เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เตรียมความพร้อมก้าวสู่การพัฒนาพื้นที่ในเฟสสาม มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองยกระดับความปลอดภัย ติดตั้งและทดลองใช้ 5G ในตำบลบ้านฉางเพื่อบูรณาการสู่เมืองต้นแบบสมาร์ตซิตี พร้อมอบรมความรู้ชุมชนยกระดับทักษะบุคลากรภาคการท่องเที่ยวยกระดับ 12 ชุมชนใน อีอีซี สร้างโมเดลการท่องเที่ยววิถีชุมชนยั่งยืน
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในบทบาทของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟความเร็วสูง เมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด แต่อีอีซียังมีพันธกิจและบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่อีอีซีให้ความสำคัญในปีนี้
นาง ชลจิต วรวังโส วีรกุล ผู้ช่วยเลขาธิการด้านเศรษฐกิจมหาภาค สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เล่าว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี แบ่งงานออกเป็น 3 ส่วนหลักได้แก่ งานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการส่วนต่อขยายของท่าเรือมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบัง งานยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม และงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น งานด้านการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันเมื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืบหน้าไปได้ตามเป้าหมายแล้ว ในปี 2564 นี้ อีอีซี จึงมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชน
การพัฒนาชุมชนตามแนวทางของอีอีซีมีงานที่สำคัญในหลายส่วนด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาโครงข่าย 5G และการนำร่องการประยุกต์ใช้ 5G ที่ตำบลบ้านฉางเป็นพื้นที่เมืองต้นแบบ สมาร์ทซิตี้เมืองน่าอยู่
ที่มีการวางแผนการจัดการให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
นายปรมินทร์ แสงศักดิ์สิทธารถ รองปลัดเทศบาลตำบลบ้านฉาง ให้ข้อมูลว่า ตำบลบ้านฉางเป็นเมือง
ที่อยู่คู่อุตสาหกรรม เพราะมีนิคมอุตสาหกรรมเอเชียและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอยู่ด้านทิศตะวันออก จึงมีปัญหาเรื่องมลพิษ จึงเป็นความท้าทายในการยกระดับให้ตำบลเป็นเมืองน่าอยู่ เมื่อปี 2562 มีการจัดทำบ้านฉางโมเดลเพื่อเป็นเมืองต้นแบบและได้รับการสนับสนุนจากอีอีซีและ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) ในการติดตั้ง 5G ช่วยให้การทำสมาร์ตซิตีเกิดขึ้นได้จริง
เทศบาลตำบาลบ้านฉาง มีการติดตั้งระบบ 5G และ เสาอัจฉริยะที่สามารถเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อม คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ การจราจร โดยระบบเซ็นเซอร์บันทึกภาพและกล้องวีดิโอ เพื่อเฝ้าระวังติดตามความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงนำข้อมูลที่ได้รับประมวลผลบริหารจัดการให้เมืองมีความน่าอยู่มากขึ้น ที่ผ่านมามีเคสที่เกิดขึ้นจริง และได้ใช้ข้อมูลจากเสาอัจฉริยะในการคลี่คลายคดีอุบัติเหตุและคดีอื่นๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปีนี้เมื่อติดตั้งเสาอัจฉริยะครบ 146 จุด จะทำให้การทำงานของเมืองอัจฉริยะชัดเจนยิ่งขึ้น
และในช่วงที่เศรษฐกิจบอบช้ำ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีอีซีได้จัดทำโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีชุมชน เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี และภาคการท่องเที่ยวยังมีมูลค่าคิดเป็นประมาณ 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของ 3 จังหวัด การยกระดับทักษะบุคลากรทางด้านการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายจึงสำคัญอย่างมาก
ที่ผ่านมาอีอีซีเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนในหลายรูปแบบทั้งโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านกองทุน
อีอีซี รวมถึงโครงการล่าสุดที่อีอีซีจัดทำโครงการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อยกระดับทักษะบุคลากรภาคการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งชุมชนตะเคียนเตี้ย เป็น 1 ใน 12 ชุมชนเป้าหมายที่อีอีซีมีแผนการยกระดับพัฒนาทักษะบุคลากร
นาย วันวิวัฒน์ เกศวา รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์องค์กร สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า อีอีซีเห็นโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาทักษะ อาชีพ และสินค้าชุมชน ภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยคัดเลือกชุมชน
12 แห่งเข้าร่วมโครงการพัฒนาชุมชน ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นในรูปแบบ Demand Driven โดยจัดหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เช่น ที่ชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย แม้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง แต่ก็ยังต้องการอบรมในบางหลักสูตร เช่น การตลาดและการจัดทำแพ็คเกจท่องเที่ยว ซึ่งอีอีซีจะเข้าสนับสนุนในจุดนี้
ภายใต้กรอบการทำงานของอีอีซีในปี 2564 จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเป็นลำดับแรก โดย
ดร.ชลจิต กล่าวอย่างชัดเจนว่า การพัฒนาคนเป็นหัวใจของการพัฒนาอีอีซี โครงการต่าง ๆ ที่อีอีซีดำเนินการล้วนแล้วแต่ช่วยเพิ่มโอกาส ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในหลากหลายมิติ ทั้งการพัฒนาโครงการพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพก็ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอีอีซีทั้งสิ้น
การสร้างเมืองต้นแบบที่สำเร็จจึงไม่ใช่แค่เพียงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว
แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคน ยกระดับความรู้ความสามารถ ควบคู่กับการสร้างความสุข ยกระดับจิตใจ ท้ายที่สุดแล้วอีอีซีจะเป็นต้นแบบการพัฒนา ที่ภูมิภาคอื่นของประเทศสามารถ
นำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสุขที่ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกับได้อย่างยั่งยืน
ข่าวด่วน
ทวิตเตอร์ @easymediaasia