ฮอร์โมน AMH วัดความเสื่อมรังไข่ เสี่ยงมีบุตรยาก
‘แต่งงานเร็ว สุขภาพแข็งแรง’ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ประสบปัญหา ‘มีบุตรยาก’ ผู้หญิงทุกคนเกิดมาพร้อมไข่ในรังไข่ที่มีจำนวนแน่นอนและไม่สามารถสร้างเพิ่มใหม่ได้ ปริมาณและคุณภาพของไข่จะลดลงเรื่อยๆเมื่อมีอายุมากขึ้น ทำให้โอกาสตั้งครรภ์ลดน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ
- Feb 22 2021
- 132
- 5086 Views
ฮอร์โมน AMH วัดความเสื่อมรังไข่ เสี่ยงมีบุตรยาก
‘แต่งงานเร็ว สุขภาพแข็งแรง’ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ประสบปัญหา ‘มีบุตรยาก’ ผู้หญิงทุกคนเกิดมาพร้อมไข่ในรังไข่ที่มีจำนวนแน่นอนและไม่สามารถสร้างเพิ่มใหม่ได้ ปริมาณและคุณภาพของไข่จะลดลงเรื่อยๆเมื่อมีอายุมากขึ้น ทำให้โอกาสตั้งครรภ์ลดน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
“ฮอร์โมน AMH คืออะไร”
ฮอร์โมนแอนตี้มูลเลอเรียน (Anti-Mullerian Hormone) หรือเรียกสั้นๆว่า AMH คือฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่ เป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการทำงานของรังไข่และบอกจำนวนไข่ที่สามารถผลิตได้ ฮอร์โมน AMH จะมีค่าสูงขึ้นและลดลงเรื่อยๆ เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัวและจะลดลงจนหมดไปเมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่าปัจจัยภายนอกต่างๆ ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ลดประสิทธิภาพลง พบว่าคุณผู้หญิงหลายท่านที่ตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH ไม่สัมพันธ์กับอายุ
“ทำไมต้องตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH”
การตรวจ AMH คือการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH ซึ่งระดับเลือดของฮอร์โมนนี้ ผลการตรวจสามารถบ่งบอกว่ามีจำนวนไข่เหลืออยู่สำหรับการเจริญพันธุ์มีมากน้อยเพียงใด และช่วยบอกถึงโอกาสสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF หรือ ICSI) เพื่อช่วยในการวางแผนการมีบุตรสำหรับคุณผู้หญิงที่ต้องการมีบุตรในวันนี้และในอนาคต
“ข้อดีของการตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH”
- ช่วยประเมินความสามารถของการทำงานของรังไข่เพื่อประเมินโอกาสการตั้งครรภ์
- ช่วยให้แพทย์แนะนำแนวทางเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้กับคุณผู้หญิงได้มากขึ้น
- ช่วยประเมินความเหมาะสมในการวางแผนการตั้งครรภ์ให้กับคุณผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป
- ช่วยให้แพทย์ประเมินว่าควรให้การกระตุ้นรังไข่มากน้อยแค่ไหนจึงเหมาะสม เพื่อประกอบการรักษาภาวะมีบุตรยาก
- ค่า AMH ที่สูง ช่วยประเมินภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือ Ploycystic Ovary Syndrome (POCS) ร่วมกับการประเมินอื่นๆ ได้
“ใครควรตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH”
- ผู้ที่ผ่านการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดหรือการผ่าตัดรังไข่
- ผู้ที่กำลังวางแผนทำ IVF หรือวิธีการอื่นเพื่อช่วยในการตั้งครรภ์
- ผู้ที่พยายามตั้งครรภ์มานานกว่า 6 เดือน มีอายุมากกว่า 35 ปี
- ผู้ที่พยายามตั้งครรภ์มานานกว่า 12 เดือน มีอายุน้อยกว่า 35 ปี
- ผู้ที่ต้องการฝากไข่ เพื่อวางแผนอนาคตการมีบุตร
- ผู้ที่ต้องการตรวจว่ามีไข่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์หรือไม่
การตรวจ AMH เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
บทความโดย : นพ.เสฐียรพงศ์ จารุสินธนากร
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :World ART Center ชั้น 4 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)โทร. 02-836-9999 ต่อ 4706