พร้อมเปิดพื้นที่ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน
ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก ซึ่งกินเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ทุกภาคส่วนเกิดความเสียหายซึ่งมีผลกระทบทั่วโลก เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว มทร.อีสานมีส่วนร่วมในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าวภายใต้นโยบายของสภามหาวิทยาลัยโดย ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภา มทร.อีสาน มีความห่วงใยนักศึกษา บุคลากร ผู้ปกครอง และภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จึงมอบหมายให้ผู้บริหาร มทร.อีสาน กำหนดมาตรการในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว อาทิเช่น การลดค่าเทอม 10 เปอร์เซ็นต์ การปิดพื้นที่และให้บุคลากรทำงานที่บ้าน Work from home พร้อมทั้งมอบนโยบายให้ทุกวิทยาเขตสนับสนุนการทำงานให้กับส่วนราชการที่วิทยาเขตตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็น วิทยาเขตขอนแก่น วิทยาเขตสุรินทร์ วิทยาเขตสกลนคร โครงการจัดตั้งวิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ รวมถึงการสนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษาทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้บุคลากรและนักศึกษาได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วทุกวิทยาเขต รวมกว่า 40 เปอร์เซนต์ โดยหลังการฉีดวัคซีนไม่เกิดอาการข้างเคียงใดที่น่ากังวล และ มทร.อีสาน ได้มีการสนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษาลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนให้ครบ 100 เปอร์เซนต์ในส่วนพื้นที่นครราชสีมาได้ดำเนินการส่งบุคลากรจิตอาสา มทร.อีสาน ในการสายด่วนลงทะเบียนรับวัคซีน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกันยายน 2564 ณ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและมีการส่งบุคลากรจิตอาสาวันละ 60 คน และอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 50 เครื่อง เพื่อให้บริการรับลงทะเบียนผู้ฉีดวัคซีน ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลนครราชสีมา
ด้าน รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า ในส่วนของวิทยาเขตสกลนคร นั้น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตและการได้รับการเข้าถึงการฉีดวัคซีนของประชาชนคนไทย จึงได้สนับสนุนพื้นที่ห้องประชุมราชมงคล อาคาร 12 ซึ่งเป็นสถานที่กว้างขวาง โล่ง โปร่ง เย็นสบาย มีจุดพักคอย มีสถานที่จอดรถที่สะดวกสบาย เพื่อให้เป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลพังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร เนื่องจากพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลนั้นคับแคบและมีข้อจำกัดด้านการเว้นระยะห่าง รวมถึงการสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ สถานที่ และบุคลากรจิตอาสาให้บริการอำนวยความสะดวกตลอดการให้บริการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน เป็นต้นไป โดยจะเป็นการฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรค ประชาชนทั่วไป และบุคลากร มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร
ด้าน ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันไวรัสโคโรนา COVID-19 ของ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น นั้น เราดำเนินงานตามนโยบายของ มทร.อีสาน ร่วมกับประกาศจากจังหวัดขอนแก่นและกระทรวงสาธารณสุข ทั้งด้านมาตรการเฝ้าระวัง การรณรงค์ให้บุคลากรและนักศึกษาปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งระดมแม่บ้านทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ลิฟท์ ราวบันได กลอนประตู ฯลฯ และการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรและนักศึกษา ลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนตามที่ได้รับจัดสรรของจังหวัดขอนแก่น ตามสื่อต่างๆ อาทิเช่น เฟสบุค เวปไซต์ ป้ายไฟอิเล็กทรอนิกส์ ป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ เป็นต้น
ด้าน รศ.ดร.สำเนาว์ เสาวกูล รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสุรินทร์ กล่าวว่า มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือโควิด-19 โดยให้ความร่วมมือจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่ในช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 3 โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารวิทยาเขตสุรินทร์ได้มีมติเห็นพ้องต้องกันในการเปิดพื้นที่ห้องประชุมของวิทยาเขตสุรินทร์ปรับเป็นโรงพยาบาลสนามให้กับโรงพยาบาลสุรินทร์ เนื่องจากเรามีพื้นที่ขนาดใหญ่ อากาศโปร่ง สบาย รองรับการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้บุคลากรและนักศึกษาลงทะเบียนและฉีดวัคซีนให้ได้ 100 เปอร์เซนต์ โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อาทิเช่น เฟสบุ๊ค และเว็ปไซต์ด้วยเช่นกันครับ
นอกจากวิทยาเขตต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีในส่วนของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมี ผศ.ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยและโครงการพิเศษ เป็นผู้กำกับดูแลนั้น เบื้องต้นได้มีการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของนักศึกษาและบุคลากรแล้ว ซึ่งรายชื่อกลุ่มนี้จะรวบรวมและนำไปพิจารณาร่วมกับกลุ่มของ มทร.อีสาน นครราชสีมา เพื่อเป็นการช่วยเหลือและดูแลบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงกันครับ ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
ทวิตเตอร์ @easymediaasia