BIOFIN กระตุ้นเยาวชนเกาะเต่ารักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ผ่านสื่อออนไลน์ “เต่าน้อยแชนแนล-เต่าน้อยสตอรี่”
โครงการ BIOFIN โดย UNDP ประเทศไทย เดินหน้าโครงการริเริ่มทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยดำเนินการพัฒนา และฟื้นฟูความยั่งยืน สู่ชุมชน และสิ่งแวดล้อมบนเกาะเต่า เริ่มจากการสนับสนุนอุปกรณ์ผลิตสื่อสร้างสรรค์ สำหรับการตัดต่อวิดีโอ เพื่อให้เยาวชนในพ
- Aug 28 2020
- 95
- 4365 Views
โครงการ BIOFIN โดย UNDP ประเทศไทย เดินหน้าโครงการริเริ่มทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยดำเนินการพัฒนา และฟื้นฟูความยั่งยืน สู่ชุมชน และสิ่งแวดล้อมบนเกาะเต่า เริ่มจากการสนับสนุนอุปกรณ์ผลิตสื่อสร้างสรรค์ สำหรับการตัดต่อวิดีโอ เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่เป็นกระบอกเสียงที่ถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และสิ่งแวดล้อมบนเกาะเต่า ผ่านสื่อออนไลน์ ช่องยูทูป “เต่าน้อยแชนแนล” และ เฟซบุ๊ก “เต่าน้อยสตอรี่”
โครงการการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ The Biodiversity Finance Initiative เรียกสั้น ๆ ว่า ไบโอฟิน (BIOFIN) เป็นความร่วมมือระดับโลกของ 30 ประเทศภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ในการนำนวัตกรรมทางการเงินที่เป็นกลไกหลักในการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพให้ยั่งยืน โดยในประเทศไทยได้มีโครงการนำร่องผ่านการจัดทำแผนการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีในภาคใต้ของประเทศไทย
นายเรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ยูเอ็นดีพี ได้เดินทางไปเกาะเต่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อไปเยี่ยมชุมชนที่ประสบปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 และหารือความร่วมมือกับภาคีท้องถิ่นในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นความร่วมมือกับเทศบาลตำบลเกาะเต่า ผ่านการดำเนินงานของโครงการ BIOFIN โดยองค์กรภาคี คือ มูลนิธิรักษ์ไทย
โดยส่วนสำคัญที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือ สร้างศักยภาพของเยาวชน โดยจัดการฝึกอบรมการผลิตสื่อสร้างสรรค์และการมอบห้องสตูดิโอ พร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพและการตัดต่อ ให้กลุ่มนักเรียนที่โรงเรียนบ้านเกาะเต่า ซึ่งเป็นสถานศึกษาสำคัญแห่งเดียวสำหรับเยาวชนบนเกาะเต่า
“ยูเอ็นดีพี ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนและนักเรียนในพื้นที่ ให้มีการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร เพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญ และการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง” นายเมแยร์ กล่าว
ทั้งนี้ นักเรียนกลุ่มนี้ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมโดยมูลนิธิรักษ์ไทย และได้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ช่องยูทูปออนไลน์ของตัวเอง ใช้ชื่อว่า เต่าน้อยแชนแนล และมีรายการในเฟชบุ๊กชื่อว่า เต่าน้อย สตอรี่ สำหรับเผยแพร่ผลงานที่พวกเขาผลิตขึ้น โดยหวังจะเป็นสื่อกลางให้คนบนเกาะเต่าและที่อื่น ๆ ได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่สะท้อนประเด็นความท้าทายในการจัดการสิ่งแวดล้อมของเกาะเต่า และมุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
กลุ่มผู้ผลิตรายการเต่าน้อย สตอรี่ ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะเต่า กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกาะเต่าได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ทำให้ธุรกิจหลาย ๆ บริษัทปิดตัวลง ทำให้คนว่างงานจำนวนมาก
จากการเดินทางเยือนของคณะผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติในครั้งนี้ เห็นว่าเกาะเต่าในฤดูกาลนี้เงียบสงบ ธรรมชาติที่ปรากฎนั้นสวยงามมาก เป็นช่วงเวลาที่ธรรมชาติของเกาะเต่าได้ฟื้นฟู และปะการังก็กลับมาสวยงามอีกครั้ง เพื่อรอรับการมาเยือนของผู้คนที่หลงรักการท่องเที่ยวในเกาะเต่า
ทั้งนี้ โครงการ BIOFIN เป็นความร่วมมือของรัฐบาลไทย นำโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับยูเอ็นดีพีประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีจุดประสงค์เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างครบวงจร โดยระบุและใช้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสำคัญ