ต่างประเทศ
รัฐบาลฮานอยอวดโฉมอาวุธ ‘เมด อิน เวียดนาม’ หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมกลาโหม
เวียดนามเตรียมอวดโฉมอาวุธที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ ในงานจัดแสดงนานาชาติที่กรุงฮานอย วันพฤหัสบดีนี้ ในระหว่างที่เวียดนามกำลังเดินเครื่องสนับสนุนอุตสาหกรรมกลาโหมของตน รวมทั้งหาช่องทางการส่งออกยุทโธปกรณ์ของประเทศ ผู้ร่วมออกบูธงานจัดแสดงยุทโธปกรณ์ที่กรุงฮ
เวียดนามเตรียมอวดโฉมอาวุธที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ ในงานจัดแสดงนานาชาติที่กรุงฮานอย วันพฤหัสบดีนี้ ในระหว่างที่เวียดนามกำลังเดินเครื่องสนับสนุนอุตสาหกรรมกลาโหมของตน รวมทั้งหาช่องทางการส่งออกยุทโธปกรณ์ของประเทศ
ผู้ร่วมออกบูธงานจัดแสดงยุทโธปกรณ์ที่กรุงฮานอยของเวียดนาม มีเกือบ 250 ราย มาจากสหรัฐฯ ยุโรป ตุรกี รวมทั้งหลายประเทศที่กำลังอยู่ในสมรภูมิ อาทิ อิสราเอล อิหร่าน รัสเซีย และยูเครน
ที่ผ่านมา เวียดนามเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ โดยเฉพาะจากรัสเซีย แต่ระยะหลัง ๆ รัฐบาลกรุงฮานอยได้ลงทุนเสริมศักยภาพด้านกลาโหม ในระหว่างที่เวียดนามมีข้อพิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้ และเมื่อไม่นานมานี้เวียดนามได้เดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศและกระตุ้นการส่งออกอาวุธเป็นวาระสำคัญอันดับต้น ๆ อ้างอิงจากกระทรวงกลาโหมเวียดนามที่ย้ำถึงเรื่องนี้หลายครั้ง
Viettel บริษัทอาวุธที่รัฐบาลเวียดนามเป็นเจ้าของ นำทีมบริษัทด้านอาวุธในเวียดนาม ในการจัดแสดงยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ ระบบป้องกันขีปนาวุธ โดรน เรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศ รถหุ้มเกราะ และกระสุนปืนใหญ่ ตามรายงานของสื่อของกระทรวงกลาโหมเวียดนาม
เหวียน เถือ ฟง ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเวียดนาม จาก University of New South Wales ในออสเตรเลีย กล่าวว่า อาวุธบางอย่างถือเป็นการอวดโฉมครั้งแรกในงานนี้ และว่ายุทธศาสตร์สำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมท้องถิ่น คือการลงนามกับผู้ส่งออกอาวุธต่างชาติให้เข้ามาผลิตชิ้นส่วนอาวุธในเวียดนาม
ก่อนหน้านี้เวียดนามได้หารือกับบริษัทเกาหลีใต้ ในการทำข้อตกลงผลิตกระสุนปืนใหญ่และชิ้นส่วนเครื่องบิน และมีการหารือที่คล้ายกันนี้กับบริษัทของประเทศอื่น ๆ อาทิ สาธารณรัฐเช็ก
เปิดฟลอร์ให้คู่ขัดแย้งอวดเขี้ยวเล็บด้านการทหาร
ในนิทรรศการอาวุธนี้ กระทรวงกลาโหมอิหร่าน จะได้พื้นที่จัดแสดงทั้งพาวิลเลียน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบริษัท Aerospace Industries และ Rafael Advanced Defense Systems ของอิสราเอล
ไม่เพียงแค่นั้น ในงานจะจัดแสดงบูธของบริษัทอาวุธรัสเซีย และมีบริษัท Motor Sich ของยูเครน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ของเครื่องบินมาร่วมงานนี้ด้วย
ฝั่งตุรกีถือเป็นแขกพิเศษรายใหญ่ในงาน เนื่องจากมีบริษัทด้านกลาโหมของตุรกีกว่าสิบแห่ง รวมทั้ง Aselsan, Turkish Aerospace Industries และ Roketsan เข้าร่วมงานนี้
ส่วนจีนมีผู้ร่วมออกบูธ 2 บริษัท รวมถึงบริษัท Norinco และเป็นครั้งแรกที่จีนส่งบริษัทด้านกลาโหมมาร่วมงานนิทรรศการอาวุธในเวียดนาม
สหรัฐฯ ยักษ์ใหญ่หลายเจ้าเข้าร่วมงานนี้ อาทิ Lockheed Martin, Boeing และ Textron Aviation Defense โดยบริษัทอเมริกันอยู่ระหว่างการหารือกับทางการเวียดนามในการขายเฮลิคอปเตอร์ อย่าง Lockheed Martin กำลังหารือดีลขายเครื่องบิน C-130 Hercules อยู่ อ้างอิงจากรอยเตอร์
ส่วนบราซิล บริษัท Embraer จัดแสดงเครื่องบิน C-390 Millennium คู่แข่งของ C-130 ในงานนี้
ด้านยุโรปส่งหลายบริษัทเข้าร่วมงาน อาทิ Airbus และ Thales Group ของฝรั่งเศส, BAE Systems ของอังกฤษ, Rheinmetall ของเยอรมนี และ Leonardo ของอิตาลี ที่มา: รอยเตอร์