อธิการบดี มข. มอบนโยบายยกระดับสำนักบริการวิชาการ จัดตั้งเป็น College of Arts and Science
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับผู้บริหารและบุคลากร สำนักบริการวิชาการ พร้อมการส่งมอบตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ จาก รศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ รักษาการผ
- Apr 05 2021
- 108
- 8139 Views
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับผู้บริหารและบุคลากร สำนักบริการวิชาการ พร้อมการส่งมอบตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ จาก รศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มอบให้ รศ.นสพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ที่ได้รับการสรรหาและจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน 2564 วาระ 4 ปี ณ ห้องประชุมดุสิตตา สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวเปิดกิจกรรมและบรรยายพิเศษหัวข้อ “นโยบายและทิศทางของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการปรับเปลี่ยน สำนักบริการวิชาการ” มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การยกระดับสำนักบริการวิชาการให้เป็น College of Arts and Science เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ การปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร รูปแบบการเรียนรู้ยุคใหม่ และความต้องการของประชากรแต่ละรุ่นอายุที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต มีผลต่อมหาวิทยาลัยซึ่งมีหน้าที่ผลิตบุคลากรให้กับสังคมให้พร้อมรับเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบอุตสาหกรรม 4.0 การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลต่อทักษะที่จำเป็นในการทำงาน รวมถึงการใช้ชีวิตในอนาคต โดยบทบาทหน้าที่ของสำนักบริการวิชาการ จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ
ด้านที่ 1 คือ ภารกิจด้านบริการวิชาการสู่ชุมชน เป็นภารกิจเดิมที่จะส่งเสริมให้ทำต่อ โดยจะรวมเอาสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม เข้ามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการพัฒนาและบริการวิชาการ เหมือนกัน เมื่อควบรวมเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะส่งเสริมการทำงานด้านการพัฒนาและบริการวิชาการให้คลอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ด้านที่ 2 การสร้างหลักสูตรสำหรับประชาชนทุกกลุ่มอายุ หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดการเรียนรู้เป็นชุดวิชา (Modular system) แบบไม่ต้องการปริญญา (Non-degree) เช่น การสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการ (Re Skill) และ การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Up Skill)
ด้านที่ 3 การสร้างหลักสูตรใหม่ เป็นหลักสูตรที่เน้นผลสัมฤทธิ์ มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ เช่น หลักสูตรด้าน Culinary Science and Technology เพื่อการเป็น “เชฟ” (chef) ที่ต้องอาศัยความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอาหาร มาผสานกับองค์ความรู้ด้านศิลปะ รวมถึง หลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ หรือ AI in Healthcare เป็นต้น
เขียนข่าว ชุตินันท์ พันธ์จรุง
ถ่ายภาพ ณัฐวุฒิ เพชรประไพ
ข่าวด่วน
ทวิตเตอร์ @easymediaasia