ต่างประเทศ
เข้าใจปมการเมืองเดือดฟิลิปปินส์ ผ่าน 4 ตัวละครหลัก
อุณหภูมิการเมืองฟิลิปปินส์ร้อนระอุ หลังรองประธานาธิบดีออกมาขู่สังหารประธานาธิบดีในทางสาธารณะ และหนึ่งในหนทางเข้าใจปมเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น คือการทำความรู้จักตัวละครที่เป็นแกนกลางของความขัดแย้งครั้งนี้ เมื่อราวสองปีที่แล้ว พันธมิตรการเมืองระหว่างประ
อุณหภูมิการเมืองฟิลิปปินส์ร้อนระอุ หลังรองประธานาธิบดีออกมาขู่สังหารประธานาธิบดีในทางสาธารณะ และหนึ่งในหนทางเข้าใจปมเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น คือการทำความรู้จักตัวละครที่เป็นแกนกลางของความขัดแย้งครั้งนี้
เมื่อราวสองปีที่แล้ว พันธมิตรการเมืองระหว่างประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ และรองประธานาธิบดีซารา ดูเตอร์เต เพิ่งชนะใจประชาชนฟิลิปปินส์ถล่มทลายด้วยสโลแกนหาเสียงที่เรียกร้องความสามัคคีภายในชาติ
เพียงไม่กี่ปี ความสามัคคีภายในรัฐบาลกลับอยู่ในจุดที่เปราะบางอย่างแหลมคม เพราะความเห็นที่แตกต่างของผู้นำและรองผู้นำในหลายประเด็นในทางการทูตและนโยบาย ที่ทำให้สัมพันธ์ของครอบครัวมาร์กอส-ดูเตอร์เต ทวีความร้าวลึก
ความระหองระแหงปะทุต่อหน้าสาธารณชนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังซารา ดูเตอร์เตกล่าวกับนักข่าวว่าได้บอกมือสังหารให้ปลิดชีพมาร์กอสและภริยา รวมถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร มาร์ติน โรมูอัลเดซ ในกรณีที่เธอถูกฆ่าตาย จนทาง ปธน. มาร์กอส ต้องออกมาประกาศทางโทรทัศน์ว่าพร้อมที่จะสู้กลับเช่นกัน
เอพีรวบรวมข้อมูลของสี่ตัวละครที่เป็นแกนกลางของความตึงเครียดปัจจุบัน ที่แง่หนึ่งสะท้อนถึงสภาพการเมืองฟิลิปปินส์ที่ยังเล่นกันถึงลูกถึงคน
1. ซารา ดูเตอร์เต - รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ลูกสาวอดีต ปธน.โรดริโก ดูเตอร์เต เป็นนักกฎหมายที่หันสู่สนามการเมืองด้วยแนวทางประชานิยม แม้เป็นที่รู้จักในเรื่องอารมณ์หุนหันพลันแล่นและวาทะดุดันหยาบคาย จนมักปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เรื่อย แต่ก็เป็นที่ยำเกรงของชนชั้นนำทางและเป็นที่รักของประชาชน ภายใต้เงื่อนไขการเมืองที่ระบบอุปถัมภ์และชื่อเสียงหน้าตา มีน้ำหนักชักจูงใจมากกว่าแนวทางนโยบาย
หลังดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมือง เธอจับมือกับมาร์กอส จูเนียร์ ชนะศึกเลือกตั้งระดับชาติปี 2022 แต่รอยร้าวภายในรัฐบาลเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อพันธมิตรของ ปธน.มาร์กอส ใช้กลไกสภาตรวจสอบการเสียชีวิตของประชาชนนับพันภายใต้นโยบายปราบปรามยาเสพติดในสมัย ปธน.ดูเตอร์เตผู้พ่อ รวมถึงกล่าวหาว่าเธอใช้งบประมาณโดยมิชอบเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ
เธอออกมาขู่สังหารมาร์กอส ภริยา และประธานสภาล่างหลังจากหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของเธอถูกคุมขัง เนื่องจากไม่ให้ความร่วมมือกับการสอบสวน ดูเตอร์เตผู้ลูกยังกล่าวหาครอบครัวของประธานาธิบดีคนปัจจุบันว่าเกี่ยวข้องกับการสังหารผู้นำฝ่ายค้านเมื่อปี 1983 จนนำมาสู่การประท้วงใหญ่ที่โค่นล้ม ปธน.เฟอร์ดินาน มาร์กอส พ่อของผู้นำคนปัจจุบัน
2. เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ - ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ชัยชนะของมาร์กอส จูเนียร์เมื่อปี 2022 เป็นเสมือนเหรียญคนละด้านเมื่อเทียบกับชะตากรรมของครอบครัวเขา ที่เคยปกครองประเทศภายใต้การหนุนหลังของทหาร ก่อนจะถูกประชาชนโค่นล้มขับไล่เมื่อปี 1986
มาร์กอส จูเนียร์ขึ้นสู่ตำแหน่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่ การเมืองแบ่งขั้วข้าง และเสียงเรียกร้องให้ช่วยดำเนินคดีอดีต ปธน.ดูเตอร์เต กรณีการเข่นฆ่าในนโยบายสงครามยาเสพติด ซึ่งกำลังมีการสอบสวนในศาลอาญาระหว่างประเทศ
รัฐบาลปัจจุบันหันไปสานสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ทางการทหารให้ลึกซึ้งขึ้น และไม่อ่อนข้อต่อจีนในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งแตกต่างไปจากแนวทางของรัฐบาลที่แล้วที่เป็นมิตรกับจีนและรัสเซีย
ท่ามกลางสัมพันธ์ระหว่างมาร์กอส จูเนียร์ และครอบครัวดูเตอร์เตที่ทวีความร้าวลึก สตรีหมายเลขหนึ่ง ลิซา อราเนตา มาร์กอส ออกมาพูดในรายการวิทยุเมื่อเดือนเมษายน ว่ารู้สึกไม่ดีต่อดูเตอร์เตผู้ลูก
สองเดือนหลังจากนั้น ซารา ดูเตอร์เต ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาธิการและหัวหน้าหน่วยงานต่อต้านการก่อความไม่สงบ และกล่าวเมื่อเดือนตุลาคมว่าความสัมพันธ์กับผู้นำคนปัจจุบันนั้น “เป็นพิษ (toxic)” และเคยนึกถึงการ “ตัดหัวเขา”
3. โรดริโก ดูเตอร์เต - ประธานาธิบดีคนที่แล้ว
ปัจจุบัน อดีตผู้นำรายนี้มีอายุ 79 ปี และสุขภาพไม่ใคร่จะแข็งแรงนัก แต่ยังคงมีปากมีเสียง และเป็นหนึ่งในผู้วิจารณ์ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างดุดันที่สุด
ดูเตอร์เตผู้พ่อใช้เวลาในวาระหกปี สร้างภาพจำในฐานะผู้นำฝีปากกล้าผู้ไม่ยี่หระต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนและชาติตะวันตก ผู้นำพารัฐบาลมะนิลาไปผูกมิตรกับประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง และผู้นำสูงสุดของรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน
ดูเตอร์เตกล่าวหามาร์กอสและภริยา และประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบันในประเด็นความไม่ชอบมาพากลทางการเงิน รวมถึงมองว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ดำรงตำแหน่งได้นานขึ้น มาร์กอสผู้ลูกอาจถูกประชาชนขับไล่จากประเทศเหมือนผู้เป็นพ่อ
ในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ อดีตผู้นำรายนี้กล่าวว่า “มีการปกครองที่เปราะบาง…มีเพียงกองทัพเท่านั้นที่สามารถแก้ปัญหาได้” ซึ่งเขาชี้แจงในเวลาต่อมา ว่าไม่ได้เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร
4. มาร์ติน โรมูอัลเดซ - ประธานสภาผู้แทนราษฎร
โรมูอัลเดซเป็นทายาทครอบครัวตระกูลมั่งคั่งจากตอนกลางของฟิลิปปินส์ ดำรงตำแหน่งประธานสภาล่างที่ครองเสียงข้างมากโดยพันธมิตรของประธานาธิบดีมาร์กอส ผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง
โรมูอัลเดซที่ปัจจุบันอายุ 61 ปี ถูกคาดหมายว่าจะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2028 และซารา ดูเตอร์เตกล่าวหาว่าเขาตั้งใจทำลายชื่อเสียงเธอเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง
ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นตำแหน่งสำคัญ หากจะมีการใช้สภาพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในตอนนี้มีความเป็นไปได้ว่า รอง ปธน.ดูเตอร์เตจะถูกร้องถอดถอน จากข้อกล่าวหาเรืองการใช้งบประมาณโดยมิชอบ
ในการแถลงที่รัฐสภาเมื่อวันจันทร์ โรมูอัลเดซกล่าวว่าดูเตอร์เตผู้ลูกควรรับผิดชอบต่อการออกมาขู่ฆ่าเขารวมถึงประธานาธิบดีและภริยาออกอากาศ เขากล่าวว่า “(การพูดเช่นนั้น) เรียกร้องให้พวกเรา ในฐานะผู้แทนของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยของพวกเราจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ” ที่มา: เอพี