“TikTok” เปิดแคมเปญ “Mindful Makers” ดึงครีเอเตอร์ดังทำคอนเทนต์ “สุขภาพจิต” ดูแลใจเยาวชน
เยาวชนไทย 85% ใช้สื่อสังคมออนไลน์หาข้อมูลเรื่องที่สนใจ ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในโซเชียลมีเดียเป็นประเด็นสำคัญ จิตแพทย์เด็กเผยสถิติ 10% ของเยาวชนไทยวัยต่ำกว่า 18 ปีเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า และ 17% เสี่ยงฆ่าตัวตาย TikTok จึงเปิดตัวแคมเปญ Mindful M
- เยาวชนไทย 85% ใช้สื่อสังคมออนไลน์หาข้อมูลเรื่องที่สนใจ ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในโซเชียลมีเดียเป็นประเด็นสำคัญ
- จิตแพทย์เด็กเผยสถิติ 10% ของเยาวชนไทยวัยต่ำกว่า 18 ปีเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า และ 17% เสี่ยงฆ่าตัวตาย
- TikTok จึงเปิดตัวแคมเปญ Mindful Makers รวมครีเอเตอร์และผู้เชี่ยวชาญทำคอนเทนต์ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับ “สุขภาพจิต” และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชน
ยุคนี้โซเชียลมีเดียกลายเป็นสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนมากขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ จากข้อมูลการสำรวจผ่านแบบสอบถามของ lovefrankie (ครีเอทีฟเอเจนซี่ที่มุ่งแก้ไขปัญหาการพัฒนาสังคม เพื่อพัฒนาสังคม) สำรวจกลุ่มตัวอย่างเยาวชนไทยจำนวน 500 คน (อายุ 16-24 ปี) โดยมีสัดส่วนเพศชายและหญิงเท่ากัน ในประเด็นด้าน “สุขภาพจิต” ของเยาวชนไทย
การสำรวจนี้พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับคอนเทนต์ที่สร้างแรงสนับสนุนทางอารมณ์และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน รวมถึงคอนเทนต์ที่แบ่งปันเรื่องราวจากชีวิตจริง สร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน นอกจากนี้เยาวชนยังแสดงออกว่ามีความต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และเชื่อถือได้ผ่านโซเชียลมีเดีย
ผลการสำรวจยังพบว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่ตนสนใจอีกด้วย ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือในโลกโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและสนับสนุนด้านสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เยาวชนไทย 10% เสี่ยงซึมเศร้า 17% เสี่ยงฆ่าตัวตาย
ปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่เคยมีอัตราตัวเลขลดลงเลยในช่วง 34 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า 1 ใน 8 ของผู้คนทั่วโลกกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยทุกๆ 40 วินาที ในโลกนี้จะมีคนฆ่าตัวตาย 1 คน
‘ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และ TikTok Safety Advisory Councils เปิดเผยว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตของเยาวชนไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากข้อมูลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม 2567 พบว่า ในไทยมีเยาวชนไทยวัยต่ำกว่า 18 ปีราว 500,000 คน มากกว่า 10% ในจำนวนนี้หรือคิดเป็นประมาณ 50,000 คนมีความเสี่ยงเป็นโรคซีมเศร้า และอีก 17% หรือราว 80,000 คน มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย
ดร.นพ.วรตม์กล่าวด้วยว่า กลุ่มเด็กวัยรุ่นนั้นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางลบต่อจิตใจสูงกว่าวัยอื่น เนื่องจากเป็นวัยที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทำให้การใช้สื่อในเชิงบวกและปลอดภัยจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นที่มีความเปราะบางมากกว่า
ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรมีความรับผิดชอบในการดูแลการเลือกรับชมสื่อของเด็กๆ อีกทั้งครีเอเตอร์และผู้ผลิตสื่อทุกคนก็ควรให้ความสำคัญต่อการผลิตคอนเทนต์อย่างมีความรับผิดชอบ โดยการช่วยกันสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่จะช่วยสร้างการตระหนักรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจิตด้วยตัวเอง ตลอดจนถึงการเอาใจใส่คนรอบข้างและคนที่เราพบเจอบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างสังคมออนไลน์ให้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความสุขสำหรับทุกคน
‘Mindful Makers’ แคมเปญจาก ‘TikTok’ เพื่อดูแล ‘สุขภาพจิต’
TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมาแรงแห่งยุคจึงต้องการจะช่วยสร้างสังคมออนไลน์ที่ดีต่อสุขภาพจิตมากขึ้น ‘ชนิดา คล้ายพันธ์’ Head of Public Policy, Thailand กล่าวว่า มีผู้คนนับล้านเข้ามาที่ TikTok ทุกวันเพื่อแบ่งปันและค้นหาคอมมูนิตี้ที่ตรงกับความสนใจ ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่มีการค้นหาข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับด้าน “สุขภาพจิต” TikTok พบว่ามีผู้ใช้เข้ามาค้นหาแหล่งข้อมูลในด้านนี้บนแพลตฟอร์มถึงกว่า 500,000 คนต่อเดือน
เหตุนี้ TikTok จึงต้องการจะสร้างความมั่นใจว่าผู้ใช้แพลตฟอร์มจะได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้บนแพลตฟอร์มนี้ผ่านการเปิดตัวแคมเปญ ‘Mindful Makers‘ โครงการที่ช่วยส่งเสริมการตระหนักรู้และทักษะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตผ่านชุมชนออนไลน์
Mindful Makers จะมีการรวบรวมครีเอเตอร์ชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตมาร่วมสร้างพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัย โดย TikTok จับมือกับกับ “กระทรวงสาธารณสุข” ของประเทศไทย แอปพลิเคชัน “SATI” และเครือข่ายผู้สร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการนำคอนเทนต์ที่น่าสนใจและเชื่อถือได้เกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตใจเข้าสู่แพลตฟอร์ม
ในโครงการนี้ TikTok มีการเชิญเหล่าครีเอเตอร์ที่จะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์และเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพจิตที่เชื่อถือได้มากมาย เช่น หนึ่ง-ปฐมาภรณ์ ตันจั่นพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการไลฟ์สตรีมมิ่ง และเจ้าของช่อง @this.is.neung , แจน-วรินรำไพ ไตรพัชรพัฒน์ เจ้าของช่อง @janjanuary1 นอกจากนี้ยังมีครีเอเตอร์ภายใต้โครงการอีกหลายท่าน ได้แก่ @ppeachy28 @dr.tangmakkaporn @tam.kulissara @caraunited และ @kruyuy.supaporn เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการ Mindful Makers โดย TikTok ก่อตั้งขึ้นในฐานะโครงการริเริ่มระดับชาติในประเทศไทย ที่มีความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO – World Health Organization) โดยมีเป้าหมายเพื่อมอบข้อมูลด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้และมีหลักฐานอ้างอิงแก่ผู้คน