เอเชีย
ส่องวิบากกรรม 'ยูน ซุก ยอล' แห่งเกาหลีใต้หลังประกาศกฎอัยการศึก
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยูน ซุก ยอลกำลังเผชิญเเรงกดดันอย่างหนัก ในวันพุธหลังจากที่เขาประกาศกฎอัยการศึกเป็นเวลาสั้น ๆ เนื่องจากสมาชิกสภาเตรียมยื่นถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้หนึ่งในกลุ่มสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศประกาศผละงานประท้วงเพื่อเรียก
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยูน ซุก ยอลกำลังเผชิญเเรงกดดันอย่างหนัก ในวันพุธหลังจากที่เขาประกาศกฎอัยการศึกเป็นเวลาสั้น ๆ เนื่องจากสมาชิกสภาเตรียมยื่นถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง
นอกจากนี้หนึ่งในกลุ่มสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศประกาศผละงานประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ยูนลาออกจากตำแหน่ง
ในคำแถลงก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวออกโทรทัศน์ว่าจะ "กำจัดกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐฯ" และ "ปกป้องความเป็นระเบียบตามรัฐธรรมนูญ"
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งให้ใช้กฎอัยการศึกครั้งแรกตั้งแต่ที่เกาหลีใต้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยราว 40 ปีก่อน
แต่คำประกาศของเขาถูกโหวตคว่ำในสภาด้วยเสียง 190 ต่อ 0 เป็นเหตุให้ยูนต้องประกาศยุติกฎอัยการศึก
ในเช้าวันพุธ พรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของประเทศประกาศว่าจะเริ่มกระบวนการขอถอดถอนยูน ออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ หากว่าเขาไม่ลาออกโดยทันที
ส่วนกลุ่มเเรงงานขนาดใหญ่ของสหภาพ Korean Confederation of Trade Unions ประกาศที่จะประท้วงและจะเริ่มหยุดงานอย่างไม่มีกำหนด จนกว่ายูนจะลาออกจากตำแหน่ง
แม้แต่ภายในพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ฝั่งอนุรักษ์นิยมของเขาเอง สมาชิกหลายคนก็ออกมาวิจารณ์ยูนอย่างดุเดือด และร่วมการโหวตคว่ำกฎอัยการศึก
สื่ออนุรักษ์นิยม โชซัน อิลโบ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ กล่าวผ่านบทบรรณาธิการว่าการประกาศกฎอัยการศึก เป็นเรื่อง "น่าขันและไม่เคยมีมาก่อน" และว่า "แทบไม่มีใคร" เห็นด้วยกับเหตุผลของประธานาธิบดีผู้นี้ ที่ว่าประเทศกำลังเผชิญกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน
บทบรรณาธิการของสื่ออีกฉบับหนึ่ง จูงกัง อิลโบ กล่าวว่า "ข้อถกเถียงเรื่องกฎอัยการศึกนี้ สร้างคำถามต่อความสามารถของประธานาธิบดียูนในการดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป"
กองบรรณาธิการของจูงกัง อิลโบระบุด้วยว่า “การพูดถึงที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น เรื่องการถอดถอนประธานาธิบดี กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในเวลานี้"
ตั้งแต่ที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในปี 2022 ยูนซึ่งเคยเป็นอัยการสูงสุดของเกาหลีใต้ เผชิญกับเเรงต้านจากฝ่ายค้าน
ความนิยมในตัวเขาก็อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่นที่โยงใยกับ คิม คิออน ฮี ภริยาของยูน นอกจากนั้นยูนเองก็ถูกระบุว่าปฏิบัติไม่ดีต่อสื่อ
ประธานาธิบดีผู้นี้ตอบโต้ด้วยการกล่าวว่าผู้เห็นต่างฝักใฝ่และเข้าข้างเกาหลีเหนือ และบอกว่าคนเหล่านั้น "ต่อต้านรัฐ" จนทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ
ท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเมือง การดำเนินขั้นตอนถอดถอนยูนสามารถเริ่มขึ้นได้ หาก ส.ส.เพียง 8 รายจากฝั่งอนุรักษ์นิยมผละตัวออกมาจากประธานาธิบดีผู้นี้
นักวิเคราะห์กล่าวว่ายูนไม่น่าจะสามารถดำรงตำเเหน่งประธานาธิบดีจนครบวาระ 5 ปีได้
คาร์ล ไฟรด์ฮอฟฟ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีแห่งหน่วยงาน Chicago Council on Global Affairs กล่าวว่า "นี้คือจุดจบของการเป็นประธานาธิบดีของยูน"
"คำถามเดียวที่มีคือการเป็นประธานาธิบดีของเขาจะจบลงอย่างไรและความรุนเเรงที่ตามมาจะมีมากเท่าใด" ไฟรด์ฮอฟฟ์กล่าว
สำหรับขั้นตอนถอดถอนประธานาธิบดี ญัตติถอดถอนต้องได้รับการสนับสนุนจากเสียงสองในสามของสภานิติบัญญัติ
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้จะต้องตัดสินว่าจะรับรองผลโหวตจากสภาหรือไม่
ศาตราจารย์ ชอย จองคุน แห่งมหาวิทยาลัยยอนเชในกรุงโซล ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลก่อน กล่าวว่าการยื่นถอดถอนยูนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยมไม่ได้ "อย่างแน่นอน"
"ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้มั่นคงและไม่สามารถทำให้สั่นคลอนได้" เขากล่าว "สาธารณรัฐแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพลังที่รวมตัวกันของประชาชนที่เเข็งขันต่อการมีส่วนร่วมและทราบความเป็นไปของประเทศ พวกเขาพร้อมที่จะยืนหยัดเพื่อรักษาคุณค่าเหล่านั้น" ที่มา: วีโอเอ