ศวปถ. ห่วงขยายเวลาปิดผับตี 4 คาดเกิดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้น 27%
จากนโยบายที่จะขยายเวลาปิดสถานบันเทิงจากเดิม 02.00 น. ไปเป็นเวลา 04.00 น. ได้แก่ ถนนบางลาภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย เมืองพัทยา และ 3 พื้นที่ใน กทม. คือ ถนนข้าวสาร ซอยคาวบอย และซอยพัฒน์พงศ์ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (
- Nov 29 2022
- 134
- 9195 Views
ศวปถ. ห่วงขยายเวลาปิดผับตี 4 คาดเกิดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้น 27% หรือมีผู้เสียชีวิตจากดื่มแล้วขับสูงเพิ่มจากเดิม 10-20 ราย/วันหากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ขอรัฐประเมินผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน
จากนโยบายที่จะขยายเวลาปิดสถานบันเทิงจากเดิม 02.00 น. ไปเป็นเวลา 04.00 น. ได้แก่ ถนนบางลาภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย เมืองพัทยา และ 3 พื้นที่ใน กทม. คือ ถนนข้าวสาร ซอยคาวบอย และซอยพัฒน์พงศ์ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงติด 1 ใน 10 จังหวัดของไทย จังหวัดท่องเที่ยวเหล่านี้ เป็นพื้นที่เสี่ยงสำคัญของปัญหา “ดื่มแล้วขับ หรือ เมาขับ” สะท้อนจากข้อมูลการดำเนินคดีดื่มแล้วขับในช่วงสงกรานต์ 2565 มีจำนวนคดีทั้งประเทศ 15,451 คดี พบว่าจังหวัดชลบุรี มี 597 คดี ติดอันดับ 5 ของประเทศ เชียงใหม่มี 571 คดี อยู่ในอันดับ 6 และ กรุงเทพมี 432 คดี ติดอันดับที่ 13 และ เหตุการณ์ล่าสุดที่เป็นข่าวดังของชลบุรี คือ นักฟุตบอลชลบุรีเอฟซี เมาขับในช่วงตี 4 กว่าๆ ชนผู้ที่มาออกกำลังกายตอนเช้าเสียชีวิต
“ศวปถ. ได้ประเมินสถานการณ์อุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับจากขยายเวลาปิดผับตี 4 โดยสรุปได้ดังนี้ 1. ปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุทางถนนภาพรวม 1,000 – 1,200 คน/วัน และจะพบแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ 15-20% 2. อุบัติเหตุทางถนนจากดื่มแล้วขับ 150 -200 คน/วัน โดย 3 ใน 4 เกิดในเวลากลางคืน เฉลี่ย 112 คน/วัน และหากเปิดผับถึงตี 4 โดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น อุบัติเหตุอาจเพิ่มขึ้นถึง 27%หรือประมาณการผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นระหว่าง 170-220 คน/วัน แต่ถ้ามีขยายเวลาเป็นตี 4 ควบคู่กับการกวดขันเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย เช่น ด่านตรวจดื่มแล้วขับเข้มตลอดคืน โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืน-เช้า ก็คาดว่าจะช่วยสกัดคนเมาขับได้เพิ่ม 30-50% และช่วยลดผลกระทบได้ 10 ราย/วัน” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า สถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับ ปี 2560 – 2562 จากศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงกลางคืน (เวลา 18.00 – 6.00 น.) มากกว่าช่วงกลางวัน (เวลา 6.00 – 17.00 น.) ถึง 75% ข้อมูลการเปรียบเทียบมาตรการการบังคับใช้กฎหมาย และการเสียชีวิตจากพฤติกรรมเสี่ยงในช่วงเทศกาล 7 วันอันตราย จากฐานข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนปี 2565 พบว่า การบังคับใช้กฎหมายที่ลดลง 3.14% จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตขึ้นถึง 2.51% และที่สำคัญการขยายเวลาปิดผับตี 4 ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ต้องขยายเวลาหรือเพิ่มจำนวนการตั้งด่านตรวจดื่ม-เมาขับออกไปจากเดิมที่กำหนดกรอบอัตรากำลังไว้เพียง 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 1 หรือ 1-2 ชั่วโมง/วัน ดังนั้น นโยบายขยายเวลาเปิดผับ ต้องประเมินผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากคนเมาขับ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างยิ่งที่ห่วงใยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาที่จะมีการขยายการเปิดเพิ่มมากขึ้น