มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERDF) ร่วมกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี(CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU จัดกิจกรรม IBERD Virtual Live Business and Economic Conference ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ: นวัตกรรมธุรกิจการเงิน และเงินหยวนดิจิทัล โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และอดีตอัคราชฑูตฝ่ายการพาณิชย์ปักกิ่ง และเซี้ยงไฮ้ เป็นแขกรับเชิญ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัย CIBA เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร กล่าวว่า เมื่อ 5 ปีก่อนประเทศจีนเริ่มพัฒนาการชำระเงินในระบบดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟน โดยใช้แพลตฟอร์มของสองบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบาและเทนเซ็นต์ จากนั้นโลกก็เริ่มหันมาสนใจสกุลเงินดิจิทัล(Cryptocurrency) และพูดกันอย่างหนาหูถึงความเป็นไปได้ในการออกสกุลเงินดังกล่าวมาใช้แทนเงินสด จีนซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ได้ตั้งสกุลเงินดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลโดยธนาคารกลางของประเทศจีน พร้อมระดมผู้เชี่ยวชาญด้านเงินดิจิทัลมาทำการวิจัยศึกษาและพัฒนาระบบการชำระเงิน จนในที่สุดในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จีนได้ประกาศใช้เงินหยวนดิจิทัล Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Electronic Payment(DCEP) อย่างเป็นทางการ โดยทดลองใช้ใน 4 หัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เซินเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และสวงอาน แม้ช่วงนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จีนกลับมองว่าห้วงเวลาดังกล่าวเหมาะแก่การทดลองใช้มาก เพราะปัจจัยนี้สามารถดึงดูดให้คนหันมาใช้เงินดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ทั่วโลกจับตามอง
ดร.ไพจิตร กล่าวต่อว่า เงินหยวนดิจิทัล เป็นเงินสกุลเดิม ทำอย่างถูกกฎหมายและอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน หากผลักดันให้ใช้ในระดับประเทศ GDP ของจีนจะก้าวกระโดดตาม และในระยะยาวอาจเป็นเงินสกุลสากลที่มีผู้นิยมใช้จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างยังอยู่ในขั้นทดลอง แม้ผู้นำแดนมังกรได้ตั้งธงไว้ว่าจะขยายการทดลองร่วมกับประเทศพันธมิตรในสองโอกาสสำคัญ คือ การแข่งขันโอลิมปิกในปี 2022 และอภิมหาโปรเจคเส้นทางสายไหม (Silk Road) หากจีนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงระบบการเงินของโลกในอนาคต แม้แต่ธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศจะสะดวกรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญไม่เสียค่าธรรมเนียมด้วย
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัย CIBA กล่าวเสริมว่า ในขณะที่จีนออกเงินหยวนดิจิทัลมาทดลองใช้แล้ว ในส่วนประเทศไทยนั้น เมื่อเร็วๆนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เดินหน้าทดลองใช้เงินบาทดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ผ่านโครงการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงิน (Central Bank Digital Currency: CBDC) ต่อยอดมาจากโครงการอินทนนท์ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย และเริ่มทดลองโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ในอนาคตเราอาจเห็นการใช้เงินดิจิทัลร่วมกันระหว่างไทย-จีน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีความเชื่อมโยงในหลายๆ ด้าน ทั้งภาคเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามแม้จีนจะล้ำหน้าไทยไปไกลหลายก้าว แต่คนไทยก็ต้องปรับตัวเตรียมรับมือเทคโนโลยีใหม่ การออกเงินดิจิทัลอาจมีข้อดีหลายด้าน เนื่องจากธุรกิจการเงินมีผลเชื่อมโยงต่อภาคส่วนอื่นๆด้วย ไทยจึงต้องเรียนรู้จากจีนในหลายประเด็น อาทิ การยอมรับความเปลี่ยนแปลงเชิงรุก การเรียนรู้สิ่งใหม่ เป็นต้น ดังนั้น ไม่ควรใช้กรอบแนวคิดเดิม เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นได้