สำนักงานผสานรุ่น ความลงตัวในหนึ่งเดียว
ท่ามกลางเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและเทคโนโลยีSOMEONE...หนึ่งในหลาย จะพาไปพบกับการส่งไม้ต่อของคนทำงาน จากรุ่นสู่รุ่น จากคนต่าง GEN สู่งานที่เป็นหนึ่งเดียวขององค์กร ตอน “สำนักงานผสานรุ่น” มาดูกันว่าวิธีการและแนวคิดที่คนรุ่นเก่าจำเป็นต้องเรียนรู้ แล
- Jan 24 2023
- 152
- 8437 Views
ท่ามกลางเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและเทคโนโลยีSOMEONE...หนึ่งในหลาย จะพาไปพบกับการส่งไม้ต่อของคนทำงาน จากรุ่นสู่รุ่น จากคนต่าง GEN สู่งานที่เป็นหนึ่งเดียวขององค์กร ตอน “สำนักงานผสานรุ่น” มาดูกันว่าวิธีการและแนวคิดที่คนรุ่นเก่าจำเป็นต้องเรียนรู้ และเด็กรุ่นใหม่ก็ต้องเข้าใจ จะเป็นอย่างไร ติดตามได้วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคมนี้
ปัญหาในการทำงานร่วมกันระหว่างคนต่างรุ่นในยุคปัจจุบัน ยังคงมีให้เห็นในหลาย ๆ องค์กร สาเหตุเกิดจากประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่าง วิธีคิด ทัศนคติ และสภาพแวดล้อมที่เติบโตของแต่ละคน
คนรุ่นใหม่ไม่น้อย ที่ไม่ศรัทธาคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน เพียงเพราะไม่เชื่อว่า “ความอาวุโส” จะสามารถทำอะไรแล้วถูกทุกอย่าง ขณะที่คนรุ่นเก่าบางส่วน ก็ปิดกั้นตัวเอง ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของเด็ก และใช้วิธีการออกคำสั่งแทนที่รับฟัง
มีกรณีศึกษา 3 ธุรกิจ 3 ขนาดกิจการ ที่คนต่างรุ่นต้องทำงานร่วมกัน พวกเขาเดินบนเส้นทางการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้เพื่อปรับตัวเข้าหากันอย่างน่าสนใจ
ในครอบครัวที่มีธุรกิจกงสี อย่าง “รองเท้าทำมือ” ที่มีอายุเก่าแก่ยาวกว่า 70 ปี แต่เมื่อถึงมือรุ่นที่ 3 พวกเขากลับมีความคิดว่า ไม่จำเป็นที่คนในบ้านจะต้องทำอะไรให้เหมือนๆ กัน และตั้งธงไว้ด้วยว่า จะไม่ขอสานต่อกิจการของครอบครัว พร้อมกับประกาศกร้าวว่า “ขายไปเลย ไม่ทำแล้ว”
นั่นเป็นความคิดของวันวาน แต่ในวันที่พวกเขาเติบโต ก็ได้รับโอนโรงงานทำรองเท้ามาสานต่อแล้ว ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป จึงพอสะท้อนได้ว่า ที่คิดปฏิเสธการสานต่อในช่วงแรกอาจเป็นเพราะช่วงวัย และความคิดที่มุ่งจะทำงานในสายอาชีพที่ร่ำเรียนมามากกว่า
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่มีความยากในการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งการบริหารจัดการที่ยาก มีความสลับซับซ้อน อ่อนไหว มีเรื่องของผลประโยชน์ และอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งกว่าจะเปิดใจและเดินเข้าไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ พวกเขาต้องใช้เวลานานทีเดียว
ยังมีอีกตัวอย่าง แต่เป็นองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หรือหลักกสิกรรมธรรมชาติ ที่ทำงานแห่งนี้เราเห็นภาพคนทำงานวัย 62 ปี ซึ่งถือว่าเป็น Gen Babyboom เขามีทัศนคติว่า คนที่ร่วมงานทุก Gen จะต้องปรับตัวเข้าหากัน ไม่ว่าใครจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม
ชายวัยเลยเกษียณผู้นี้ เป็นผู้ใหญ่ที่เป็นผู้รับฟังมากกว่าพูด หรือออกคำสั่ง ขณะที่ผู้ร่วมงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เอง ก็พยายามปรับตัวและก็เรียนรู้จากรุ่นพี่ ผู้มีประสบการณ์มากกว่า ไม่ว่าประสบการณ์นั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม แต่ก็ทำให้เห็นภาพการทำงานชัดขึ้น ซึ่งแนวคิดจากทั้งคน 2 GEN นี้ ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรใหม่ขึ้นมาอย่างน่าประทับใจ
การเปิดใจมองถึงไลฟ์สไตล์ของกันและกัน แม้จะเห็นถึงความแตกต่าง แต่ในที่สุดก็จะเข้าใจได้ อย่างเช่น วิธีการทำงาน คนรุ่นก่อนอาจจะเน้นการทำงานหนักแบบ Work Hard, Over Time ซึ่งคน Generation X และ Y มองว่าการทำงานหนักและเหนื่อยเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงตามเวลา พวกเขาจึงเลือกใช้ชีวิตแบบ Work Life Balance คือเต็มที่กับงาน แต่พอถึงเวลาพักก็ต้องเต็มที่ด้วยเช่นกัน
สำหรับตัวอย่างอีกองค์กร ที่ให้อิสระทางความคิดด้านเทคโนโลยี การออกแบบ และสร้างสรรค์ ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งรุ่นน้องที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง และหัวหน้างานวัย 40-50 ปีผู้มาก่อนและเต็มไปด้วยประสบการณ์
การวางตัวของ “ลูกพี่” ของบริษัทนี้ จะเป็นคนคอยไกด์ให้ “ลูกน้อง” มีทิศทางการทำงานที่ชัดเจน พร้อมกันนั้นก็เชื่อมั่นว่า “ทีม” จะไม่หลงทาง และปล่อยมือให้หาทางลัดในการทำงานได้อย่างอิสระ จนเมื่องานออกมาสำเร็จ ไม่เพียงลูกน้องจะภูมิใจในผลงาน แต่เป็นลูกพี่ที่ได้เรียนรู้ว่า ทำแบบนี้ก็ไปถึงเป้าหมายได้เหมือนกัน
จะเห็นว่าทุกๆ ที่ทำงาน ควรมีความหลากหลายของ Generation เพราะทักษะของแต่ละรุ่นจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นคน Type เดียวกันหมด คิดเหมือนกันหมด องค์กรคงย่ำอยู่กับที่ และไปไม่รอดในที่สุด
ติดตามสารคดี “SOME ONE หนึ่งในหลาย” ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.30 น. ทาง MCOT HD 30 ชมย้อนหลังทาง Facebook และ YouTube : สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย