ต่างประเทศ
ส่อง ‘สควิดเกม’ สังคมจีน เดิมพันจริง-เจ็บจริง
รอยเตอร์รายงานหนึ่งในปรากฏการณ์สังคมจีนยุคเศรษฐกิจซบเซา คือเกมเดิมพันในชีวิตจริงบนสื่อสังคมออนไลน์ และคนที่หาประโยชน์จากคนเป็นหนี้ด้วยข้อเสนอที่ไม่เป็นธรรม ในขณะที่ซีรีส์ชื่อดังสัญชาติเกาหลีใต้ ‘สควิดเกม’ หวนคืนจอสตรีมมิงอีกครั้งเมื่อพฤหัสบดีที่ผ่า
รอยเตอร์รายงานหนึ่งในปรากฏการณ์สังคมจีนยุคเศรษฐกิจซบเซา คือเกมเดิมพันในชีวิตจริงบนสื่อสังคมออนไลน์ และคนที่หาประโยชน์จากคนเป็นหนี้ด้วยข้อเสนอที่ไม่เป็นธรรม
ในขณะที่ซีรีส์ชื่อดังสัญชาติเกาหลีใต้ ‘สควิดเกม’ หวนคืนจอสตรีมมิงอีกครั้งเมื่อพฤหัสบดีที่ผ่านมา ชาวจีนเองก็มีเกมเดิมพันในชีวิตจริงด้วยการ “ควบคุมตัวเอง” ที่แม้ไม่เสี่ยงชีวิตเหมือนในซีรีส์ แต่ก็มีแง่มุมที่สะท้อนสภาพสังคมปัจจุบัน
เกมดังกล่าวคือการให้คนมาลงเดิมพันเงินประมาณหนึ่งร้อยกว่าดอลลาร์เพื่อร่วมแข่งขัน โดยจะต้องไปอยู่ในห้องคนเดียวเป็นเวลา 30 วัน และต้องทำตามกติกาที่ผู้จัดแข่งขันตั้งเอาไว้ เช่น ไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เข้าห้องน้ำคราวละไม่เกิน 15 นาที หรือปิดนาฬิกาปลุกได้ไม่เกินสองครั้งในหนึ่งวัน โดยความเคลื่อนไหวในห้องจะถูกถ่ายทอดผ่านกล้องวงจรปิด
ผู้ชนะในเกมแบบนี้อาจได้รับเงินรางวัลสูงสุดราว 1 ล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบ 5 ล้านบาท
เกมเดิมพันลักษณะนี้มักโฆษณากันในแอปพลิเคชั่นโต่วอิน สื่อสังคมออนไลน์ที่ทั่วโลกรู้จักในชื่อติ๊กตอก และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์จากผู้เล่นหลายคนที่แพ้ไปตั้งแต่วันแรก ๆ จนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะมองว่ากติกาไม่เป็นธรรม
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศาลมณฑลซานตง ทางตะวันออกของจีน พิพากษาให้ผู้จัดแข่งขันคืนเงินค่าสมัครจำนวน 5,400 หยวน หรือราว 25,000 บาท ให้กับชายแซ่ซุน ที่ไปฟ้องร้องหลังจากแพ้การแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล 250,000 หยวน หรือ ราว 1.2 ล้านบาท
ซุนลงแข่งอยู่ในห้อง 30 วันโดยห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงห้ามติดต่อคนอื่นที่อยู่นอกห้อง ก่อนที่จะแพ้ไปในวันที่สาม โดยผู้จัดให้เหตุผลว่าซุนเอาหมอนมาปิดหน้า ถือว่าผิดกติกาที่ห้ามไม่ให้ผู้เล่นปิดบังใบหน้า
หน่วยงานด้านพื้นที่ไซเบอร์ของจีน ที่กำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในประเทศ รวมถึงบริษัทไบท์แดนซ์ที่เป็นเจ้าของแอปฯ โต่วอิน ไม่ได้ตอบคำขอความเห็นของรอยเตอร์
นอกจากเกมแล้ว หนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคือการเกิดขึ้นของกลุ่มคนที่อ้างว่าสามารถประนอมหนี้เพื่อปรับปรุงประวัติเครดิตของประชาชนได้ ซึ่งมีการโฆษณากันผ่านอินเทอร์เน็ต ใบปลิว และโทรศัพท์
กลุ่มคนเหล่านี้อ้างว่าสามารถหาเงินกู้ก้อนใหม่ หรือให้บริการเงินทุนเป็นการชั่วคราวได้ และเก็บบริการที่สูงถึง 12% ของยอดเงินกู้ อ้างอิงตามสื่อ Business Daily ที่ทางการจีนสนับสนุน
หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินแห่งชาติ (NFRA) เตือนประชาชนเมื่อวันอังคารไม่ให้หลงเชื่อกลุ่มคนเหล่านี้ รวมถึงกลุ่มที่อ้างว่าสามารถช่วยแก้ไขคะแนนเครดิตได้ เพราะคนกลุ่มนี้อาจนำข้อมูลส่วนตัวไปขายต่อ
ข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายนโดยธนาคารกลางจีน ระบุว่าหนี้ครัวเรือนในประเทศมีมูลค่า 82.47 ล้านล้านหยวน ที่มา:รอยเตอร์