อเมริกา
อ่านนัยการเมือง ปมไบเดนขวางดีลญี่ปุ่นเทคโอเวอร์ ‘ยูเอส สตีล’
นักวิเคราะห์มองว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ขัดขวางข้อเสนอของบริษัทนิปปอน สตีล จากญี่ปุ่น ที่ขอซื้อกิจการยูเอส สตีล ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ในสหรัฐฯ ด้วยเงิน 14,900 ล้านดอลลาร์ อาจส่งแรงกระเพื่อมทั้งในและนอกประเทศ แนวทางของไบเดนที่ออกมาในวัน
นักวิเคราะห์มองว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ขัดขวางข้อเสนอของบริษัทนิปปอน สตีล จากญี่ปุ่น ที่ขอซื้อกิจการยูเอส สตีล ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ในสหรัฐฯ ด้วยเงิน 14,900 ล้านดอลลาร์ อาจส่งแรงกระเพื่อมทั้งในและนอกประเทศ
แนวทางของไบเดนที่ออกมาในวันศุกร์มีขึ้นหลังกระแสต่อต้านการซื้อกิจการยาวนานหลายเดือน โดยแถลงการณ์ของทำเนียบขาวอธิบายว่า ดีลนี้จะ “นำผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ไปอยู่ใต้การควบคุมของต่างชาติ และสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติและห่วงโซ่อุปทานของเรา”
ไบเดนไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่าข้อเสนอทางธุรกิจนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอย่างไร
ด้านหนึ่ง การล้มดีลครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของแรงงานอุตสาหกรรมเหล็กในเมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย รัฐสมรภูมิที่มีความสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่เมื่อเดือนมีนาคม สหภาพแรงงานเหล็ก United Steelworkers ประกาศสนับสนุนไบเดนในตอนที่เขายังจะลงเลือกตั้งประธานาธิบดี
แมทธิว กูดแมน ผู้อำนวยการโครงการ RealEcon จากสถาบันคลังความคิด Council on Foreign Relations ระบุว่า “นี่เป็นการตัดสินใจทางการเมืองอย่างชัดเจน ที่ประธานาธิบดีไบเดนค่อย ๆ พินิจพิเคราะห์มานาน เขาตั้งใจที่จะสื่อสารว่าเขาจะปกป้องแรงงานอเมริกัน โดยเฉพาะในภาคส่วนเหล็กกล้า”
แมทธิวกล่าวกับวีโอเอว่า อุตสาหกรรมเหล็กกล้ามีความสำคัญและเป็นภาคส่วนที่เจอกับแนวทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่ก็ยังยากที่จะเข้าใจเหตุผลด้านความมั่นคงที่ไบเดนยกขึ้นมาเป็นเหตุผลการล้มข้อตกลงนี้
กฎหมายของรัฐบาลกลางมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีพิจารณาขัดขวางธุรกรรม ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการด้านการลงทุนจากต่างชาติในสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจเนต เยลเล็น เป็นประธาน ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วยังไม่มีข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ในเรื่องเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศในดีลนี้
นักวิเคราะห์และผู้ให้คำปรึกษาบางรายมองว่าการปฏิเสธข้อเสนอของนิปปอน สตีล อาจกระทบความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทั้งคู่ค้าและพันธมิตรรายสำคัญ
ด้านจอห์น เฟอร์รารี ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน American Enterprise Institute กล่าวว่า “ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นในแปซิฟิก พวกเขามีความสามารถในการต่อเรือและการผลิต ดังนั้นเราต้องการพวกเขา”
เฟอร์รารีกล่าวด้วยว่า “การให้พวกเขาลงทุนในสหรัฐฯ จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น”
ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม ไม่เห็นด้วยกับการเข้าซื้อกิจการของสหรัฐฯ เช่นกัน และเคยกล่าวว่าจะขวางดีลนี้ และจะใช้นโยบายด้านภาษีเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ
ทั้งบริษัทนิปปอน สตีล และยูเอส สตีล ประกาศว่าจะดำเนินการทางกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้กระทำผ่านแนวทางที่ถูกต้อง
ทั้งสองบริษัทระบุในแถลงการณ์ว่า “แถลงการณ์ของประธานาธิบดีและตัวคำสั่ง ไม่ได้นำเสนอหลักฐานที่น่าเชื่อถือในเรื่องความมั่นคงของประเทศ ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่า(คำสั่ง)นี้เป็นการตัดสินใจทางการเมือง”
การตัดสินใจของไบเดนเป็นอีกหนึ่งรูปธรรมของแนวทางการปกป้องธุรกิจในประเทศในรัฐบาลนี้ ที่เมื่อปีที่แล้วเพิ่งประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนสามเท่า
แถลงการณ์จากประธานาธิบดีในวันศุกร์ระบุว่า “เป็นเวลานานเกินไปแล้ว ที่บริษัทเหล็กของสหรัฐฯ เจอแนวทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เมื่อบริษัทต่างชาติทุ่มเหล็กเข้าตลาดโลกและในราคาแบบกดให้ต่ำ ทำให้เกิดการตกงานและปิดโรงงานในสหรัฐฯ” ที่มา: วีโอเอ