มธบ. ชี้ทักษะด้านไหนตอบโจทย์ตลาดแรงงานไทย ใน 10 ปีข้างหน้า แนะนศ.ปรับตัวเปลี่ยนความคิด AI แย่งงานมนุษย์
สถาบัน DPU X โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) จัดงานเสวนา “ทักษะในอนาคตของแรงงานในประเทศไทย In the next 10 year” เพื่อชี้แนวทางให้นักศึกษาปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอดในอนาคต โดยมี ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นักวิจัยและผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบ
- Oct 22 2019
- 158
- 8190 Views
สถาบัน DPU X โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) จัดงานเสวนา “ทักษะในอนาคตของแรงงานในประเทศไทย In the next 10 year” เพื่อชี้แนวทางให้นักศึกษาปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอดในอนาคต โดยมี ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นักวิจัยและผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล นักวิจัยและผู้ชำนาญการอาวุโส DPU CORE อ.ดวงจันทร์ วรคามิน นักวิจัยและอาจารย์วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี(CIBA) ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี จิ๊บ ปกฉัตร เทียมชัย พิธีกรและนักแสดง เป็นเป็นพิธีกรตลอดการเสวนา พร้อมนี้ได้เชิญ นายวรากิต เพชรน้ำเอก ประธานชมรมนิยายวิทยาศาสตร์ไทย ร่วมให้ความรู้แก่นักศึกษาถึงแนวทางการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ณ ห้องไสว สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) กล่าวว่า มธบ.วางแผนการปรับตัวสู่โลกอนาคต ในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อชี้แนวทางให้อาจารย์และนักศึกษาเห็นภาพว่าในยุคดังกล่าวสังคมโลกต้องการคนหรือแรงงานแบบไหน หลังเรียนจบการศึกษาออกไปจะอยู่รอดได้อย่างไร เมื่อ AI (Artificial Intelligent) เริ่มแทรกซึมเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ โดยนำข้อมูลจากทีมนักวิจัยมธบ.เรื่อง ทักษะแรงงานในอนาคตของไทย(Skill Set For Future Workforce in Thailand) มาสื่อสารให้อาจารย์และนักศึกษารับรู้ พร้อมรับมือเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในสายอาชีพต่างๆ โดยทีมวิทยากรได้เสนอแนวคิดถึงสาขาอาชีพที่น่าสนใจในอนาคตและอาชีพที่อาจหายไป รวมถึงทักษะที่จำเป็น เพื่อให้อาจารย์แต่คณะนำไปปรับหลักสูตรเพื่อให้นักศึกษาลุกขึ้นพัฒนาตนเองให้อยู่รอดในโลกที่แข่งขันกันด้วยจำนวนประชากรที่มีคุณภาพ
ดร.พณชิต กล่าวต่อว่า Artificial Intelligence หรือ AI คือ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งหมายถึงวิทยาการคอมพิวเตอร์แขนงหนึ่งที่จะพยายามสามารถคิดหาเหตุผลเรียนรู้การทำงานได้เหมือนสมองมนุษย์ ปัจจุบันหลายองค์กรได้นำสิ่งนี้มาทำงานแทนมนุษย์บางส่วน ในวงการนิยายได้กล่าวถึงสมองกลที่พัฒนาถึงขั้นเขียนนิยายได้เอง ทุกคนอาจเริ่มหวาดกลัวเมื่อ AI สามารถเรียนรู้บางสิ่งได้เหมือนมนุษย์มีความฉลาดผนวกกับความคิดที่ลึกซึ้งขึ้น ทำให้มนุษย์ถูกแย่งงานโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้ชนชั้นแรงงานมีโอกาสว่างงานสูงเพราะเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยลดต้นทุนการทำงานได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทุกคนยังไม่มีความพร้อมที่จะรับมือเรื่องดังกล่าว เพราะต่างเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถมาทำงานแทนมนุษย์ได้ ดังนั้นจึงอยากฝากนักศึกษาโดยเฉพาะคณะนิเทศศาสตร์ ต้องปรับตัวในทันเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันสายบันเทิงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จากที่เคยทำงานในสตูดิโอ หรือสำนักพิมพ์ เปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน เช่น ยูทูปเบอร์ เป็นต้น
“ทุกคนสร้างคอนเทนต์ให้ตัวเอง และสร้างคุณค่าให้ตนเองได้ จึงอยากให้น้องๆช่วยกันวาดภาพหน้าตาที่ทำงานในอนาคอีก 10 ปี จะเกิดอาชีพแบบไหน และอาชีพไหนจะหายไป” ผอ.DPU X กล่าว
ด้าน ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล นักวิจัยและผู้ชำนาญการอาวุโส DPU CORE กล่าวว่า ผลงานวิจัยโดยหลักอยากทราบว่าทักษะของคนไทยในอนาคตควรมีอะไรบ้าง ซึ่งทีมวิจัยได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง พบว่าช่วงแรก ระหว่างปี2020-2029 อยู่ในช่วงพัฒนาAI ช่วงที่ 2 ปี 2030-2049 AI มีความสามารถเท่ามนุษย์ และช่วงที่3 ปี 2050-2060 มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ AI ดังนั้นทำอย่างไรให้คนอยู่รอดในแต่ละช่วงได้ ซึ่งผลวิจัยระบุถึงทักษะที่คนควรมี คือ ความคิดสร้างสรรค์ การใช้เทคโนโลยี และการสื่อสารกับมนุษย์ ขณะนี้ธุรกิจในภาคเอกชนเริ่มปรับตัว ในการสัมภาษณ์งานจะวัดทักษะในการแก้ปัญหามากกว่าดูเกรดเฉลี่ย นอกจากนี้มีคนทำนายไว้ว่าว่า 90% ผู้ช่วยของคนจะอยู่ในสมาร์ทโฟนของตนเอง ธุรกิจที่ทำคอนเทน์ แพลทฟอร์ม จะอยู่ได้ในอนาคต รวมถึงแอพพลิเคชั่นด้วย ปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้ทำให้คนตกงานเสมอไปแต่กลับสร้างงานใหม่ให้คนในอนาคต เพราะเชื่อว่ามนุษย์อยู่เหนือ AI เพราะมนุษย์มีความคิดที่ลึกซึ้ง สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน และจับความรู้สึกของคนได้ดีกว่า แม้เราใช้หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์เข้าไปทำงานที่มีภาวะความเสี่ยงสูง เช่น กู้ภัย เมื่อเจอผู้รอดชีวิต มนุษย์ต้องเป็นคนตัดสินใจหรือสั่งการอีกครั้ง
“ขณะนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็ว สิ่งที่เราวิเคราะห์วันนี้อาจเกิดขึ้นในปีถัดไปก็ได้ DPU CORE พยายามปรับหลักสูตรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ปรับเนื้อหากิจกรรมบางอย่างเพื่อตอบโจทย์ทักษะให้ทันสมัย แต่สิ่งที่นักศึกษาจำเป็นต้องมีคือความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม(Mindset) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต แม้มีทักษะเบื้องต้นยังจำเป็นต้องเรียนรู้ต่อยอดเพิ่มเติม จึงอยากฝากให้ทุกคน เข้าถึงทักษะต่างๆให้ได้ เข้าใจว่า AI คืออะไร และใช้ประโยชน์จาก AI ให้ได้” นักวิจัยและผู้ชำนาญการอาวุโส DPU CORE
ขณะที่อาจารย์ดวงจันทร์ วรคามิน นักวิจัยและอาจารย์วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี(CIBA) กล่าวว่า ตลาดแรงงานในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปมาก งานที่ต้องใช้ทักษะประจำ หรืองานที่ทำซ้ำๆ อาทิ งานเสมียน งานบัญชี งานคีย์ข้อมูล เป็นต้น จะใช้ AI มาทดแทน ดังนั้นคนที่จะอยู่รอดในอนาคตต้องหมั่นเรียนรู้ ทักษะต่างๆที่ต้องใช้มีความสำคัญมาก เช่น การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การวิเคราะห์ หลายองค์กรต้องการคนที่มีคุณภาพ ส่วนสายอาชีพที่มีความต้องการในอนาคต คือ อาชีพดูแลผู้สูงอายุ เพราะสังคมผู้สูงวัยมีอัตราเพิ่มจำนวนมาก รวมถึงคลีนิคศัลยกรรมความงาม