ต่างประเทศ
10 ปี ‘โจโกวี’ กับคำถามเรื่องประชาธิปไตยขาลงในอินโดนีเซีย
นักวิจารณ์และผู้สังเกตการณ์กล่าวกับรอยเตอร์ ในวาระที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดแห่งอินโดนีเซียกำลังจะลงจากตำแหน่ง สร้างทั้งภาพจำในแง่การพัฒนาของประเทศ รวมถึงคำถามเรื่องการทำลายประชาธิปไตยและส่งเสริมระบบอุปถัมภ์นิยม โจโก วิโดโด หรือที่เรียกกันว่า ‘โจโก
นักวิจารณ์และผู้สังเกตการณ์กล่าวกับรอยเตอร์ ในวาระที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดแห่งอินโดนีเซียกำลังจะลงจากตำแหน่ง สร้างทั้งภาพจำในแง่การพัฒนาของประเทศ รวมถึงคำถามเรื่องการทำลายประชาธิปไตยและส่งเสริมระบบอุปถัมภ์นิยม
โจโก วิโดโด หรือที่เรียกกันว่า ‘โจโกวี’ ดำรงตำแหน่งผู้นำครบสองวาระตามที่รัฐธรรมนูญอนุญาต และกำลังจะลงจากตำแหน่งในวันที่ 20 ตุลาคม และจะแทนที่ด้วยปราโบโว ซูเบียนโต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
แม้ตลอด 10 ปีภายใต้การนำของวิโดโด อินโดนีเซียมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแรงและมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ แต่นักวิจารณ์มองว่าเส้นเวลาเดียวกันก็ได้เห็นการหวนคืนมาของระบบอุปถัมภ์นิยม การเมืองวงศาคณาญาติ และความไม่โปร่งใสในศาลและสถาบันอื่น ๆ
นักวิเคราะห์มองด้วยว่าแนวโน้มปัญหาอาจจะดำเนินต่อไป หลังการส่งต่ออำนาจสู่ปราโบโว ผู้มีพื้นเพเป็นชนชั้นนำเดิม และอดีตนายทหารที่ถูกปลดจากข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขายังปฏิเสธมาโดยตลอด
เควิน โอรูค นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า “วิโดโดสร้างความเสียหายอย่างมากต่อประชาธิปไตยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” และการขึ้นมาของปราโบโวก็ถือว่าได้บ่อนทำลายประชาธิปไตยของประเทศแล้ว
วิโดโดหันมาสนับสนุนปราโบโวในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่แม้จะอยู่คนละพรรคกันแต่ก็มีลูกชายของวิโดโดลงสมัครในฐานะรองประธานาธิบดี
ที่ผ่านมา ปราโบโวเคยเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้บทบัญญัติเดิม ให้ประธานาธิบดีไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขาอธิบายว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่มี “ต้นทุน” “วุ่นวาย” และ “น่าเหนื่อยหน่ายมาก” แต่ “มีพื้นที่ให้พัฒนาอีกเยอะ”
โฆษกของปราโบโวไม่ได้ตอบรับคำขอความเห็นของรอยเตอร์
วิโดโดที่เข้าสนามการเมืองด้วยการชูจุดยืนด้านประชาธิปไตย ต่อต้านการทุจริตและการไม่มีเส้นสายกับกลุ่มชนชั้นนำทหารและพลเรือน แต่สิบปีผ่านไป กลับถูกกล่าวหาว่าพยายามแก้กฎหมายให้เอื้อประโยชน์ให้สมาชิกครอบครัว และใช้กลไกรัฐควบคุมศัตรูทางการเมือง
โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีไม่ตอบรับคำขอความเห็นจากรอยเตอร์ แต่วิโดโดกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมว่าประชาธิปไตยกำลังเติบโตในอินโดนีเซีย สะท้อนจากเสรีภาพการแสดงออกและการมีการเลือกตั้ง
ยันอวา นูโกรโฮ อดีตรองหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่รัฐบาล กล่าวว่า ผู้นำรายนี้สามารถทำตามสัญญาว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในวาระแรก เช่นการสร้างระบบประกันสุขภาพแห่งชาติที่ครอบคลุมประชากรมากกว่า 90% และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ บริหารเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะนิคเคิล ซึ่งเป็นสินแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
แต่ในวาระที่สอง เริ่มมีข่าวว่าทีมงานของเขาพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญให้สามารถอยู่ในอำนาจต่ออีกวาระ หรือไม่ก็ขยายเวลาในวาระดำรงตำแหน่งให้นานกว่า 5 ปี แต่ก็ไม่บรรลุผลสำเร็จ ก่อนที่วิโดโดจะห้ามไม่ให้เหล่ารัฐมนตรีพูดถึงเรื่องนี้อีก
นักวิชาการและนักวิจารณ์ยังห่วงกังวลต่อการที่รัฐบาลวิโดโดใช้ศาล หน่วยงานต่อต้านการทุจริตและสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง เช่นการข่มขู่คู่แข่ง
เมื่อเดือนสิงหาคม หัวหน้าพรรคโกลคาร์ แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต ประกาศลาออกอย่างฉับพลัน ซึ่งเกิดขึ้นหลังผู้สนับสนุนวิโดโดใช้ข้อกฎหมายการคอร์รัปชั่นมาข่มขู่ แอร์ลังกาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้ และทางทำเนียบประธานาธิบดีระบุว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับวิโดโดแต่อย่างใด
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญที่มีพี่เขยของวิโดโดเป็นประธาน ณ ขณะนั้น มีคำวินิจฉัยให้บุตรชายคนโตของวิโดโดวัย 37 ปีสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีได้ ด้วยการแก้ไขเกณฑ์เรื่องอายุ
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐสภายังได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้บุตรชายคนรองของวิโดโดสามารถลงแข่งขันในการเลือกตั้งระดับภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะเผชิญการประท้วงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจนต้องล้มเลิกข้อเสนอไป
ซานา จาฟฟรีย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Austrialian National University - ANU) กล่าวว่าผู้นำที่กำลังจะหมดวาระได้นำพาอินโดนีเซียไปสู่ขอบของประชาธิปไตย แต่ยังไม่ถึงจุดที่เป็นระบอบเผด็จการที่อนุญาตให้มีการแข่งขันเลือกตั้ง กระนั้น โครงสร้างของประชาธิปไตยที่มีอยู่ก็ไม่มีความหมายแล้ว
นักวิชาการจาก ANU มองว่าปราโบโวรับตำแหน่งผู้นำ ในช่วงเวลาที่ประเทศมีความเข้มแข็งขึ้นและมีระบบตรวจสอบรับผิดรับชอบน้อยลงยิ่งกว่าสมัยปี 1998 ที่ประเทศเริ่มดำเนินการปฏิรูปหลังเผด็จการซูฮาร์โต ซึ่งเป็นพ่อตาของปราโบโว ลงจากตำแหน่ง ที่มา: รอยเตอร์