logologo

Easy Branches ให้คุณแบ่งปันโพสต์แขกของคุณภายในเครือข่ายของเราในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก เริ่มแบ่งปันเรื่องราวของคุณวันนี้!

Easy Branches

34/17 Moo 3 Chao fah west Road, Phuket, Thailand, Phuket

Call: 076 367 766

info@easybranches.com
เศรษฐกิจ

“ซับเวย์” เปลี่ยนสู่มือ “พีทีจี” ตั้งเป้าขยาย 500 สาขาใน 10 ปี เปิดโมเดล “ไดรฟ์ทรู” ที่ปั๊มพีที นครชัยศรี

“ซับเวย์” (Subway) ในไทยเปลี่ยนมืออีกครั้งหลัง “โกลัค” ได้สิทธิบริหารมาสเตอร์แฟรนไชส์ โดยบริษัทนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างยักษ์พลังงาน “พีทีจี” กับ “เพชรัตน์ อุทัยสาง”​ ผู้บริหารมือเก๋าในวงการ QSR เตรียมลงทุนเพิ่มปีละ 50 สาขา รวม 10 ปี 500 สาขา และจะเป็


  • Apr 25 2024
  • 89
  • 2568 Views
  • “ซับเวย์” (Subway) ในไทยเปลี่ยนมืออีกครั้งหลัง “โกลัค” ได้สิทธิบริหารมาสเตอร์แฟรนไชส์ โดยบริษัทนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างยักษ์พลังงาน “พีทีจี” กับ “เพชรัตน์ อุทัยสาง”​ ผู้บริหารมือเก๋าในวงการ QSR
  • ปัจจุบันซับเวย์ในไทยมีอยู่ 148 สาขา โกลัคจะลงทุนเพิ่มปีละ 50 สาขา รวม 10 ปี 500 สาขา และจะเป็น Top 3 ในธุรกิจ QSR เมืองไทยภายใน 3 ปี
  • โมเดลร้านแบบใหม่จะเปิดร้านแบบ “ไดรฟ์ทรู” ที่ปั๊มพีที นครชัยศรี ภายในไตรมาส 4

“บริษัท โกลัค จำกัด” ประกาศได้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์แต่เพียงผู้เดียวของแบรนด์ร้าน “ซับเวย์” (Subway) ในไทยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 โดยบริษัทนี้เป็นบริษัทร่วมทุนของยักษ์ใหญ่พลังงานอย่าง “บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี” (PTG) ถือหุ้น 70% กับ “เพชรัตน์ อุทัยสาง” ถือหุ้น 30% (รวมทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล)

(ซ้าย) “พิทักษ์ รัชกิจประการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี และ (ขวา) “เพชรัตน์ อุทัยสาง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลัค จำกัด

“พิทักษ์ รัชกิจประการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี กล่าวว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) คือ 1 ใน 8 ธุรกิจหลักที่บริษัทจะเข้าลงทุนตามแผนการกระจายพอร์ตโฟลิโอ (Diversify) โดยพีทีจีมี F&B ที่เป็นเรือธงอยู่แล้วอย่าง “กาแฟพันธุ์ไทย” ที่ขยายไปกว่า 800 สาขาทั่วประเทศ การได้สิทธิร้าน “ซับเวย์” เข้ามาในพอร์ตจะเป็นจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงในการขยายพอร์ตธุรกิจนี้ให้กว้างขึ้น โดยจะใช้โกลัคเป็นบริษัทที่คว้าสิทธิการบริหาร F&B แบรนด์อื่นๆ เข้ามาอีกในอนาคต

ปัจจุบันธุรกิจกลุ่มที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ในรายได้รวมของพีทีจี พิทักษ์กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายจะทำให้สัดส่วนกลุ่มนี้ขึ้นไปแตะ 40-50% ภายในปี 2570

 

โหมขยาย 500 สาขา “ซับเวย์” ภายใน 10 ปี

“เพชรัตน์ อุทัยสาง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลัค จำกัด กล่าวต่อถึงเป้าหมายของ “ซับเวย์” ในไทยภายใต้การบริหารของโกลัค จะมีการขยายสาขารวม 500 สาขาภายใน 10 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 50 สาขา โดยใช้งบลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 4-5 ล้านบาท

จากเป้าหมายดังกล่าว เชื่อว่าซับเวย์จะได้ขึ้นเป็น Top 3 ร้านอาหารประเภทจานด่วน หรือ QSR (Quick Service Restaurant) ในไทยภายใน 3 ปี โดยวัดทั้งจากด้านรายได้และจำนวนสาขา

หากวัดจากจำนวนสาขา Positioning พบว่าถ้าซับเวย์ขยายได้ตามเป้า อนาคตจะเป็นรองแค่เพียง “KFC” ที่เปิดไปมากกว่า 1,000 สาขา (*รวมสิทธิแฟรนไชส์ของทุกบริษัท) และ “แมคโดนัลด์” ซึ่งมีกว่า 220 สาขาในปัจจุบัน

ซับเวย์
ตัวอย่างเมนูแซนด์วิชของซับเวย์

เพชรัตน์กล่าวต่อว่า แผนการเปิดสาขาจะมีการขยายไปทุกจุดที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ โรงพยาบาล สนามบิน ตึกสำนักงาน และสถานีน้ำมัน ซึ่งกรณีสาขาในปั๊มน้ำมันจะไม่มีการจำกัดโอกาสเรื่องที่ตั้ง สามารถเปิดในปั๊มน้ำมันได้ทุกแบรนด์

นอกจากสถานที่ตั้งแล้ว เพชรัตน์มองว่าซับเวย์จะต้องเจาะตลาดต่างจังหวัดให้มากกว่าเดิม โดยวางเป้าจะบุกตลาดเมืองท่องเที่ยวและหัวเมืองการศึกษาเป็นหลัก เช่น ภูเก็ต เมืองพัทยา ขอนแก่น เชียงใหม่

ซับเวย์ ภายใต้โกลัคจะเริ่มเปิดสาขาแรกเดือนมิถุนายนนี้ และจะมีโมเดลใหม่เกิดขึ้นช่วงไตรมาส 4 เป็นร้านแบบ “ไดรฟ์ทรู” ครั้งแรกในไทยของซับเวย์ ซึ่งจะเปิดทำการที่ “ปั๊มพีที นครชัยศรี”

สำหรับสาขาเดิมของซับเวย์ในไทยมีทั้งหมด 148 สาขา ซึ่งโกลัคจะได้สิทธิเฉพาะการเก็บค่าบริหารแฟรนไชส์ ขณะที่รายได้เต็มจากยอดขายอาหารจะมาจากสาขาใหม่ที่โกลัคเป็นผู้ลงทุนเปิดเองเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้เฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาทต่อสาขา (*สำหรับสาขาขนาดมาตรฐาน 50 ตร.ม.)

 

อยู่มานาน 2 ทศวรรษแต่ยังไม่ปัง

ประวัติการโลดแล่นของ “ซับเวย์” ในประเทศไทยผ่านความเปลี่ยนแปลงมามาก เพราะแบรนด์นี้เข้ามาเปิดในไทยตั้งแต่ปี 2546 แต่ช่วงเริ่มต้น Subway International บริษัทแม่ของซับเวย์ในสหรัฐฯ เลือกบริหารโดยให้สิทธิแฟรนไชส์ในไทยแยกเป็นหลายบริษัท รวมแล้วเคยมีผู้ได้รับสิทธิพร้อมกันกว่า 20 บริษัท ต่างคนต่างบริหารสาขาในมือตามเขตที่ได้รับสิทธิมา

ด้วยเหตุที่เคยมีหลายบริษัทถือสิทธิ ซับเวย์จึงไม่ค่อยได้ทำการตลาดเพราะไม่มี ‘เจ้ามือ’ ที่แน่ชัด ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักมักจะเป็นชาวต่างชาติที่รู้จักแบรนด์นี้อยู่แล้วมากกว่าคนไทย

จนกระทั่งปี 2562 มี “บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด” ที่ร้องขอจนได้รับโอกาสจากบริษัทแม่ให้ถือสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทย ทำให้ซับเวย์มีการทำการตลาดถึงคนไทยมากขึ้น และมีการขยายสาขาเข้าพื้นที่คนไทย เช่น ปั๊มน้ำมัน

แต่เมื่อต้นปี 2567 นี้เอง “เพชรัตน์” ระบุว่า ทาง Subway International มีการเปิดเฟ้นหาผู้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์รายใหม่ในไทย จึงทำให้ “โกลัค” เห็นโอกาสเข้าไปเสนอแผนและสิทธิได้เปลี่ยนมือมาสู่กลุ่มพีทีจี

 

ยังต้องแก้โจทย์เดิมคือ “สั่งยาก” – “ราคาสูง”

เพชรัตน์มองว่า ที่จริงแล้วซับเวย์มีจุดแข็งที่ชัดเจน คือการเป็น QSR ที่เหมาะกับ “สุขภาพ” มากที่สุด ด้วยเมนูอาหารมีผักสดให้เลือกหลากหลาย และใช้ขนมปังอบสดใหม่ในร้าน

ซับเวย์

เพียงแต่ว่าจุดอ่อนก็มีไม่น้อย จากการวิจัยผู้บริโภคพบว่าส่วนใหญ่รู้สึกว่าร้านซับเวย์ “สั่งยาก” จากการที่ต้องเลือกทั้งชนิดขนมปัง เลือกไส้ เลือกผัก เลือกซอส รวมถึงผู้บริโภคมองว่า “ราคา” ยังแพงกว่าถ้าเทียบกับ QSR แบรนด์อื่น

ทั้งหมดคือโจทย์ที่ซับเวย์ในไทยจะต้องแก้โจทย์ต่อไป โดยเพชรัตน์วางแผนแก้ไขเรื่องการสั่งอาหารด้วยการจัด “เมนูยอดฮิต” ให้ลูกค้าสั่งได้โดยไม่ต้องเลือกส่วนประกอบต่างๆ เพราะซับเวย์จัดไว้ให้แล้ว รวมถึงจะเริ่มลงระบบ “สั่งอาหารด้วยตนเอง” (Self-Order) ไม่ว่าจะสั่งผ่าน Kiosk หรือผ่าน QR CODE บนมือถือ เพื่อให้ลูกค้าสบายใจขึ้นในการใช้เวลาเลือกและไม่ต้องห่วงว่าจะอ่านออกเสียงชื่อเมนูหรือซอสต่างๆ ผิด

ส่วนปัญหา “ราคา” เพชรัตน์กล่าวว่าจะแก้โจทย์นี้แน่นอน ขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางต่างๆ เช่น ลดไซส์ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาชิมง่ายขึ้น หรือ พัฒนาเมนูที่ต้นทุนต่ำลง เพื่อทำราคาให้แข่งขันกับ QSR อื่นได้

การเปลี่ยนมือครั้งนี้ของสิทธิแฟรนไชส์ “ซับเวย์” เป็นการย้ายเข้ามาอยู่ใต้ร่มหลังคาบ้านขนาดใหญ่ จากเครือข่ายของพีทีจีที่มีสมาชิกบัตร PT Max Card มากกว่า 21 ล้านสมาชิก และมีเครือข่ายสถานีน้ำมันมากกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ น่าจะช่วยให้ซับเวย์มีแต้มต่อมากขึ้นในการเป็น QSR ในดวงใจของคนไทย

ที่เกี่ยวข้อง


แบ่งปันหน้านี้

โพสต์ของแขกโดย Easy Branches

all our websites