ต่างประเทศ
ยอดเจ็บพุ่ง! “จูงน้องหมาเดินเล่น” อย่าชิลเกินไป
การพาเพื่อนสี่ขาอย่างสุนัขออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข แต่กิจกรรมที่แสนเรียบง่ายนี้ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งเจ้าของสุนัขควรที่จะระมัดระวัง และเพิ่มความใส่ใจเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย จอนส์ ฮอปกินส์ (
การพาเพื่อนสี่ขาอย่างสุนัขออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข แต่กิจกรรมที่แสนเรียบง่ายนี้ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งเจ้าของสุนัขควรที่จะระมัดระวัง และเพิ่มความใส่ใจเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย จอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) รายงานว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เจ้าของสุนัขทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ประสบอุบัติเหตุขณะที่พาสุนัขออกไปเดินเล่นจำนวนเพิ่มขึ้น โดยอาการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ กระดูกหัก เคล็ดขัดยอก และการบาดเจ็บที่ศีรษะ
ริดจ์ แม็กซ์สัน หัวหน้าทีมวิจัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพี ว่ามีผู้ใหญ่ที่บาดเจ็บจากการพาสุนัขออกไปเดินเล่น จนต้องเข้ารับการรักษาในแผนกฉุกเฉิน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากจำนวนประมาณ 7,300 คน เมื่อปี 2001 เพิ่มขึ้นเป็นราว 32,300 คนในปี 2020 โดยมีผู้บาดเจ็บที่อยู่ในช่วงอายุ 40 ถึง 64 ปี คิดเป็น 47% และผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อยู่ในสัดส่วน 75%
แม็กซ์สัน ชี้ว่าตัวเลขข้างต้น อ้างอิงเฉพาะกรณีที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน ไม่นับรวมกรณีอื่น เช่น การรักษาตามคลินิกต่าง ๆ เขายังเสริมว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในสหรัฐฯ มีสุนัขอย่างน้อยหนึ่งตัว คาดว่าจำนวนดังกล่าวเพิ่มมาจากช่วงการระบาดใหญ่
โนเอล ฮอลส์ตัน ที่อาศัยในเมืองเอเธนส์ รัฐจอร์เจีย ประสบอุบัติเหตุตอนอายุ 76 ปี ขณะที่พาสุนัขออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน สุนัขพันธุ์พิทบูล น้ำหนักประมาณ 29 กิโลกรัม เดินไปเจอห่านตัวหนึ่งกระพือปีกส่งเสียงร้อง ทำให้สุนัขวิ่งลงทางลาด และดึงฮอลส์ตันจนตกจากทางเท้า
ฮอลส์ตัน บอกว่า “พยายามที่จะทรงตัว เท้าของเขาตกลงไปในหลุม จากนั้นได้ยินเสียงข้อเท้าซ้ายหัก มันเจ็บปวดมาก จนแทบจะหมดสติ” ภรรยาของเขาต้องขอความช่วยเหลือ ให้คนบริเวณนั้นพยุงกลับไปที่รถ ขาซ้ายของฮอลส์ตันไร้เรี่ยวแรงและไม่สามารถควบคุมได้
อีกกรณี ได้แก่ ซูซานนา จอห์นสตัน ครูสอนโยคะวัย 64 ปี อาศัยในย่านโครตันออนฮัดสัน (Croton-on-Hudson) รัฐนิวยอร์ก ประสบอุบัติเหตุขณะที่พาสุนัขเดินเล่นมาแล้วถึงสามครั้ง แต่ครั้งที่เลวร้ายที่สุด เกิดขึ้นประมาณห้าปีที่แล้ว สุนัขของเธอเป็นพันธุ์ลาบราดอร์ผสม ที่น้ำหนักมากกว่า 22 กิโลกรัม ในตอนนั้นมันวิ่งตามกระรอก สายจูงที่พันมือจอห์นสตันถูกกระชาก ทำให้กระดูกนิ้วหัก เธอต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและทำกายภาพบำบัด
หากเจ้าของสุนัขออกมาเดินเล่นในพื้นที่ชนบท สิ่งที่ต้องระวังคืออุบัติเหตุจากการ “ถูกรถชน” สตีเวน เฮย์วูด แพทย์ฉุกเฉินในเมืองโครินธ์ รัฐมิสซิสซิปปี เผยว่าอุบัติเหตุลักษณะนี้มีให้เห็นเป็นประจำ มันก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่คุกคามชีวิตของผู้ที่พาสุนัขออกมาเดินมากที่สุด เหตุร้ายนี้มักที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่สวมเสื้อผ้าสีเข้ม ออกมาเดินแบบไม่พกหลอดไฟ รวมถึงไม่มีอุปกรณ์สะท้อนแสง ทั้งบนตัวคนและสัตว์เลี้ยง
อุปกรณ์ที่สามารถช่วยลดความเสี่ยง นอกจากการพกหลอดไฟ และติดแถบสะท้อนแสง การเลือกสวมรองเท้าที่เหมาะกับสภาพพื้นดิน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เช่น เลือกสวมรองเท้าที่มีดอกยาง เมื่อต้องเดินบนพื้นที่ปกคลุมด้วยหิมะ
แม็กซ์สัน หัวหน้าทีมวิจัย ยังแนะนำให้ใช้สายจูงประเภท “ไม่สามารถยืดได้” ที่มีความยาวประมาณ 1.8 ถึง 2.4 เมตร เนื่องจากสายจูงที่ยืดได้ จะควบคุมสุนัขได้ลำบาก และระยะของสายจูงที่ยาวกว่านี้ มีแนวโน้มที่จะพันรอบขาของผู้จูง และอาจทำให้ล้มลงได้
โชชิ พาคส์ ผู้ฝึกสุนัข ในนครซานฟรานซิสโก แนะนำให้เลือกใช้ “สายรัดอกสุนัข” ที่มีห่วงอยู่ด้านหน้า แทนที่จะเป็นสายจูงจากด้านหลัง เพราะจะช่วยให้ผู้จูงสามารถควบคุมได้ดีกว่า อีกทั้งยังลดความตึงเครียดของสุนัข
พาคส์อธิบายว่า เราควรจับสายจูงให้ใกล้กับจุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย เช่น บริเวณลำตัว สะโพก หรือโคนขา เธอย้ำว่าสายจูงประเภทยืดหดได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้อย่างเด็ดขาด เพราะเมื่อมีการปรับระยะของสายจูงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดการเสียดสีที่ผิวหนัง
การจูงสุนัขอย่างปลอดภัย ควรที่จะมีความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา เพิ่มความใส่ใจเป็นพิเศษเมื่อสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย การทำหลายกิจกรรมในเวลาเดียวกันอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงควรที่จะงดใช้โทรศัพท์ขณะที่จูงสุนัข หากเจ้าของอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ การออกกำลังกายเพื่อฝึกความสมดุลและความแข็งแรง อาจช่วยลดความเสี่ยงของการหกล้ม ท้ายที่สุด การขอคำปรึกษาจากผู้ฝึกสุนัขอาจเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อช่วยให้เจ้าของสามารถอ่านภาษากาย และเข้าใจสัตว์เลี้ยงของตนเองได้ดีขึ้น
ที่มา: เอพี