ต่างประเทศ
กลุ่มผู้รอดชีวิตการทิ้งระเบิดปรมาณูในญี่ปุ่นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
คณะกรรมการโนเบลประกาศมอบรางวัลสาขาสันติภาพประจำปี 2024 ให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ร่วมกันทำงานเพื่อผลักดันให้โลกนี้ปราศจกซึ่งอาวุธนิวเคลียร์
คณะกรรมการโนเบลประกาศมอบรางวัลสาขาสันติภาพประจำปี 2024 ให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ร่วมกันทำงานเพื่อผลักดันให้โลกนี้ปราศจกซึ่งอาวุธนิวเคลียร์
ในการประกาศรายชื่อผู้รับรางวัลที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ในวันศุกร์ เจอร์เกน วัตเน ฟริดเนส ประธานคณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ เปิดเผยว่า องค์กร Nihon Hidankyo คือผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสำหรับ “การแสดงให้เห็นผ่านปากคำของพยานว่า ต้องไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกเลย”
สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกใส่ญี่ปุ่นในปี 1945 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 120,000 คนทันที และมีประชาชนจำนวนเท่า ๆ กันเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากแผลไหม้และผลกระทบของกัมมันตภาพรังสี ขณะที่ มีผู้รอดชีวิตอยู่ราว 650,000 คนที่มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ฮิบาคุชะ (Hibakusha)
แถลงการณ์ของคณะกรรมการโนเบลระบุว่า ชะตาชีวิตของผู้รอดชีวิตเหล่านั้นถูกปกปิดไว้หรือไม่สังคมก็ไม่ยอมรับรู้ และในปี 1956 สมาคมฮิบาคุชะหลายแห่งในญี่ปุ่นมารวมตัวกันกับเหยื่อของการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อสร้างกลุ่ม Nihon Hidankyo นี้ขึ้นมา
แถลงการณ์นี้เปิดเผยว่า กลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรฮิบาคุชะที่เป็นตัวแทนของคนกลุ่มนี้มากที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์หลัก 2 ข้อ ซึ่งก็คือ การส่งเสริมสิทธิด้านเศรษฐกิจและสังคมของฮิบาคุชะ ที่รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่นอกญี่ปุ่นด้วย และ เพื่อทำให้แน่จ่า ไม่มีใครจะตกเป็นเหยื่อของอาวุธนิวเคลียร์อีกเลย
ย้อนไปเมื่อปี 2020 จิโร ฮามาซุมิ วัย 74 ปีที่เป็นสมาชิกรายหนึ่งของ Nihon Hidankyo ให้สัมภาษณ์กับสื่อ AFP ว่า “ถ้าเราไม่พูดออกมา การทิ้งระเบิด(ปรมาณู)ก็จะถูกลืมเลือนไป เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเราต้องทำให้ประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าของพยานทั้งหลายยังคงอยู่เป็นบันทึกต่อไป”
คณะกรรมการโนเบลระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า องค์กรนี้ดำเนินแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่อ้างอิงข้อมูลจากประสบการณ์ของสมาชิก “มาช่วยสร้างและรวบรวมแรงต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ในวงกว้าง”
คณะกรรมการฯ ยังอ้างถึงสถานการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ ทั่วโลกและคำขู่ว่าจะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงครามทั้งหลาย และกล่าวว่า “ในจุดนี้ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราควรเตือนตัวเราเองว่า อาวุธนิวเคลียร์คืออะไร: (นั่นคือ) อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างมากที่สุดที่โลกเคยมีมา”
อันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์ในวันศุกร์เพื่อแสดงความยินดีต่อองค์กร Nihon Hidankyo และระบุว่านี่คือ “แกนนำของการเคลื่อนไหวเพื่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์โลก”
ในฐานะผู้รับรางวัลโนเบล องค์กร Nihon Hidankyo จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ที่จะมีการแบ่งปันเท่า ๆ กันในกลุ่ม
ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการที่กรุงออสโลในวันที่ 10 ธันวาคม ขณะที่ พิธีมอบรางวัลสาขาอื่น ๆ อันได้แก่ การแพทย์ ฟิสิกส์ เคมี วรรณกรรมและเศรษฐศาสตร์ จะจัดขึ้นในวันเดียวกันที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
ข้อมูลบางส่วนมาจากเอพี รอยเตอร์และเอเอฟพี