“แขกไทยในแดนเดียว” มองความต่างอย่างเข้าใจ ในสารคดี “Some One หนึ่งในหลาย
หากแต่ที่ผ่านมา สังคมไทยส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้จักตัวตนของชาวไทยเชื้อสายอินเดีย มากไปกว่าภาพรูปลักษณ์ภายนอกและภาพจำของการเป็น “แขกขายผ้า” ย่านพาหุรัด หรือ “คนขายถั่ว-ขายโรตี” แม้แต่คำเรียกขานว่า “อาบัง” หรือ “แขก” นำหน้าชื่อ ซึ่งอาจจะเลยเถิดกลายเป็นการล
- Dec 10 2022
- 154
- 7472 Views
สารคดี Some One หนึ่งในหลาย ตอน “แขกไทยในแดนเดียว” นำเสนอเรื่องราวชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็น รากลักษณ์ พหุสังคม แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของพหุสังคมที่แทรกอยู่ในวิถีไทย
หากแต่ที่ผ่านมา สังคมไทยส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้จักตัวตนของชาวไทยเชื้อสายอินเดีย มากไปกว่าภาพรูปลักษณ์ภายนอกและภาพจำของการเป็น “แขกขายผ้า” ย่านพาหุรัด หรือ “คนขายถั่ว-ขายโรตี” แม้แต่คำเรียกขานว่า “อาบัง” หรือ “แขก” นำหน้าชื่อ ซึ่งอาจจะเลยเถิดกลายเป็นการละเมิดและละเลยความเป็นมนุษย์ด้วยกันอย่างไม่รู้ตัว อย่างที่คุณไอลดา พิศสุวรรณ ผู้ดำเนินรายการกล่าวเชิงตั้งคำถามว่า
“คำว่า แขก ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบนะคะ แต่ว่าหลายครั้งคำนี้ก็ถูกใช้ในลักษณะของการเหมารวมหรือการด้อยค่าค่ะ อย่างเช่น ความเข้าใจที่ว่า แขกจะต้องขายโรตี แขกต้องขายถั่ว หรือว่าต้องขายผ้า จริง ๆ แล้ว เรื่องราวของผู้มาเยือนหรือผู้มาอยู่ มีที่มาที่ไปยาวนานค่ะ แต่วันนี้มันเกิดอะไรขึ้น จึงเกิดเรื่องของการมองต่างทางวัฒนธรรม เกิดเป็นการแบ่งเขาแบ่งเรา”
เป็นการตั้งข้อสังเกต และเชิญชวนให้หาคำตอบร่วมกัน เพราะจะว่าไปแล้ว สังคมไทยรับวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งประเพณีราชสำนัก วรรณกรรม อาหารการกิน ศาสนาและความเชื่อมาอย่างยาวนานเหลือเกิน
“อินเดีย” มีความสัมพันธ์กับไทยมากว่า 2,000 ปีแล้ว จึงเป็นพื้นฐานทางด้านศาสนา ภาษา สังคม และวัฒนธรรมของไทย อย่างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวอินเดียอพยพเข้าทำงานเป็นข้าราชการในประเทศไทย ในฐานะคนในบังคับของอังกฤษ เป็นพ่อค้าผ้า นำเข้า-ส่งออกสินค้า ต่อมาภายหลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอินเดีย มีชาวอินเดียอพยพเข้ามาในประเทศไทยอีกระลอก พระองค์ได้พระราชทานพื้นที่ชานพระนคร คือ “พาหุรัด” ให้เป็นที่อยู่ของชาวอินเดีย ซึ่งประกอบอาชีพค้าผ้าเป็นส่วนใหญ่ จนกลายเป็นที่รู้จักในนาม Little India แหล่งค้าผ้าขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ชาวไทยเชื้อสายอินเดียเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย มีจำนวนราวสองแสนคน ประกอบธุรกิจประเภทต่าง ๆ นอกเหนือจากการค้าผ้า เช่น เจ้าของธุรกิจโรงแรม คอนโดมีเนียม ไอที ทัวร์ ธุรกิจส่วนตัว อัญมณี นักร้อง โรงงาน อุตสาหกรรม แพทย์ ทนายความ นักวิชาการ เป็นต้น
นอกจากนี้ คลื่นชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยอีกระลอกคือราว 50 ปีเศษที่ผ่านมา เพื่อเข้ามาประกอบธุรกิจต่างๆ และเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม
ชาวไทยเชื้อสายอินเดียมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมไทย อีกทั้งมีความรักในประเทศไทยอย่างมั่นคง นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการดูแล และช่วยเหลือสังคมไทยผ่านการบริจาคให้กับโครงการต่าง ๆ รวมทั้งผู้คนที่เดือดร้อน และขาดแคลนใน มาอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ชาวไทยเชื้อสายอินเดียจึงเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ และสังคมของไทยที่สามารถเป็นผู้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้วยการดำเนินชีวิตที่ยังอยู่ในกรอบของศาสนา และขนบจารีตประเพณีของบรรพบุรุษจึงทำให้ชาวไทยเชื้อสายอินเดียยังสามารถธำรงอัตลักษณ์ และรูปลักษณ์ของชาวภารตะไว้ได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ชาวไทยเชื้อสายอินเดียก็อยู่ร่วมกับชาวไทยเชื้อสายต่างๆ ได้อย่างสงบสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และไม่มีความขัดแย้ง แม้ว่าชาวไทยบางส่วนจะมีความรู้สึกแปลกแยกกับชาวไทยเชื้อสายอินเดียอยู่บ้าง อาจเป็นเพราะยังไม่รู้จักกันนั่นเอง อย่างที่ ภครวรรณ นาลูลา ผู้จัดการร้านปัญจามสวีท กล่าวทิ้งท้าย ซึ่งบ่งบอกถึงความรู้สึกได้เป็นอย่างดี
“ภูมิใจในความเป็นคนไทย ภูมิใจในความที่นับถือศาสนาซิกข์ หน้าพี่จะเป็นคนอินเดีย แต่ฉันคือไทยเนชั่น มีบัตรประชาชน มีเลขสิบสามหลัก เกิดที่นี่ โตที่นี่ และภูมิใจในความเป็นไทยซิกข์แบบนี้”
“แขกไทยในแดนเดียว” โดยนักวิจัยที่ปรึกษาหลัก รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา คณะนักวิจัยที่ปรึกษา อภิรัฐ คำวัง, รองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ จะช่วยเปิดมิติความเข้าใจโลกทัศน์ วิถีชีวิต และความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายอินเดีย และความย้อนแย้งของการดำรงอยู่ของพวกเขาในสังคมไทยที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก
ติดตามรับชมสารคดี “SOME ONE หนึ่งในหลาย” ตอน “แขกไทยในแดนเดียว” ทางสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ช่อง MCOT HD 30 ในวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 เวลา 09.30-10.00 น. (โดยประมาณ) รวมทั้งช่องทางโชเชียลมีเดีย Facebook Fanpage และ Youtube Channel ภายใต้ชื่อ SOME ONE หนึ่งในหลาย และช่องทางพันธมิตรเครือข่าย