นักวิจัย มข. โชว์ผลงานสุดเด่น…พัฒนาต่อยอดสำเร็จ “แผ่นรังไหมรับแรง” M16 ทะลวงไม่ทะลุ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “งานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนเอ็ม 16” ซึ่งเป็นการวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน จากเดิมที่สามารถป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ พัฒนาต่อยอดสู่แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. กระสุนปืน M16 อ
- Sep 02 2020
- 86
- 8559 Views
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “งานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนเอ็ม 16” ซึ่งเป็นการวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน จากเดิมที่สามารถป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ พัฒนาต่อยอดสู่แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. กระสุนปืน M16 อาวุธที่ใช้ทางทหารได้สำเร็จ โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดการแถลงข่าว และ ผศ.พนมกร ขวาของ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อ. สุธา ลอยเดือนฉาย นักวิจัย ร่วมกันแถลงข่าว ณ ห้องรับรองพิเศษ ศาลาช่อกาลพฤกษ์ สํานักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ.พนมกร ขวาของ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อ. สุธา ลอยเดือนฉาย ได้ทำการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยจากเดิมที่วิจัยเรื่องแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น อาทิ กระสุนขนาด 9 มิลลิเมตร 11 มิลลิเมตร ที่ประสบความสําเร็จไปแล้ว ขณะนี้ได้ก้าวไปอีกขั้น โดยสามารถผลิตแผ่นรังไหมให้สามารถรับกระสุนปืนที่แรงและมีขนาดใหญ่ขึ้นได้สําเร็จ พร้อมทั้งได้จดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว
“จุดเด่นของงานวิจัยนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่ใช้ในเสื้อเกราะกันกระสุนทั่วไป พบว่ามีน้ำหนักเบากว่า 2-3 เท่า และอีกคุณสมบัติเด่น คือ การหยุดจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบ เนื่องจากแผ่นโลหะทําให้กระสุนเกิดการแฉลบซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้ที่อยู่ข้างเคียงเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ คณะนักวิจัย ยังได้พัฒนาแผ่นรังไหมรับแรงออกมาหลายรุ่นที่รับแรงกระสุนปืนขนาดต่าง ๆ และน้ำหนักเบาขึ้นในแต่ละรุ่น เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้ารับการปรึกษากับนักวิจัยได้” รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวในที่สุด
ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. เผยว่า ผลงานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน จากเดิมที่สามารถป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ทุกชนิด ขณะนี้ได้ทำการพัฒนาต่อยอดสู่แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร กระสุนปืน M16 อาวุธที่ใช้ทางทหารได้สำเร็จ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานขั้นกว่าสำหรับกลุ่มอาวุธสงคราม โดยมี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม และรุ่นน้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่าแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่ใช้ในเสื้อเกราะกันกระสุนทั่วไปในปัจจุบัน 2-3 เท่า
ผศ.ดร.พนมกร กล่าวด้วยว่า สำหรับด้านกระบวนการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. นั้น “มีกระบวนผลิตแตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น โดยยังใช้รังไหมที่มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ต้านทานแรงกระแทกได้ดี แต่เพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงน้ำยาชนิดพิเศษเพื่อให้วัสดุต่าง ๆ ยึดเกาะกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้แผ่นรังไหมที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. หรือกระสุนปืน M16 ได้ ซึ่งแตกต่างจากแผ่นรังไหมเดิมที่รับได้เฉพาะแรงกระสุนปืนสั้นเท่านั้น แม้ว่าจะนำมาซ้อนกันถึง 4 แผ่น แต่กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. ก็สามารถทะลุได้ ต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงงานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งคิดค้นสำเร็จนี้ โดยได้จดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว
อาจารย์ สุธา ลอยเดือนฉาย กล่าวเพิ่มเติมว่า “คุณสมบัติเด่นของแผ่นรังไหมรับแรง คือ การหยุดจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบ เนื่องจากพบว่าการใช้แผ่นโลหะทำให้กระสุนเกิดการแฉลบซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ และหากเปรียบเทียบคุณสมบัติที่ดีกว่าเกราะอ่อนกันกระสุนที่ทำจากเคฟลาร์ พบว่าแผ่นรังไหมรับแรงมีราคาถูกกว่า และยังสามารถป้องกันอาวุธมีคม อาทิ มีด ซึ่งไม่สามารถแทงทะลุแผ่นรังไหมได้ แต่สามารถแทงทะลุเกราะอ่อนได้ ตอนนี้แผ่นรังไหมรับแรงมี 2 แบบ คือ แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น ซึ่งมี 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 0.9 กิโลกรัม น้ำหนัก 0.75 และน้ำหนัก 0.55 กิโลกรัม และแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งมี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 2 กิโลกรัม และ 1.6 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อาทิ ทหาร ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายเดน หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงชายแดนภาคใต้
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ได้แสดงผลการทดสอบยิงแผ่นรังไหมรับแรงในสนามยิงปืน ด้วยอาวุธปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร สำหรับแผ่นรังไหมรับแรง รุ่นน้ำหนัก 2 กิโลกรัม และ 1.6 กิโลกรัม พบว่าแผ่นเกราะรังไหม นน. 2 กก. ด้านหน้ากระสุนฝังใน แต่ไม่ทะลุแผ่นซับแรง และด้านหลังบวมออกมาเล็กน้อย ส่วนขนาดน้ำหนัก 1.6 กิโลกรัม ด้านหน้ากระสุนฝัง แผ่นซับแรงด้านหลังบวมแตกแต่กระสุนไม่ทะลุออกมา ถือว่าเป็นผลการทดลองที่ปลอดภัยน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง
เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ไม่ได้อยู่บนหิ้งอีกต่อไป ที่นักวิจัยได้คิดค้นวิจัยสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติ ผู้สนใจ สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร. พนมกร ขวาของอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ อ. สุธา ลอยเดือนฉาย โทร. 089 840 6586