Stellantis เสียงเข้ม เตือนแบรนด์ในเครือที่ไม่ทำกำไรอาจต้องโบกมือลา
เรื่อง : AREA 54 ● ในช่วงกลางปี 2020 ข้อตกลงสำคัญระดับโลกระหว่าง Fiat Chrysler Automobiles และ Groupe PSA ในการควบรวมกิจการและจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ใหม่ในนาม Stellantis อาจเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยา
เรื่อง : AREA 54
● ในช่วงกลางปี 2020 ข้อตกลงสำคัญระดับโลกระหว่าง Fiat Chrysler Automobiles และ Groupe PSA ในการควบรวมกิจการและจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ใหม่ในนาม Stellantis อาจเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์… ทว่าผ่านไปราว 4 ปี การเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ในสังกัดถึง 14 แบรนด์ ทำให้พวกเขามองเห็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจ และต้องคิดหนักว่าจะทำอย่างไรกับแบรนด์ที่ไม่ทำกำไรดี? แม้ว่าบางแบรนด์นั้นจะมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานนับ 100 ปี
● ฟังดูน่าใจหาย แต่แบรนด์เก่าแก่ที่ต้องจากไปตามวาระ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นฝั่งสหรัฐฯ เอง ยักษ์ใหญ่อย่างเจนเนอรัล มอเตอร์ และฟอร์ด ต่างก็เคยหั่นแบรนด์ที่ไม่ทำกำไรอย่าง Mercury, Oldsmobile, Pontiac และ Saturn มาแล้ว แม้ว่าทุกแบรนด์จะเคยมีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์กับรถรุ่นยอดนิยมในบางช่วงก็ตาม
● ก่อนอื่น เรามาดูกันว่า 14 แบรนด์ดังกล่าวของสเตลแลนทิสนั้นมีอะไรบ้าง? เมื่อเรียงตามตัวอักษรจะประกอบด้วย Abarth, Alfa Romeo, Chrysler, Citroën, Dodge, DS (ซับ-แบรนด์หรูของซีตรอง), Fiat, Jeep, Lancia, Maserati, Opel, Peugeot, RAM และ Vauxhall
Carlos Tavares
● หลังพ้นช่วงครึ่งแรกของปี 2024 CEO ของสเตลแลนทิส Carlos Tavares ให้ข้อมูลว่า ผลประกอบการของพวกเขามีกำไรสุทธิที่ลดลงถึง -48% สาเหตุหลักๆ มีทั้งสภาวะของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง, การแข่งขันอย่างหนักด้านราคา รวมถึงปัญหาการดำเนินงานของแบรนด์ในเครือเองด้วย นั่นทำให้เขาต้องออกโรงเตือนว่า แบรนด์ที่ไม่ทำกำไรอาจจะต้องถูกปิดตัวลง
● ในจำนวนแบรนด์ข้างต้น แบรนด์เก่าแก่อย่าง ดอดจ์, จีพ และเฟียท มีกำไรที่ลดลงเกือบครึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024 ในขณะที่รายงานตัวเลขกำไรสุทธิที่ลดลงถึง -48% นั้น ส่งผลให้ราคาหุ้นของกลุ่มสเตลแลนทิสร่วงลง 8.5% ทันที
● อย่างไรก็ตาม จากคำให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters แบรนด์ที่ถูกจับตาว่าอาจจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือซับ-แบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง DS ของซีตรอง และ 2 แบรนด์สัญชาติอิตาเลียนอย่าง แลนเซีย และมาเซราติ
● Carlos Tavares ระบุว่า ผลประกอบการที่ลดลงนั้น เป็นผลจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าของบริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นตัวเลขที่ลดลง -16% แม้ว่าตลาดรถโดยรวมจะมีตัวเลขเติบโตขึ้นก็ตาม Tavares ให้ความเห็นว่า การจะตัดสินใจทำอะไร (ในอนาคต) นั้น ไม่ควรมีอารมณ์อ่อนไหวเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อต้องพูดถึงแบรนด์ที่มีผลประกอบการขาดทุน
● “ถ้าพวกเขาทำกำไรไม่ได้ เราก็จะยุติการดำเนินงานของพวกเขา เพราะเราไม่สามารถเก็บแบรนด์ที่ทำเงินไม่ได้เอาไว้” Tavares กล่าว “ในขณะที่เราต้องหามาตรการเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เรายังวางแผนจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ อย่างน้อย 20 รุ่นในปีนี้ด้วย และนั่นจะช่วยสร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่กว่า (การปิดตัวบางแบรนด์) เมื่อเราดำเนินงานได้เหมาะสม”
● แม้ว่าตามข่าวจะมีชื่อแลนเซีย แต่สำหรับแผนงานในเบื้องต้น สเตลแลนทิสคาดว่าจะพึ่งพารถไฟฟ้า B-segment Lancia Ypsilon รุ่นใหม่เจนฯ 4 ช่วยเพิ่มตัวเลขยอดจำหน่ายในยุโรป และอาศัยปิคอัพฟูลไซส์อย่าง RAM 1500 ซึ่งจะใช้งานเครื่องยนต์ใหม่ตระกูล Hurricane ผลงานของไครสเลอร์ (ในนาม Stellantis North America) ในรุ่นปี 2025 ลุยตลาดอเมริกาเหนือ รวมทั้งจะมีการเข้าร่วมสงครามหั่นราคารถยนต์นั่ง, รถปิคอัพ และรถ SUV ตามข้อเรียกร้องของดีลเลอร์ด้วย (ซึ่งจริงๆ แล้ว Carlos Tavares เคยปฏิเสธแนวคิดนี้) ●
The post Stellantis เสียงเข้ม เตือนแบรนด์ในเครือที่ไม่ทำกำไรอาจต้องโบกมือลา appeared first on motortrivia.