เปิดมุมมอง ออย ไอรีล กับชีวิตคิดบวก ที่พร้อมส่งต่อพลังใจให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
“มะเร็งเต้านม” หากเอ่ยคำนี้มันช่างน่ากลัวในความรู้สึก เพราะนั่นคือมะเร็งร้ายอันดับ 1 ที่คร่าชีวิต ผู้หญิงไทย แต่หากใส่ใจในการตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอ และมีการเตรียมการรับมืออย่างถูกต้อง รวดเร็ว รักษาทันทีเมื่อตรวจพบ ก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรค และอัต
- Dec 08 2021
- 53
- 8487 Views
“มะเร็งเต้านม” หากเอ่ยคำนี้มันช่างน่ากลัวในความรู้สึก เพราะนั่นคือมะเร็งร้ายอันดับ 1 ที่คร่าชีวิต ผู้หญิงไทย แต่หากใส่ใจในการตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอ และมีการเตรียมการรับมืออย่างถูกต้อง รวดเร็ว รักษาทันทีเมื่อตรวจพบ ก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรค และอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงได้มาก
คุณออย-ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้ง “อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์” ART for CANCER จุดเริ่มต้นจากโครงการเล็ก ๆ ที่คอยส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งในด้านกำลังใจและทุนทรัพย์ โดยใช้ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์เป็นสื่อกลาง ปัจจุบันได้ต่อยอดกลายเป็นกิจการเพื่อสังคมอยู่ภายใต้บริษัทอาร์ต ออฟ ไลฟ์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ปัจจุบันคุณออยเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษาในระยะที่ 4 แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และทัศนคติเชิงบวก ได้เล่าย้อนกลับไปเมื่อคราวที่ตรวจพบมะเร็งครั้งแรกว่า “ออยคลำเจอก้อนเนื้อที่หน้าอก และตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ระยะที่ 2 ซึ่งได้ลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ขวา โดยตรวจพบก่อนเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ เพียงแค่ 1 สัปดาห์ ในขณะที่อายุได้เพียง 27 ปี และเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตได้เลย แต่เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องตั้งสติ และยอมรับ พร้อมเตรียมตัวเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาด้วยการผ่าตัด ให้เคมีบำบัด และฉายแสง โดยในระหว่างที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตก็ทำให้ได้เรียนรู้และเห็นความจริงของชีวิต ออยคิดว่า “มะเร็งสำหรับออย ก็คือปัญหา ๆ หนึ่งในชีวิต เชื่อว่าทุกคนจะมีปัญหาในชีวิตคนละแบบ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องเผชิญและรับมือ แต่ความยากของมันคือ เป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ แต่เบื้องต้นเชื่อว่าเรื่องของทัศนคติ มุมมอง และวิธีการที่เราจะเผชิญหน้ากับปัญหาว่าจะอยู่กับมันยังไง รวมถึงการเรียนรู้ การปรับตัว และการยอมรับความจริง สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นทัศนคติการจัดการที่ต้องมี ซึ่งภายหลังจากการพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 ปี และโรคสงบไปกว่า 5 ปี ในปี 2560 มะเร็งได้กลับมาและลุกลามไปยังปอดทำให้ต้องมีการผ่าตัดปอดออกไปส่วนหนึ่ง และครั้งนี้ก็ไม่ได้มีการการันตีว่ามะเร็งจะจากไป”
“ระหว่างการรักษาตัวหลังจากการให้เคมีบำบัดครั้งสุดท้าย จุดเริ่มต้นของ ART for CANCER ก็ได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 โดยโครงการมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ เริ่มจากการเปิดเพจชื่อเดียวกับโครงการ ขอบริจาคงานศิลปะจากเพื่อน ๆ รวมถึงการทำเสื้อ Cancel Cancer เพื่อนำมาจำหน่าย และนำรายได้ไปบริจาคให้ 3 มูลนิธิ คือ ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิรามาธิบดี และมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ นอกจากนี้ก็ยังได้รับผลตอบรับและได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากศิลปิน จิตอาสา ผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงองค์กรต่าง ๆ เป็นอย่างดี จากโครงการเล็ก ๆ เติบโตเป็นโครงการต่อเนื่องนาน 5 ปี ก่อนที่มะเร็งจะกลับมาเยือนอีกครั้ง จุดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งในชีวิตเมื่อคิดว่าโครงการที่เราทำมากับมือจะหายหรือตายไปพร้อมกับเราไม่ได้หากเราไม่อยู่แล้ว จึงได้ทำการเปลี่ยนโครงการเล็ก ๆ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืน และจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท ภายใต้อาร์ต ออฟ ไลฟ์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งและสร้างผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวกให้มากขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยมะเร็งอย่างยั่งยืน ด้วยการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งในเรื่องของทุนทรัพย์ในการรักษา เสริมสร้างกำลังใจ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้กับผู้ป่วย ซึ่งเราเชื่อว่ามันคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยและญาติสามารถรับมือกับโรคมะเร็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”
คุณออยกล่าวเสริมว่า “ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคไหนก็ต้องระมัดระวังตัวเองกันมากขึ้น รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้วยอาจจะเกิดความวิตกกังวลในเรื่องการเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งทุกอย่างก็อาจจะได้รับการรักษาล่าช้าไป ซึ่งในบางกรณีผู้ป่วยโควิดอาจจะฉุกเฉินต้องได้รับการรักษาก่อนผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่ต้องรอการรักษา สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาต้องพบแพทย์อย่างต่อเนื่องก็เกิดความกลัวในการเดินทาง การไปโรงพยาบาล เนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด เพราะหากผู้ป่วยมะเร็งได้รับเชื้อโควิดแล้วก็จะเกิดความยุ่งยากและอันตรายกว่าคนทั่วไปมากขึ้นไปอีก สำหรับการดูแลตัวเองของผู้ป่วยมะเร็งก็คงไม่ต่างจากคนทั่วไปแต่อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น”
“ภาพจำเก่า ๆ ที่ว่าเป็นมะเร็งแล้วต้องตาย หรือคุณภาพชีวิตแย่ ในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไปแล้ว ด้วยยา และเทคโนโลยีการรักษามะเร็งก็ดีขึ้น พัฒนาไปมากขึ้น รวมทั้งหากเราได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ เราก็มีโอกาสที่จะรอดชีวิตสูงมาก รวมถึงคนที่ต้องอยู่กับมะเร็งอย่างออยที่อาจจะรักษาแล้วกลับมาเป็นซ้ำหรือลุกลามอีก แม้กระทั่งว่าเราเป็นระยะที่ 4 เราก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ถึงแม้จะไม่ปกติก็ตาม การปรับมุมมองในการดำเนินชีวิตนั้นมีความสำคัญ เราจะต้องมีสติให้มั่น เรียนรู้วิธีรับมือกับโรค ในส่วนการรักษาทางกายเราก็ต้องให้แพทย์รักษาอย่างเต็มที่และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องของจิตใจและการรับมือก็ต้องเป็นตัวเรา และคนรอบข้างที่จะช่วยสนับสนุนเราให้ก้าวผ่านช่วงเวลายาก ๆ ไปได้ ออยให้ความสำคัญกับ 2 สิ่งนี้มาก ทั้งกำลังใจ การดูแลจิตใจก็เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กับการรักษากาย ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ ต้องได้รับการดูแลอย่างสมดุลควบคู่กันเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
“มะเร็งเต้านม ไม่เพียงแต่เป็นภัยคุกคามผู้หญิงไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 อีกด้วย การตรวจคัดกรองจึงเป็นเรื่องสำคัญกว่าที่คิด หากเราพบเร็วและรู้แต่เนิ่น ๆ ก็มีโอกาสที่จะหายขาด สามารถรักษาไม่ให้ลุกลามไปที่อวัยวะอื่น และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้สูง ผู้หญิงทุกคนควรใส่ใจเรียนรู้การตรวจสุขภาพเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยท่ามาตรฐานง่าย ๆ นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตและไม่ควรละเลยในความผิดปกติในร่างกายของเราเอง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุน้อยอาจจะคิดว่าไม่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม แต่ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีอายุที่น้อยลงเรื่อย ๆ อย่างออยพบในวัยเพียง 27 ปี การมีความรู้หรือทักษะ ก็เป็นอีกหนึ่งความสำคัญ ในระหว่างกระบวนการรักษา หากไม่มีความรู้ในโรคที่เราเผชิญอยู่ผู้ป่วยอาจเสียโอกาสในการรักษา อย่างออยได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในการรักษา ทำให้ได้เรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งมาเป็นเวลานาน ผ่านกระบวนการรักษามาหลายขั้นตอน ทำให้มองเห็นปัญหา และเกิดแรงบันดาลใจในการคิดและออกแบบ “สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง” ขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีความรู้พื้นฐานในโรคมะเร็ง อย่างน้อยให้เกิดความเข้าใจเมื่อคุยกับคุณหมอ ทั้งมีการจดบันทึก การเตรียมคำถามก่อนไปพบคุณหมอ และเก็บบันทึกเมื่อพบคุณหมอ เรียกได้ว่าสามารถวางแผนและติดตามผลได้อย่างเป็นระบบ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังช่วยสนับสนุนการทำงานของหมอ และทำให้การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและหมอเข้าใจได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย ล่าสุด ได้เตรียมทำสมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง ในเวอร์ชั่น 2 ซึ่งมีการพัฒนาข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกับสถานวิทยามะเร็งศิริราช และบุคลากรทางการแพทย์ โดยจะพร้อมผลิตในต้นปีหน้า และมอบให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง 20,000 เล่ม พร้อมกับลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ แต่หากในอนาคตสถานการณ์โควิดไม่ดีขึ้น อาจจะเปลี่ยนการจัดเป็นรูปแบบออนไลน์ เน้นการให้ความรู้ การรับมือกับมะเร็ง และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมะเร็ง รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลตัวเอง และการมีส่วนร่วมในการรักษาของแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาตนเอง และตอบโจทย์ตัวเขาเองในเรื่องของคุณภาพชีวิต ซึ่งออยคิดว่าสมุดบันทึกพิชิตมะเร็งที่จะส่งต่อในปีหน้านี้จะเป็นประโยชน์และช่วยพลิกชีวิตผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยได้”
“ออยอยากเห็นความยั่งยืนของการร่วมมือกันขององค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น การนำความรู้ของผู้ป่วยที่มีอยู่แล้วมารวบรวมแล้วนำมาส่งต่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยด้วยกัน หรือ อย่างสมุดจดบันทึกพิชิตมะเร็งที่ออยจัดทำแจกผู้ป่วยที่เป็นแนวปฏิบัติให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนที่ป่วยแล้วต้องการอะไร มันเหมือนเป็นทางลัดให้เขา แทนที่เขาจะไปอ้อมเวลาเจอปัญหา คลำหาทางออก แต่เรามีเครื่องมือให้เขาที่เราได้คัดกรองมาแล้ว ช่วยทำให้มันลดขั้นตอนบางอย่างที่เขาอาจจะต้องหลงทาง หรือจะตั้งสติยังไง คือออยมองว่ามันเป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ อยากให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงแพทย์ ช่วยให้สิ่งนี้ได้อยู่ต่อและส่งต่อไปค่ะ” คุณออยกล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล ให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็ง หรือต้องการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับ ART for CANCER สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://artforcancerbyireal.com/ หรือเพจ
https://www.facebook.com/artforcancerbyireal หรือหากต้องการพูดคุยสามารถทักผ่านช่องทาง Line ได้ที่ @artforcancer ทีมงานพร้อมให้คำปรึกษา และให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็งทุกคนค่ะ