เศรษฐกิจ
ศก.จีนส่งสัญญาณขยายตัว ก่อนแนวโน้มสงครามการค้ายุค 'ทรัมป์'
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยแพร่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคการผลิตของจีนประจำเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 50.3 จาก 50.1 เมื่อเดือนตุลาคม ตัวเลขที่สูงกว่า 50 เป็นตัวบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยแพร่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคการผลิตของจีนประจำเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 50.3 จาก 50.1 เมื่อเดือนตุลาคม
ตัวเลขที่สูงกว่า 50 เป็นตัวบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว
แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง หลังการผลิตหดตัวมาหลายเดือนเพราะออเดอร์น้อยลง ไม่เพียงเท่านั้นยอดการค้าปลีกยังโตสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และยอดขายภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เคยตกต่ำก็ปรับตัวขึ้น มีเพียงภาคส่วนบริการที่ความเคลื่อนไหวหดตัวลงเล็กน้อย ตามการรายงานของรอยเตอร์
สัญญาณบวกที่จีนในช่วงปลายปีอาจถูกทดสอบในเดือนมกราคมปีหน้า เมื่อสหรัฐฯ เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ที่จะนำโดยว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ใช้นโยบายกำแพงภาษีหาเสียงมาตลอดในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ประกาศว่าจะตั้งภาษีนำเข้าจากจีน 10% เพื่อต่อรองให้รัฐบาลปักกิ่งจัดการการลักลอบขนส่งสารเคมีที่ผลิตในจีน ซึ่งถูกใช้ในการผลิตสารเสพติดเฟนทานิล
อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 10% ยังถือว่าต่ำกว่าระดับ 60% ที่เขาประกาศไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง
ยอดการส่งออกของจีนในเดือนตุลาคมมีอัตราการเติบโตสูงกว่าที่คาดเอาไว้ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นเพราะโรงงานรีบจัดส่งสินค้าออกไปยังตลาดสำคัญ ๆ ให้ทันก่อนที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะออกมาตรการกำแพงภาษี
นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจที่กระเตื้องนี้อาจมีผลจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปักกิ่ง แต่นโยบายของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯ ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งปีหน้า ก็ทำให้ยังคาดการณ์แนวโน้มปีหน้าไม่ได้
จาง จีเว่ย ประธานและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท Pinpoint Asset Management กล่าวกับรอยเตอร์ว่า “สงครามการค้ากำลังใกล้เข้ามา และจะชะลอการตัดสินใจการลงทุนของเหล่าบรรษัท นักลงทุนคาดหวังการกระตุ้นทางการเงิน แต่ว่าขนาดและมูลค่าการใช้จ่ายนั้นยังไม่มีความแน่นอน”
เขากล่าวด้วยว่าผลของการประชุมของคณะทำงานกลางด้านเศรษฐกิจในเดือนธันวาคมอาจจะทำให้เห็นแนวโน้มของเศรษฐกิจปีหน้าได้
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนประกาศใช้งบประมาณ 10 ล้านล้านหยวน (ราว 47 ล้านล้านบาท) เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะหนี้สินในระดับการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นหลังธนาคารกลางประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อหวังให้เศรษฐกิจเติบโตตามเป้าหมายที่ 5%
จาง ลี่คุน นักวิเคราะห์จาก China Logistics Information Center มองว่าดัชนี PMI ที่สูงขึ้นคือสัญญาณว่าเศรษฐกิจระดับฐานรากกำลังฟื้นตัว และนโยบายสร้างความมั่นใจและกระตุ้นภาคธุรกิจกำลังเห็นผลที่เข้มข้นขึ้น
ทั้งนี้ เขากล่าวว่า อุปสงค์ที่ไม่เพียงพอยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับบริษัทในเรื่องการผลิต และจำเป็นต้องให้ภาครัฐลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพในภาคส่วนธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น ที่มา: รอยเตอร์