ต่างประเทศ
เปิดข้อมูล 'สงครามหุ่นยนต์' เมื่อศึกรัสเซีย-ยูเครน ครบ 1,000 วัน
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสงครามเติบโตขึ้นอย่างมากตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปี 2022 โดยการสู้รบเข้าสู่การครบรอบ 1,000 วันในวันอังคาร บริษัทอันเวฟ (Unwave) ผู้ผลิตเครื่องก่อกวนสัญญาณโดรน ของยูเครนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของอ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสงครามเติบโตขึ้นอย่างมากตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปี 2022 โดยการสู้รบเข้าสู่การครบรอบ 1,000 วันในวันอังคาร
บริษัทอันเวฟ (Unwave) ผู้ผลิตเครื่องก่อกวนสัญญาณโดรน ของยูเครนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้
ยูริว เชลมุค ผู้ร่วมก่อตั้งอันเวฟเมื่อปีที่เเล้วกล่าวว่า จากเดิมที่เเทบไม่มีใครสนใจผลิตภัณฑ์ของเขา ปัจจุบันความต้องการพุ่งขึ้น จนต้องผลิตเครื่องก่อกวนสัญญาณโดรน 2,500 เครื่องต่อเดือน และระยะเวลารอสินค้านานยืดยาวไปถึง 6 สัปดาห์
ความสนใจผลิตอาวุธสมัยใหม่ในยูเครนเกิดขึ้นเมื่อฤดูร้อนปีที่เเล้ว ที่รัสเซียใช้โดรนในการรบมากขึ้นเเละสามารถต้านการตีกลับของยูเครนได้
ปัจจุบันยูเครนมีบริษัทผู้ผลิตเพื่อป้อนความต้องการทางกลาโหมทั้งหมดกว่า 800 แห่ง โดยกว่าครึ่งหนึ่งถูกก่อตั้งขึ้นหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2022 ท่ามกลางสนามรบที่ได้เห็นการใช้โดรนทางนำ้และทางบก และมาพร้อมกับเทคโนโลยีต่อต้านโดรน รวมทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการรบ
รอยเตอร์รายงานว่า จำนวนโดรนที่ผลิตโดยรัสเซียและยูเครนเข้าใกล้ 1 ล้าน 5 แสนเครื่องเเล้วในปีนี้ ส่วนมากเป็นโดรนขนาดเล็ก ราคาหลักร้อยดอลลาร์
เจ้าหน้าที่กลาโหมของยูเครนกล่าวกับรอยเตอร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า การที่รัสเซียมีโดรนจำนวนมากกว่าทำให้ยูเครนประสบความยากลำบากในการเคลื่อนกำลังและสร้างป้อมค่ายของตน
บริษัทอันเวฟเป็นหนึ่งใน 30 ผู้ประกอบการที่ผลิตอุปกรณ์บล็อกสัญญาณโดรนและก่อกวนระบบคอมพิวเตอร์ภายในโดรน เพื่อรับมือกับรัสเซียในสงครามรูปแบบใหม่
เนื่องจากรัสเซียสามารถเปลี่ยนช่องสัญญาณบังคับโดรน บริษัทของยูเครนยังต้องคอยสืบตามห้องเเชตออนไลน์ว่ารัสเซียเลือกใช้ช่องสัญญาณใดบ้าง
เนื่องจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อกำลังทหารมีเพิ่มขึ้น แหล่งข่าว 7 ราย จากรัฐบาลและจากอุตสาหกรรมกลางโหมบอกกับรอยเตอร์ว่า การใช้เทคโนโลยีที่ใช้ระบบสั่งการแทนมนุษย์ จะเป็นเเนวทางหลักของยุทธศาสตร์สงครามสมัยใหม่ในอีกหลายปีจากนี้
โอสเทป ฟลุนต์ เจ้าหน้าที่จากกองพลที่ 67 ที่เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องจักรกล กล่าวว่า "จำนวนทหารในสนามเพลาะลดลงอย่างมาก และเราสามารถทำสงครามผ่านการสั่งการจากระยะไกลได้ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่บุคลากรของเราอาจถูกสังหาร"
ที่ยูเครน ปัจจุบันบริษัทกว่า 160 แห่งรับงานผลิตพาหนะภาคพื้นดินไร้คนขับ ตามข้อมูลของหน่วยงาน Brave1 ที่ไดัรับการสนับสนุนจากรัฐ
พาหนะภาคพื้นดินไร้คนขับ เหล่านี้สามารถทำงานได้หลายอย่าง ตั้งเเต่ส่งเสบียง ไปจนถึงติดปืนที่รับคำสั่งยิงจากระยะไกล
ฟลุนต์ แห่งกองทัพยูเครนกล่าวว่า "สงครามยุคใหม่คือการเผชิญหน้ากันของเทคโนโลยี การตรวจจับ ก่อกวนสัญญาณ และการทำลายล้างระยะไกล"
รัฐมนตรีกระทรงอาวุธ เฮร์แมน สมีทานิน กล่าวกับรอยเตอร์ว่า "ในอนาคตอันใกล้ สงครามหุ่นยนต์ จะเป็นทิศทางหลักของการพัฒนา"เพราะกองทัพต้องการลดความสูญเสียต่อชีวิตกำลังพล
ยูเครนเองหวังว่าเทคโนโลยีกองทัพอาจเป็นเครื่องจักรหนึ่งทางเศรษฐกิจที่เสียหายอย่างมากหลังจากการรุกรานของรัสเซีย โดยที่ผ่านมารัฐบาลเคียฟทุ่มเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ ในการยกระดับความสามารถด้านกลาโหม
ศักยภาพทางการผลิตอาวุธของยูเครนเติบโตแบบก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้จาก 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีสมีทานิน กล่าวว่าเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ กำลังการผลิตไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ ดังนั้นยูเครนจึงมีศักยภาพด้านนี้ที่ยังไม่ได้ใช้
บริษัทอาวุธของยูเครน 4 แห่งที่ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์กล่าวว่าอีกปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ภายในประเทศคือการขาดแคลนบุคคลากร
คาเทอรินา มิคัลโค ผู้อำนวยการสมาคม Tech Force in UA ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตอาวุธ กล่าวว่า 85% ของบริษัท 38 แห่งในการสำรวจความเห็น กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปนอกประเทศ หรือไม่ก็ทำเช่นนั้นไปเรียบร้อยเเล้ว
บริษัทหลายแห่งกล่าวว่า อุปสรรคสำคัญยังมาจากการห้ามส่งออกอาวุธในยามสงคราม โดยที่ทางการยูเครนกังวลว่าประชาชนอาจไม่พอใจถ้ายูเครนซึ่งยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างชาติ ผันตัวไปเป็นประเทศส่งออกอาวุธ ที่มา: รอยเตอร์