Renault วางแผนใช้แบตเตอรี่ LFP คาดลดต้นทุนการผลิตลงได้ 40%
เรื่อง : AREA 54 ● เรโนลท์ กรุ๊ป วางแผนใช้แบตเตอรี่แพคชนิด Lithium iron phosphate (LFP) แทนที่แบตเตอรี่ Lithium-ion โดยจะใช้บริการจาก 2 ซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่ ประกอบด้วยผู้ผลิตสัญชาติจีนอย่าง CATL ซึ่งมีโรงงานผลิตในยุโรปที่ประเทศฮังการี และผู้ผ
เรื่อง : AREA 54
● เรโนลท์ กรุ๊ป วางแผนใช้แบตเตอรี่แพคชนิด Lithium iron phosphate (LFP) แทนที่แบตเตอรี่ Lithium-ion โดยจะใช้บริการจาก 2 ซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่ ประกอบด้วยผู้ผลิตสัญชาติจีนอย่าง CATL ซึ่งมีโรงงานผลิตในยุโรปที่ประเทศฮังการี และผู้ผลิตดั้งเดิมจากเกาหลีใต้อย่าง LG Energy Solution ซึ่งมีโรงงานในประเทศโปแลนด์ โดยเรโนลท์คาดว่าจะลดต้นทุนการผลิตลงได้ถึง 40%
● ปัจจุบัน CATL นั้นนับเป็นเจ้าตลาดแบตเตอรี่ LFP และมีคู่ค้าทั่วทั้งโลก ซึ่งนอกจากบรรดาผู้ผลิตจากประเทศจีนเองแล้วยังมีลูกค้ารายใหญ่อย่างบีเอ็มดับเบิลยู, เดมเลอร์, ฮุนได, ฮอนด้า, PSA กรุ๊ป, เทสล่า, โตโยต้า, โฟล์คสวาเกน และวอลโว่
● ในขณะที่ LG ซึ่งในอดีตเคยเป็น 1 ใน 4 เจ้าตลาดแบตเตอรี่แพค Lithium-ion ร่วมกับ Panasonic, SK Innovation และ Samsung SDI ก็มีการปรับตัวมาเร่งขยายซัพพลายเชนแบตเตอรี่แพคชนิด LFP เช่นกัน โดยในช่วงต้นปี 2024 ที่ผ่านมา พวกเขาเพิ่งประกาศว่าจะพึ่งพาแหล่งทรัพยากรราว 160,000 ตันจากบริษัท Changzhou Liyuan New Energy Technology ของจีนเป็นเวลา 5 ปี สำหรับการผลิตขั้ว Cathode (ขั้วลบ) ในแบตเตอรี่ LFP
● ทว่าในกรณีของ LG นอกจากแบตเตอรี่แพคชนิด LFP แล้ว เรโนลท์จะยังคงเลือกใช้แบตเตอรี่แพคชนิด Lithium nickel manganese cobalt oxides (NCM) ของ LG ซึ่งเดิมทีมีการผลิตในโรงงานที่โปแลนด์อยู่แล้วคู่กันไปด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบ 2025 Renault 5 E-Tech
● ทั้งนี้ เรโนลท์ กรุ๊ป ได้มอบหมายให้ “Ampere” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเรโนลท์ ทำงานร่วมกับ CATL และ LG โดยตรงในการจัดหาแบตเตอรี่แพคสำหรับผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ในเครือ ไม่ว่าจะเป็นเรโนลท์เอง, ดาเซีย (Automobile Dacia S.A.) รวมถึงแบรนด์ไฮเอนด์อย่างอัลพีน (Alpine) ด้วย อย่างน้อยจนถึงปี 2030
● Josep Maria Recasens ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทแอมแปร์ ให้ความเห็นว่า “ในสภาวะการแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การวางกลยุทธ์เรื่องแบตเตอรี่ของเราเป็นข้อพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพในการใช้แนวทางเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ (open approach) และการเติบโตของธุรกิจในแนวราบ (horizontal approach) ร่วมกับคู่ค้าชั้นนำ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราสามารถจัดสรรเงินทุนได้อย่างเหมาะสม และมีการทำงานที่รวดเร็วขึ้น สอดคล้องกับแผนงานหลักของเรา (แอมแปร์) ที่ต้องการจะลดต้นทุน (ให้บริษัทแม่) ให้ได้สูงสุดถึง 40% ในการผลิตรถรุ่นต่อไป”
● และเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนแบตเตอรี่ แอมแปร์ยังเผื่อเหลือเผื่อขาดด้วยการใช้บริการคู่ค้าดั้งเดิมอย่าง Automotive Energy Supply Corporation (AESC) และ Verkor ซึ่งทั้งคู่มีฐานการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion ในฝรั่งเศสเองด้วยเช่นกัน
● เรโนลท์ก่อตั้งบริษัท แอมแปร์ ขึ้นในปี 2022 และเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2023 โดยเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานหลัก “Renaulution” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ระดับองค์กรของเรโนลท์… ในเบื้องต้น แอมแปร์และ LG จะร่วมกันพัฒนาแบตเตอรี่แพครุ่นใหม่ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยี Cell-to-Pack ตามยุคสมัย เพื่อใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยรถรุ่นแรกของเรโนลท์ที่จะติดตั้งแบตเตอรี่ LFP จากโรงงาน จะมีคิวเปิดตัวภายในช่วงปี 2026 ●
The post Renault วางแผนใช้แบตเตอรี่ LFP คาดลดต้นทุนการผลิตลงได้ 40% appeared first on motortrivia.