อว. จับมือ วช. หนุน อมตะสยาม” ชูความงดงามผ่านเสียงดนตรี
อว.จับมือ วช. หนุนพลังดนตรีคลาสสิกผ่านบทเพลงชุดอมตะสยามกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา พร้อมศิลปินระดับประเทศ สร้างปรากฏการณ์กระหึ่มศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หวังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่ได้ฟังเพลง ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นและมาตรฐานทางด้านวิจัยแล
- Jan 28 2023
- 138
- 3073 Views
อว.จับมือ วช. หนุนพลังดนตรีคลาสสิกผ่านบทเพลงชุดอมตะสยามกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา พร้อมศิลปินระดับประเทศ สร้างปรากฏการณ์กระหึ่มศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หวังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่ได้ฟังเพลง ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นและมาตรฐานทางด้านวิจัยและดนตรีระดับสากล
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่าเวทีในวันนี้เป็นผลการวิจัยที่นำเอาเพลงไทยในอดีต ซึ่งย้อนหลังไปไกลมากถึงสมัยอยุธยา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการจัดแสดงมาแล้วทั่วประเทศ แต่ละครั้งที่จัดถือว่าเป็นการนำเอาเสียงดนตรีมาผสานกับโบราณสถานที่มีค่า อยู่คู่กับเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ หรือวัดพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น รวมทั้งที่เมืองโบราณของอยุธยาด้วย แต่ละที่ก็ไปก็ปลุกเร้าให้ความรู้สึกถึงคำว่าศิลปะ สุนทรียะ อารยะ โดยเฉพาะที่เป็นดนตรีของไทย ที่ผมเชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้หายไปไหนและยังแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มีลูกเล่นที่ถูกใจคนยุคปัจจุบันและจะสานต่อไปจนถึงในอนาคต จะไม่ใช่เป็นแค่ดนตรีของไทยเท่านั้น แต่จะเป็นดนตรีของโลก ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และในที่สุดจะเป็นดนตรีของโลกครับ ดนตรีไทยยังตามหลังเขาหน่อยในแง่ที่เราคิดว่า ดนตรีไทยเป็นโบราณ วันนี้อาจารย์สุกรี เจริญสุข เป็นคนคิดและได้รับการสนับสนุนด้วยดีจาก ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ในการจัดเวทีในวันนี้ เราจะทำดนตรีไทยให้เป็นดนตรีที่มีมาตรฐาน มีรสนิยมที่คนทั้งโลกเข้าใจได้ และผมคิดว่ายังมีอะไรต้องทำต่อไป คณะวิจัยที่ทำงานได้ดี ทุนต้องวิ่งไปหาเหมือนเช่นงานในวันนี้ นี่เป็นตัวอย่างงานวิจัยที่เราอยากให้ทุน รวมถึงทุกวงการ ทุกสาขาวิชาชีพได้ทำการวิจัย ไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการเท่านั้น
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยดนตรีไปพัฒนาประเทศ เป็นการวิจัยค้นหาองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการทำนุบำรุงรักษามรดกด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรี รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมดนตรีขึ้นใหม่ นำวัฒนธรรมดนตรีไปเผยแพร่สู่สาธารณะ ทั้งในระดับชาติและระดับสากล ซึ่งถือเป็นความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมดนตรีของชาติ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่วันนี้ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยบทเพลงอมตะสยามชิ้นนี้ ซึ่งความภูมิใจในวันนี้ไม่เฉพาะว่าได้อนุมัติให้นักวิจัยได้ทำงานเท่านั้น แต่การทำงานให้เสร็จและมีคุณภาพสูงจะส่งผลต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคมวิชาการดนตรีด้วย นอกจากนี้ยังเป็นความภูมิใจที่ได้รักษามรดกวัฒนธรรมเพลงอมตะสยามเอาไว้ ขอชื่นชมมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และคณะทำงานวิจัยทุกท่าน รวมทั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ร่วมให้ข้อคิดเนื้อหาวิชาการเป็นอย่างสูง ทุกท่านมีส่วนทำให้โครงการวิจัยดนตรีชิ้นนี้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม นอกจากจะทำงานวิจัยสำเร็จเสร็จแล้ว ยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่ได้ฟังเพลง สร้างความเชื่อมั่นและมาตรฐานทางด้านวิจัยและดนตรีให้แก่งานวัฒนธรรมดนตรีของชาติได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เปิดเผยว่า ในยุคสมัยใหม่เด็กมักอยู่กับโลกอินเทอร์เนต หลายบ้านปล่อยคนแก่ให้เกิดความเหงา จึงเป็นที่มาของโครงการปล่อยแก่ การร้องเพลงของคนแก่จะเรียกว่าดนตรีบำบัด (Music therapy) เสียงดนตรีจะเป็นเสียงบำบัดซึ่งแทรกซึมเข้าไปทางรูขุมขนของร่างกายส่งไปถึงส่วนของหัวใจ ทำให้เกิดสารแห่งความสุข นำไปสู่การเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ คนแก่เมื่อได้ยินเสียงเพลงจะยิ้มแย้มแจ่มใส เหตุผลที่เสียงเหล่านี้เข้าไปช่วยคนแก่เพราะอยากให้เขาได้ร้อง ได้ปล่อยความทุกข์ ดนตรีคือเสียงมหัศจรรย์ที่ช่วยขจัดความเจ็บปวดและความเจ็บป่วย เมื่อได้ร้องเพลงกลับเป็นคนลืมเจ็บลืมป่วย เขามีความรู้สึกว่าเมื่อเขาได้ร้องเพลงเขาได้เป็นตัวของตัวเอง เขาได้ลืมความทุกข์ ปลดเปลื้องความอึดอัด ทำให้เขาเดินข้ามความทุกข์ไปได้ทำให้เขาสดชื่นขึ้น
การแสดงอมตะสยามเราสนใจว่าคนแก่เขาอยากร้องเพลงอะไรชอบเพลงอะไรเป็นเพลงที่เขาคุ้นเคยเราจึงคัดเลือกเพลงที่เขานิยมและเป็นเพลงที่เขาจะอยากร้องมาแสดงในวันนี้ผมตั้งใจว่าหากคนแก่เขาได้ทำในสิ่งที่ชอบได้ปล่อยความแก่ปลดปล่อยความสุขออกไปจะทำให้ชีวิตคนแก่มีความสุขมหาศาลเขาจะได้มีชีวิตที่ยืนยาวดูแลตัวเองได้ไม่เป็นภาระของลูกหลานรู้สึกมีคุณค่าเพราะคนแก่เขาเป็นคนมีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในอดีตก็มีความเก่งในแต่ละคนมีเกียรติมีบารมีคนแก่เหล่านี้อนาคตเขาอาจจะไม่ได้ยาวนานแต่ประสบการณ์ของคนแก่ยาวไกลเด็กอาจจะมีอนาคตไกลแต่ประสบการณ์เขาน้อยถือว่าเป็นตำราชีวิตที่ยิ่งใหญ่
ในส่วนบทเพลงชุดอมตะสยามนี้ผมได้ตั้งใจรังสรรค์ขึ้นจากหัวใจที่อยากส่งต่อให้กับผู้ฟัง โดยได้นักเรียบเรียงเสียงประสานบทเพลง 3 คน ตั้งแต่ผู้มีประสบการณ์สูงและรักษาขนบดั้งเดิมเอาไว้ คือ พันเอก ดร. ประทีป สุพรรณโรจน์ นักเรียบเรียงรุ่นกลาง คือ ดร. ธีรนัย จิระสิริกุล ซึ่งเป็นนักเปียโนผู้ที่มีฝีมือสูง คาดหวังว่าจะเป็นผู้ที่นำเพลงไทยออกจากขนบประเพณีเดิม และนักเรียบเรียงเสียงประสานรุ่นใหม่ ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักในการเรียบเรียงเพลงไทยมาก่อน ดร. ปิยวัฒน์หลุยลาภประเสริฐได้ทำงานโดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อจะนำเพลงไทยไปสู่โลกอนาคตนำเพลงไทยไปสู่ความเป็นสากลซึ่งจากผลงานการวิจัยดนตรีอมตะสยามในครั้งนี้ได้สรุปความหมายของดนตรีคลาสสิกเสียใหม่ว่าเป็นเพลงที่มีความละเอียดมีความประณีตตั้งแต่การประพันธ์เพลงการถ่ายทอดบทเพลงกลั่นออกมาจากใจโดยการเรียบเรียงเสียงเพลงอย่างประณีตการบรรเลงอย่างบรรจงด้วยฝีมือชั้นสูงมีความตั้งใจในการแสดงและความตั้งใจของผู้ฟังในการฟังเป็นต้นทำให้ดนตรีทุกชนิดสามารถเข้าข่ายความเป็นดนตรีคลาสสิกได้
การนำบทเพลงของท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านเพลงไทยมาเรียบเรียงโดยนักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถเล่นดนตรีโดยนักดนตรีที่มีความสามารถสูงแสดงในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราผู้ฟังชื่นชอบเพราะว่าเป็นบทเพลงที่รู้จักคุ้นหูและมีความหมายต่อวิถีชีวิตและสังคมซึ่งเป็นส่วนประกอบของเพลงคลาสสิกทั้งสิ้นการแสดงเพลงชุดอมตะสยามในครั้งนี้จึงเป็นโฉมหน้าใหม่ของดนตรีไทยและสังคมไทยเป็นจุดเปลี่ยนของวงการดนตรีไทยเป็นจุดจบของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดนตรีแบบดั้งเดิมแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของมิติและวัฒนธรรมเพลงดนตรีใหม่โดยคนรุ่นใหม่เพื่อคนรุ่นใหม่การบริหารจัดการดนตรีแบบใหม่ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญก็คือเป็นทางออกที่ทำได้และเป็นไปได้
นอกจากนี้ยังมี ดร.สุชาติ วงษ์ทอง มาร่วมสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบเพลงต่างๆ อาทิ เพลงสรรเสริญถวายไชยมงคล รัชกาลที่ 5 เพลงวอลซ์ปลื้มจิตร เพลงเขมรไทรโยค โดยการบรรเลงกีตาร์คลาสสิก จากนายชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ต่อด้วยการแสดง เพลงสายสมร ขับร้องโดย นางสาวกมลพร หุ่นเจริญ เพลงสุดใจ ขับร้องโดย นางสาวกมลพร หุ่นเจริญ เพลงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงเชิดจีน เพลงลาวแพนออกซุ้ม และพิเศษสุดกับบรรเลงขลุ่ย โดย อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ซึ่งตลอดการแสดงอมตะสยามอำนวยเพลง โดย พันเอก ดร. ประทีป สุพรรณโรจน์ และ ดร. ธีรนัย จิรสิริกุล นอกจากนี้ยังมีการแสดงบทเพลงสี่ภาค ขับร้องโดยวงขับร้องประสานเสียง “ปล่อยแก่” ซึ่งเป็นวงขับร้องประสานเสียงจากกลุ่ม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ให้มีไฟที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งที่อยากทำอีกครั้ง โดยใช้เสียงเพลงและดนตรีเป็นสื่อในการสร้างสรรค์พัฒนากิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดการขยายผลสู่วงกว้าง เกิดความต่อเนื่อง และเกิดแรงกระเพื่อมในการเสริมสร้างสุขภาวะ “ทั้งกายและใจ” ของผู้สูงอายุในสังคมไทย ปัจจุบันมีการดำเนินการ และขยายผลออกไปทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ผู้สนใจสามารถรับชมบันทึกความทรงจำ และเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปให้ได้รับชมในวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2566 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ThaiPBS ครับ รศ.ดร.สุกรี กล่าวตอนท้าย