logologo

Easy Branches ให้คุณแบ่งปันโพสต์แขกของคุณภายในเครือข่ายของเราในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก เริ่มแบ่งปันเรื่องราวของคุณวันนี้!

Easy Branches

34/17 Moo 3 Chao fah west Road, Phuket, Thailand, Phuket

Call: 076 367 766

info@easybranches.com
การศึกษา

มข.เผย4แนวทางการจัดการศึกษาโฉมใหม่อิสระการเรียนรู้บูรณาการระหว่างคณะ

ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่าย การศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยแนวคิดสู่การพลิกหน้าการจัดการศึกษาครั้งใหญ่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใต้นโยบาย Education Transformation ว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติการศึกษา ซึ่งเป็นไ

โดย: Easy Branches Team

  • Jun 04 2019
  • 120
  • 7349 Views

ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่าย การศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เผยแนวคิดสู่การพลิกหน้าการจัดการศึกษาครั้งใหญ่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใต้นโยบาย  Education Transformation   ว่า  ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โครงสร้างประชากร และ เทคโนโลยีดิจิตอลมีส่วนอย่างยิ่งในการเปลี่ยนวิถีชีวิต มุมมอง  ค่านิยม ของผู้คนทั่วไป  เพราะฉะนั้นการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จำเป็นต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน 
         “ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับเปลี่ยน  คนจะไม่มามหาวิทยาลัย  ก็ไม่จำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัย   แม้ว่าปัจจุบันความสำคัญของปริญญาบัตรยังมีอยู่  แต่ในอนาคตอันใกล้ บริษัทที่รับสมัครงาน  อาจจะไม่ต้องการปริญญา  ถ้าคุณเก่งเรื่องที่บริษัทต้องการอาจจะรับคุณทันที  คุณจบวิศวะคุณอาจจะเป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารก็ได้   เพราะฉะนั้นความสำคัญของมหาวิทยาลัยยังมีอยู่ แต่ต้องวางบทบาทหน้าที่ให้ถูกต้อง โดยเปลี่ยนให้นักศึกษาที่มามหาวิทยาลัยได้คุณค่าได้ประโยชน์มากกว่าปริญญา สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงให้นโยบายมาว่า ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  ซึ่งท่านอธิการบดีตั้งว่าเป็นการ Transformation  ในแง่การศึกษาหรือ  Education Transformationเพราะฉะนั้นสิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะดำเนินการในปี   2562 คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน  ระเบียบต่างๆเพื่อให้สอดคล้อง  ยืดหยุ่น กับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้”  ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าว

ศ.ดร.สุรศักดิ์  กล่าวด้วยว่า     นโยบาย Education Transformation จะดำเนินการใน  ด้านหลักคือ    1.การเปลี่ยน  Teaching Paradigm เป็น Learning Paradigm  จากเดิมที่อาจารย์เน้นการสอนมาเป็นเน้นการเรียน เพื่อให้บัณฑิตตอบโจทย์ผู้ใช้บริการและเป็นกระบวนการสร้างความคิดให้แก่ผู้เรียน ทั้งนี้ อาจารย์ผู้สอนต้องตั้ง mindset ใหม่  วิธีการสอนจะต้องเปลี่ยน เช่น  ในอดีตอาจารย์ lecture 2 ชั่วโมงเต็ม  แต่การเรียนรู้แบบใหม่  อาจารย์ต้องทำระบบให้นักศึกษาเรียนรู้  แนะนำไม่ให้ออกนอกแนวทาง อาจจะให้นักศึกษาค้นคว้าไปก่อนด้วยตนเอง  เมื่อไม่เข้าใจ  สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สอนในชม.เรียน  เช่น ในเรื่องธุรกิจ  อาจจะนำตัวอย่างการจัดการบัญชีมาดู และ วิจารณ์แทนที่จะนั่งฟังอย่างเดียว  ซึ่งการเรียนลักษณะนี้จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง  เพราะฉะนั้นสิ่งที่ฝ่ายการศึกษาต้องทำคือนำความรู้ลักษณะนี้มาถ่ายทอดให้อาจารย์ได้ทราบ  นอกจากนี้ ได้จัดโครงการนำผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศมาบรรยายเป็นประจำ  เพื่อให้อาจารย์เห็นความสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราหวังว่าอาจารย์ที่ปรับเปลี่ยนแนวคิด และ วิธีการถ่ายทอดความรู้จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เป็นแรงจูงใจให้อาจารย์ท่านอื่นๆเห็นและทำตาม

2.Lifelong learning  การเรียนรู้ตลอดชีวิต   จัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ทุกช่วงวัยสามารถมาศึกษาความรู้ได้  มีหลักสูตรที่เป็น หลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) มากเพิ่มขึ้น  ซึ่งสามารถเรียนออนไลน์ หรือ interactive ก็ได้  โดยไม่จำเป็นต้องมามหาวิทยาลัย เน้นความสนใจเป็นหลัก สามารถเรียนซ้ำเพื่อให้ได้เกรดที่สูงขึ้นได้  โดยอายุไม่ใช่เงื่อนไข แม้ว่าจะอยู่ ป.ก็สามารถเรียนวิชาปริญญาเอกได้ หากเรียนไหว  แต่ไม่ได้รับปริญญา  แต่จะได้รับก็ต่อเมื่อจบ ตรี โท ตามลำดับก่อน วิชาที่เรียนสามารถเก็บสะสม  เครดิตแบงค์ ไปเรื่อยๆ  โดยคณะจะเป็นผู้ประกาศว่า  วิชานี้เก็บได้ กี่ปี  ทั้งนี้สภามหาวิทยาลัยจะเป็นผู้วางแนวระยะเวลาสูงสุดไว้  รายวิชาเล็ก  ใหญ่ สามารถ ทำ หน่วยกิตสะสมได้ทั้งหมด  เมื่อครบตามเกณฑ์ สกอ. จะสามารถยื่นรับปริญญาได้  เพราะฉะนั้นต่อไปนักศึกษาอาจจะเรียนปริญญาตรี ปี  ขณะเดียวกันนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นในปัจจุบันอาจจะทำลักษณะนี้ได้  ยกตัวอย่าง นักศึกษาเกษตรศาสตร์  ต้องการปริญญา MBA ช่วงว่างขณะเรียนปริญญาตรี สามารถเรียนบางวิชาของMBA  เก็บไว้  เมื่อจบปริญญาตรีเกษตรศาสตร์ อาจจะเหลืออีกนิดเดียว  ก็ขอรับปริญญา MBA ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ช่วงแรกจะเปิดหลักสูตรที่ไม่มีสภาวิชาชีพกำกับ  เช่น บริหารธุรกิจ  บัญชี การธนาคาร  ลำดับต่อมาจึงจะเปิด สาขาวิชาที่มีสภาวิชาชีพกำกับ  เช่น แพทย์ พยาบาล  ทันตแพทย์  วิศวกรรม  แต่ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยต้อง ปฏิบัติตามให้สอดคล้องกับแนวทางของสภาวิชาชีพ ซึ่งวิชาดังกล่าว ไม่สามารถที่จะเรียนสั้นได้เพราะต้องใช้เวลาในการเรียนปฏิบัติด้วย  
3.Innovative Integration  การนำองค์ความรู้ระหว่างคณะมาบูรณาการร่วมกันเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน  ซึ่งหลักสูตรที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หางานทำยาก  จะถูกยกเลิก  หรือควบรวม และหลักสูตรดังกล่าวจะอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยตรง  ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการทำงานในแต่ละคณะ  เพื่อระดมความคิดบูรณาการ เป็นหลักสูตรใหม่สังคมต้องการร่วมกัน  เช่น รัฐบาลประกาศไทยแลนด์ 4.0 ต้องการบัณฑิตที่เรียนด้านระบบรางเป็นจำนวนมาก  คณะวิศวกรรมศาสตร์ก็จำเป็นต้องมีหลักสูตรด้าน  logistics  มากขึ้น  หรือกิจการ  smart farming เป็นศาสตร์ที่จะต้องใช้ความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์  และ  เกษตรศาสตร์  เราต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญในคณะดังกล่าวมาทำงานร่วมกัน  ผลักดันเป็นหลักสูตรที่ไม่ได้มีคณะใดคณะหนึ่งเป็นเจ้าของ

4.การทำระบบให้สนับสนุนการทำงาน   เช่น เมื่อเปลี่ยนการเรียนการสอนใหม่ มหาวิทยาลัยมีแนวคิดที่จะปรับระบบทุกอย่างให้สอดคล้อง เช่น  การประเมินอาจารย์ การขึ้นตำแหน่งเชิงวิชาการ  การขึ้นเงินเดือน  การไปดูงานต่างประเทศ   โดยมุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้สอนที่ปรับเปลี่ยนเห็นว่าได้ประโยชน์  ขณะเดียวกันระบบเทคโนโลยีต้องทันสมัยสนับสนุนการทำงานด้วย โดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องเปลี่ยนวิธีการประเมิน หากการทำงานเป็นระบบที่สอดคล้องกันเช่นนี้  ย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ ทุกฝ่าย ทั้งบุคลากร คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องเข้าใจ พร้อมที่จะเปลี่ยน  เพราะการประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่การดำรงอยู่ในฐานะสถาบันทางการศึกษาเท่านั้น   แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจมากกว่า  คือเรามีคุณค่าต่อสังคม  เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป

 ข่าว : รวิพร สายแสนทอง   ภาพ : บริพัตร ทาสี

ที่เกี่ยวข้อง


แบ่งปันหน้านี้

โพสต์ของแขกโดย Easy Branches

all our websites