ต่างประเทศ
มองสัมพันธ์จีน-อินเดีย 2024: หอกข้างแคร่ หรือมิตรแท้ทางเศรษฐกิจ
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของจีนและอินเดียที่เคยบาดหมางเย็นชาเพราะปัญหาตามแนวพรมแดนเทือกเขาหิมาลัย เริ่มละลายและกลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าความไม่เชื่อใจซึ่งกันและกันยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ฉันท์มิตรข
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของจีนและอินเดียที่เคยบาดหมางเย็นชาเพราะปัญหาตามแนวพรมแดนเทือกเขาหิมาลัย เริ่มละลายและกลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าความไม่เชื่อใจซึ่งกันและกันยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ฉันท์มิตรของสองชาติมหาอำนาจแห่งเอเชียคู่นี้
ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนของจีนและอินเดียความยาว 3,488 กม. บริเวณเทือกเขาหิมาลัย ปะทุขึ้นเมื่อปี 2020 เมื่อเกิดการปะทะกันของทหารทั้งสองฝ่าย ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 20 คน และทหารจีนเสียชีวิต 4 คน
หลังจากนั้น ทั้งสองประเทศต่างพยายามหาทางบรรเทาความขัดแย้งนี้ผ่านการเจรจาทางการทูต รวมทั้งการพบกับเมื่อเดือนตุลาคม ระหว่างประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี นอกรอบจากการประชุมกลุ่ม BRICS ที่รัสเซีย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย สุพรหมณยัม ชัยศังกระ กล่าวต่อรัฐสภาในเดือนนี้ว่า การถอนทหารของสองประเทศออกจากแนวพรมแดนที่ติดกันในแถบเทือกเขาหิมาลัย ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ของจีนและอินเดียกลับสู่เส้นทางที่ดีขึ้น แต่ยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนดังกล่าวเอาไว้
รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย กล่าวว่า "การรักษาสันติภาพและความสงบบริเวณพรมแดนถือเป็นเงื่อนไขแรกก่อนที่จะมีการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองประเทศ"
แม้ทหารจีนและอินเดียต่างยอมถอยออกมาจากการประจันหน้าตรงชายแดน แต่ยังคงมีกำลังพลหลายหมื่นคนที่ประจำการในแถบเทือกเขาหิมาลัยตลอดห้าปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับปืนใหญ่และเครื่องบินรบไอพ่นที่ยังเตรียมพร้อมไม่ไกลจากแนวชายแดน
ศาสตราจารย์สวาราน ซิงห์ แห่งภาควิชาการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยชวาหะร์ลาล เนห์รู ในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า "บรรยากาศบริเวณชายแดนนั้นตึงเครียดมาตลอดสี่ปี การเปลี่ยนให้เป็นความสงบนั้นต้องใช้มาตรการเชิงโครงสร้างทั้งในการปฏิบัติ ขวัญกำลังใจและจิตวิทยา ซึ่งล้วนต้องอาศัยเวลา"
การเจรจาระดับสูงทางการทูตเพื่อหารือข้อพิพาทนี้มีขึ้นอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย อาจิต โดวัล ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันร่วมหาแนวทางจัดการความขัดแย้งนี้อย่าง "ยุติธรรม สมเหตุสมผล และยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย"
นอกจากนี้ ยังตกลงกันที่จะยินยอมให้ผู้แสวงบุญจากอินเดียสามารถเดินทางไปยังทิเบตได้ รวมทั้งฟื้นฟูการค้าข้ามพรมแดนผ่านช่องเขาในแถบนั้นด้วย
ศาสตราจารย์สวาราน ซิงห์ ชี้ว่า "ประเด็นตามแนวพรมแดนเป็นสิ่งที่อินเดียต้องการแก้ไขจัดการเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะเริ่มขยายการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เป็นปกติกับจีน"
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
แม้ยังคงมีการขัดแย้งด้านการทหาร แต่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดียกลับรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยอินเดียนั้นต้องการเพิ่มการนำเข้าจากจีนเพื่อยกระดับอินเดียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตในเอเชีย ในขณะที่จีนก็ต้องการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ในอินเดียเช่นกัน
ฮาร์ช แพนท์ รองประธานมูลนิธิ Observer Research Foundation ในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า "แม้ความสัมพันธ์ทางการเมืองอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศกลับเติบโตอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนอินเดียได้เปิดรับสินค้าจีนมากขึ้นในบางอุตสาหกรรม"
อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นข้อพิพาทตามแนวพรมแดน อินเดียยังคงมีความกังวลเรื่องการขยายอิทธิพลของจีนในทหาสมุรอินเดีย ซึ่งรวมถึงการสร้างท่าเรือในศรีลังกา ปากีสถาน และเมียนมา
ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่าอินเดียจะยังคงกระชับสัมพันธ์กับขั้วชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ต่อไปด้วยเพื่อคานอำนาจของจีน
ฮาร์ช แพนท์ มองว่า "ทั้งอินเดียและสหรัฐฯ ต่างมุ่งหวังสร้างเครือข่ายภูมิยุทธศาสตร์แบบเฉพาะในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งการมีเสรี สมดุล ครอบคลุม เปิดกว้างและยุติธรรม ซึ่งแนวคิดนี้จะยังคงทำให้ความสัมพันธ์ (ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ) เดินหน้าต่อไป"
ปัจจุบัน อินเดียกับสหรัฐฯ ร่วมมือกันในหลายด้าน ตั้งแต่การทหารไปจนถึงเทคโนโลยีระดับสูง และอเมริกายังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอินเดียด้วย
โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย กล่าวกับนิตยสารการต่างประเทศ ‘India’s World’ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ความสัมพันธ์ของอินเดียและสหรัฐฯ นั้น "ยิ่งใหญ่และสำคัญ" และจะแน่นแฟ้นต่อไปแม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความเห็นแตกต่างกันในบางเรื่องก็ตาม ที่มา: วีโอเอ