อเมริกา
สหรัฐฯ มีเหตุทุจริตเลือกตั้งหรือไม่ และดูแลป้องกันอย่างไร
ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาของสหรัฐฯ มีรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุทุจริตการลงคะแนนและนับคะแนนในจุดต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่ผู้มีสิทธิ์บางคนกาบัตรหลายใบ หรือมีผู้ใช้สิทธิ์แทนญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว รวมทั้งการขโมยบัตรลงคะแนนที่ส่งกลับมา
ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาของสหรัฐฯ มีรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุทุจริตการลงคะแนนและนับคะแนนในจุดต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่ผู้มีสิทธิ์บางคนกาบัตรหลายใบ หรือมีผู้ใช้สิทธิ์แทนญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว รวมทั้งการขโมยบัตรลงคะแนนที่ส่งกลับมาทางไปรษณีย์ซึ่งสำนักข่าวเอพีระบุว่า มีเหตุการณ์ดังที่ว่าเกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่ทางการสหรัฐฯ ก็สามารถจับผู้ทำผิดกฎหมายและดำเนินคดีได้เสมอ
กระบวนการจัดการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่มีอยู่หลายระดับตั้งแต่ในส่วนท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศนั้นมีระบบป้องกันภัยอยู่มากมายที่ทำให้สามารถตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้งได้ง่ายและทำให้กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยาก ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั้งในอดีตและชุดปัจจุบันจากทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต
ทั้งนี้ ระบบจัดการเลือกตั้งของสหรัฐฯ นั้นเป็นแบบกระจายอำนาจ โดยมีเขตที่มีอำนาจในการดูแลจัดการอย่างอิสระตามกฎหมายอยู่หลายพันเขต ทำให้การจะก่อเหตุทุจริตเลือกตั้งขนานใหญ่จนสามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งต่าง ๆ รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะทำไม่ได้เลย
เทรย์ เกรย์สัน อดีตเลขานุการรัฐเคนตักกีและประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ Secure Elections ยอมรับกับเอพีว่า การที่จะมีระบบเลือกตั้งที่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าพิจารณาว่า ระบบเลือกตั้งใดที่คนควรมีความเชื่อมั่นก็ควรจะเป็นระบบของอเมริกานั่นเอง
อะไรทำให้ไม่มีใครพยายามก่อเหตุทุจริตเลือกตั้ง?
การจะกาบัตรมากกว่า 1 ครั้ง หรือแก้ไขบัตรเลือกตั้ง รวมทั้งการโกหกที่อยู่ของตนเพื่อจะได้ลงคะแนนเสียงในพื้นที่อื่นและการลงคะแนนแทนผู้ใดก็ตามล้วนถือเป็นอาชญากรรมที่มีโทษเป็นการปรับเงินก้อนโตหรือการจำคุกก็ได้ ขณะที่ ผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองชาวอเมริกันและทำผิดกฎหมายในเรื่องนี้ก็อาจถูกส่งตัวกลับประเทศได้
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ระบบการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ได้รับการออกแบบมาให้มีระบบป้องกันหลายชั้นจนทำให้เกิดความโปร่งใสอย่างมากเสียจนทำให้คนที่อยากจะโกงการเลือกตั้งต้องล้มเลิกความตั้งใจไป
ในการลงคะแนนเสียงด้วยตนเองนั้น เกือบทุกรัฐบังคับหรือร้องขอให้ผู้มีสิทธิ์ต้องแสดงบัตรประจำตัวแบบใดแบบหนึ่งที่คูหา ขณะที่ บางรัฐก็บังคับให้ผู้มาใช้สิทธิ์พิสูจน์ตัวตนด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การยืนยันชื่อและที่อยู่ รวมทั้งการลงชื่อในสมุดเลือกตั้ง หรือไม่ก็ให้ลงนามในหนังสือรับรองต่อหน้าเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
นอกจากนั้น ผู้ที่พยายามลงคะแนนเสียงแทนเพื่อนหรือญาติที่เสียชีวิตไปแล้วก็อาจถูกเจ้าหน้าที่จับได้ เมื่อมีการอัพเดทรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกับข้อมูลผู้เสียชีวิตหรือข่าวมรณกรรมที่มีการตีพิมพ์ออกมา ตามความเห็นของ เกล เพลเลริน สมาชิกพรรคเดโมแครตของสภาแคลิฟอร์เนียที่ทำหน้าที่ดูแลจัดการเลือกตั้งในเขตซานตาครูซเคาน์ตีมากว่า 27 ปี
เพลเลรินกล่าวด้วยว่า ผู้ที่พยายามแสดงตนเป็นคนอื่นนั้นมีความเสี่ยงที่ว่า คนที่คูหาเลือกตั้งจะจำและจำผิดได้ด้วย
มีระบบป้องกันอะไรสำหรับผู้ที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งทางไปรษณีย์ในสหรัฐฯ บ้าง
สำหรับการส่งบัตรเลืองตั้งทางไปรษณีย์ล่วงหน้านั้น รัฐต่าง ๆ มีกระบวนการขั้นตอนตรวจสอบที่ต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือ ทุกรัฐระบุว่า ผู้ลงคะแนนจะต้องเซ็นชื่อรับรอง ขณะที่ หลายรัฐมีกฎเพิ่มเติมเช่น การตั้งทีมงานที่มีตัวแทนจากทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่มาทำหน้าที่เปรียบเทียบลายเซ็นบนบัตรเลือกตั้งกับที่ปรากฏในเอกสารอื่น ๆ ที่มีอยู่ในระบบ หรือการบังคับให้ต้องนำบัตรเลือกตั้งที่เซ็นชื่อแล้วไปให้เจ้าหน้าที่รัฐทำการรับรองหรือมีพยานลงชื่อรับรองให้ เป็นต้น
นั่นหมายความว่า ถ้าหากมีความผิดพลาดในการส่งบัตรเลือกตั้งไปยังที่อยู่เก่าของใครบางคน และผู้ที่อาศัยในปัจจุบันส่งบัตรดังกล่าวกลับมายังคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งแทน ก็จะมีการตรวจสอบและแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า เกิดความผิดปกติขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น มีหลายรัฐที่เริ่มนำเครื่องมือติดตามบัตรเลือกตั้งทั้งแบบออนไลน์และแบบตรวจสอบด้วยมือมาใช้เป็นขั้นตอนเสริมพิเศษเพื่อป้องกันความผิดพลาด ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ติดตามดูการเดินทางของบัตรของตนตั้งแต่เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งออกมาให้ ไปถึงตอนส่งกลับและการนับคะแนนด้วย
กฎหมายระดับประเทศว่าด้วยการเลือกตั้งยังบังคับให้มีการคอยตรวจสอบและอัพเดทรายชื่อผู้มีสิทธิ์ และเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งดำเนินการในเรื่องนี้ได้หลายวิธี เช่น การตรวจสอบเปรียบเทียบฐานข้อมูลระดับรัฐและระดับประเทศเพื่อประสานงานกับรัฐอื่น ๆ เพื่อติดตามผู้มีสิทธิ์ซึ่งย้ายที่อยู่ออกไป
ส่วนกล่องรับบัตรเลือกตั้งก็มีระบบรักษาความปลอดภัยเช่นกัน ตามข้อมูลของ แทมมี แพทริค ประธานบริหารโครงการต่าง ๆ ของสมาคม National Association of Election Officials
แพทริคอธิบายว่า กล่องรับบัตรเลือกตั้งนั้นมักได้รับการออกแบบมาไม่ให้มีการล้วงเข้ามาขโมยบัตรได้ ประกอบจากวัสดุกันไฟ มีการยึดติดไว้กับพื้นและยังตั้งวางในจุดที่มีกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้ด้วย
บางครั้งคำกล่าวหาว่า มีการทุจริตเลือกตั้ง ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอ
หลังการเลือกตั้งในปี 2020 มา มีการโพสต์ตามสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการกล่าวอ้างว่า มีผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากมาย หรือกรณีของการใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนหรือการทำลายบัตรเลือกตั้งตามข้างถนน เป็นต้น
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ที่ออกมาพูดทำนองเรื่องนี้และขยายความอย่างต่อเนื่อง แต่การตรวจสอบก็พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เป็นความจริงเลย
สำนักข่าวเอพีทำการสืบสวนด้วยตนเองและตรวจสอบคำกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งในพื้นที่ 6 รัฐสมรภูมิตามที่ทรัมป์อ้าง และพบว่า ในบัตรเลือกตั้งหลายล้านใบที่มีผู้มีสิทธิ์ใช้หรือส่งเข้ามา มีไม่ถึง 475 ใบเท่านั้นที่ผิดปกติ ซึ่งไม่ได้มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งที่ออกมาและยืนยันว่า โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต คือ ผู้ชนะในทั้ง 6 รัฐและได้คะแนนสูงกว่าทรัมป์รวมกันแล้ว 311,257 คะแนน
การตรวจสอบยังแสดงให้เห็นว่า ไม่มีกรณีการสมรู้ร่วมคิดในการพลิกผลเลือกตั้งใด ๆ โดยทุกกรณีที่มีการกล่าวอ้างนั้นเป็นเรื่องของคน ๆ เดียวที่กาบัตรเลือกตั้งเกิน 1 ใบทั้งสิ้น โดยมีตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งเข้าใจผิดคิดว่าตนเองสามารถลงคะแนนเลือกตั้งขณะอยู่ในช่วงถูกปล่อยตัวจากเรือนจำโดยการคุมประพฤติอยู่ได้ หรือในอีกกรณีหนึ่งที่มีผู้หญิงคนหนึ่งต้องสงสัยว่า ส่งบัตรเลือกตั้งแทนแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วเข้ามาให้คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง
อดีตเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งจำนวนหนึ่งบอกด้วยว่า การตรวจสอบคำกล่าวอ้างว่าเกิดการทุจริตเลือกตั้งหลายครั้งจบลงด้วยข้อสรุปว่า เป็นเรื่องของความผิดพลาดในการจัดเก็บ-ตรวจนับคะแนนหรือการเข้าใจผิดเสียมากกว่า
ทำไมการทุจริตเลือกตั้งแทบจะไม่น่ากระทบการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ
การจะกล่าวว่า ไม่เคยเกิดเหตุทุจริตการเลือกตั้งในสหรัฐฯ นั้นก็น่าจะเป็นการสรุปความที่ผิด
ในแต่ละปีที่มีการจัดการเลือกตั้ง มีผู้ใช้สิทธิ์กาบัตรหรือส่งบัตรเลือกตั้งเข้ามาหลายล้านใบเสมอ ทำให้รับประกันได้ว่า อย่างน้อยก็จะมีบางคนที่พยายามทำตุกติกในการเลือกตั้งบ้าง หรืออาจมีความพยายามที่ลับลวงยิ่งกว่าเกิดขึ้นได้ เช่น กรณีการพยายามซื้อเสียงในปี 2006 ที่รัฐเคนตักกี เป็นต้น
โดยในกรณีต่าง ๆ ที่ว่ามานั้น เทรย์ เกรย์สัน อดีตเลขานุการรัฐเคนตักกีและประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ Secure Elections บอกว่า ก็ตามมาด้วยคำร้องเรียนจากผู้มีสิทธิ์และการสอบสวนจนพบผู้ลงมือกระทำการตัวจริงที่ยอมรับสารภาพผิดในที่สุด
เกรย์สันกล่าวเสริมว่า หากจะมีใครคิดการใหญ่ ทำการทุจริตเลือกตั้งในระดับสูงและเป็นวงกว้าง คนกลุ่มดังกล่าวก็จะต้องทำงานอย่างหนักมากเพื่อหลบหลีกระบบการตรวจสอบที่มีตามจุดต่าง ๆ ในระดับชั้นของการจัดการเลือกตั้ง และยังต้องมีผู้ร่วมมือจำนวนมากที่ต้องเก็บงำความลับของการก่ออาชญากรรมนี้ไว้ไม่ให้ถูกจับได้เลย ก่อนจะสรุปว่า “การกระจายอำนาจการจัดการเลือกตั้งเช่นนี้ คือระบบป้องปรามด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว” นั่นเอง
ที่มา: เอพี