิดรับสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี คณะครุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการประถมศึกษา หรือการศึกษาปฐมวัย และมีแนวคิดในการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาเด็กและเยาวชนได้ตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน โดยสามารถยื่นข้อเสนอโครงการ ผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.eef.or.th ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 079 5475 ต่อ ๕