ภาวะสมองเสื่อม (Dementia)
ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำงานของตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงผู้ดูแลที่ต้องรับหน้าที่หนักเพิ่มขึ้น การสังเกตอาการและปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น อาจนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว เป็นการเพิ่มคุณภ
- Jun 20 2022
- 111
- 3084 Views
ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำงานของตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงผู้ดูแลที่ต้องรับหน้าที่หนักเพิ่มขึ้น การสังเกตอาการและปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น อาจนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยและญาติ
ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่สมองมีการทำงานแย่ลงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น หลงลืม หลงทางที่ใช้อยู่เป็นประจำ คิดคำนวณเงินผิดพลาด บวกลบเลขง่ายๆไม่ได้ จำไม่ได้ว่าวางสิ่งของไว้ที่ไหน การตัดสินใจในภาวะต่างๆแย่ลง รวมถึงการมีพฤติกรรมที่ผิดแผกไปจากเดิม เช่น ทำอะไรซ้ำๆ พูดอะไรซ้ำๆ
สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม
- แบบที่รักษาได้ ซึ่งจำเป็นต้องสืบค้น เพื่อให้การรักษา
- โรคทางกาย เช่น โรคไทรอยด์ การติดเชื้อซิฟิลิสในสมอง โรคขาดวิตามินบี 12 หรือโฟลิค ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- โรคทางสมอง เช่น มีเลือดออกในสมอง น้ำคั่งในโพรงสมอง หรือเนื้องอกสมอง โรคพาร์กินสัน
- ภาวะอื่นๆ เช่น การใช้ยาประจำบางชนิด หรือ โรคซึมเศร้า
- แบบที่ไม่หายขาด
- สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- หลอดเลือดสมองตีบ ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับความจำ (vascular dementia)
อาการของสมองเสื่อม อาจจะเกิดในระยะเวลาไม่นานหรือใช้เวลานานเป็นเดือนหรือปีก็ได้ ขึ้นกับสาเหตุ
- พูดหรือถามเรื่องเดิมที่เพิ่งเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยมักจะยังจดจำความจำเรื่องเก่าๆในอดีตได้
- สับสนเรื่องวันเวลาสถานที่
- ทำอะไรซ้ำๆ เช่น เก็บของแล้ว รื้อออกมาเก็บใหม่
- วางของทิ้งไว้แล้วหาไม่เจอ
- หลงทางในเส้นทางที่ใช้อยู่เป็นประจำ
- คิดเงินหรือทอนเงินผิดพลาดไป
- ลืมเหตุการณ์หรือนัดสำคัญๆ
- การตัดสินใจผิดพลาดมากขึ้น
- อารมณ์ หรือบุคลิกเปลี่ยนไป เช่น เชื่องช้า หรือก้าวร้าวหงุดหงิดง่ายมากขึ้น
- ใช้คำพูดผิด หรือนึกคำไม่ออกบ่อยๆ
- ช่วยเหลือตัวเองในเรื่องกิจวัตรประจำวันได้ลดลง ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ เช่น กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน
การวินิจฉัยสมองเสื่อม
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยมักให้ข้อมูลได้ไม่ครบถ้วนเนื่องจากมีอาการหลงลืม จึงควรพาญาติใกล้ชิดหรือคนที่อยู่ดูแลประจำมาร่วมในการซักประวัติด้วย
- การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ
- การตรวจโดยใช้แบบทดสอบความจำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain) หรือ PET scan
การรักษาสมองเสื่อม
- รักษาตามสาเหตุ ถ้าเป็นสาเหตุที่สามารถรักษาได้
- ถ้าวินิจฉัยเป็นสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ โดยปกติ จะใช้ยาในการประคับประคอง ให้อาการไม่ทรุดลงเร็วมาก ซึ่งมักจะได้ผลดีเมื่อเริ่มให้ในระยะแรกๆ ร่วมกับการฝึกพัฒนาสมอง (cognitive training)
- การรักษาปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมจากตัวโรค เช่น โวยวาย ก้าวร้าว ด่าทอหยาบคาย ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ดูแล ซึ่งการแก้ไขจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบและความเข้าใจในตัวโรคของผู้ดูแล หรืออาจต้องใช้ยาร่วมด้วยเพื่อลดอาการ
- การดูแลผู้ดูแลผู้ป่วย เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม มักส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้ดูแลโดยตรง อาจทำให้เกิดความเครียด ห่อเหี่ยว และทุกข์ใจ ดังนั้นการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ดูแลจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ดูแลและยังช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีมากขึ้น
********************************
บทความโดย : แพทย์หญิงพิมลพรรณ วิเสสสาระกูล แพทย์เฉพาะทางอายุรแพทย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 2 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) ถนนแจ้งวัฒนะ โทร. 02-836-9999 ต่อ 2921-2
ข่าวสำคัญของไทย
อีซี่บร๊านเซสโกลบอล
คุณสามารถส่งประกาศของคุณได้
Satang
ผู้นำด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
บทความโดย : แพทย์หญิงพิมลพรรณ วิเสสสาระกูล แพทย์เฉพาะทางอายุรแพทย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล