ต่างประเทศ
คู่ธุรกิจเหล็กสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ยื่นฟ้องรัฐบาลไบเดนกรณีสกัดดีลซื้อขายกิจการ $1.5 หมื่นล้าน
บริษัท นิปปอน สตีล (Nippon Steel) ของญี่ปุ่นและบริษัท ยูเอส สตีล (U.S. Steel) ร่วมกันยื่นฟ้องรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ดำเนินการสกัดการเดินหน้าซื้อกิจการของธุรกิจเหล็กสัญชาติอเมริกันโดยบริษัทญี่ปุ่นที่มีมูลค่าเกือบ 15,000 ล้านดอลลาร์ รายงานข่าว
บริษัท นิปปอน สตีล (Nippon Steel) ของญี่ปุ่นและบริษัท ยูเอส สตีล (U.S. Steel) ร่วมกันยื่นฟ้องรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ดำเนินการสกัดการเดินหน้าซื้อกิจการของธุรกิจเหล็กสัญชาติอเมริกันโดยบริษัทญี่ปุ่นที่มีมูลค่าเกือบ 15,000 ล้านดอลลาร์
รายงานข่าวระบุว่า ทั้งสองบริษัทคู่ค้านี้ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ในกรุงวอชิงตันในวันจันทร์ โดยอ้างว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจที่มีจุดประสงค์ทางการเมืองและเป็นการละเมิดกระบวนการทางกฎหมาย (due process) ที่ทั้งสองบริษัทดำเนินการมา
ภายใต้ข้อตกลงที่สะดุดนี้ นิปปอน สตีล ยังสัญญาที่จะลงทุนเป็นเงินมูลค่า 2,700 ล้านดอลลาร์ในกิจการเตาหลอมที่เก่าแก่เสื่อมโทรมของ ยูเอส สตีล ที่ตั้งอยู่ในเมืองแกรี (Gary) รัฐอินเดียนา และที่เขต มอนแวลลีย์ (Mon Valley) ในรัฐเพนซิลเวเนีย โดยยังประกาศด้วยว่า จะไม่ทำการลดกำลังการผลิตในสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษข้างหน้า ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ เสียก่อน
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ไบเดนตัดสินใจสั่งระงับการเข้าซื้อกิจการนี้ของ นิปปอน สตีล หลังหน่วยงานกำกับดูแลกิจการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่สามารถตัดสินได้ว่า จะอนุมัติข้อตกลงนี้ได้หรือไม่ โดยปธน.สหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจนี้ว่า เป็นเพราะ “อุตสาหกรรมเหล็กกล้าที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าของและดำเนินงานเอง และเป็นกิจการที่แข็งแกร่งนี้ เป็นตัวแทนของความสำคัญในลำดับต้น ๆ ด้านความมั่นคงของประเทศ ... หากไม่มีคนงานในอุตสาหกรรมเหล็กกล้าภายในประเทศและการผลิตเหล็กกล้าภายในประเทศแล้ว ประเทศของเราจะแข็งแกร่งน้อยลงและขาดความมั่นคงมากขึ้น”
ขณะที่ เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างออกมายืนยันว่า การตัดสินใจของไบเดนในเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งสกัดกั้นการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทอเมริกันและบริษัทญี่ปุ่น
การตัดสินใจดังกล่าวของไบเดนมีออกมาหลังจากคณะกรรมาธิการด้านการลงทุนต่างประเทศในสหรัฐฯ หรือ CFIUS ไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติจากข้อตกลงซื้อขายกิจการนี้ได้ ในการหารือเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนจะส่งรายงานในเรื่องนี้มาให้ปธน.สหรัฐฯ คนปัจจุบันซึ่งจะหมดวาระดำรงตำแหน่งในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ไบเดนต้องหาข้อสรุปและตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่า จะให้ไฟเขียวหรือจะล้มข้อตกลงนี้
ที่มา: เอพี