รู้เท่าทันเชื้อ HIV
รู้หรือไม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคเอดส์ สามารถใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้ เพียงคนรอบข้างเข้าใจและเปิดใจ ดังนั้น เพื่อความมั่นใจและการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปลอดภัยจึงต้องทำความเข้าใจโรค ”HIV”ว่าควรปฏิบัติกันอย่า
- Nov 17 2023
- 198
- 8454 Views
รู้หรือไม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคเอดส์ สามารถใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้ เพียงคนรอบข้างเข้าใจและเปิดใจ ดังนั้น เพื่อความมั่นใจและการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปลอดภัยจึงต้องทำความเข้าใจโรค ”HIV”ว่าควรปฏิบัติกันอย่างไร ถึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
HIV (Human Immunodeficiency Virus) เอชไอวี ไวรัสชนิดหนึ่งที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้ผู้ได้รับเชื้อไม่สามารถต้านทานโรคต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีโรคร้ายอื่นๆ แทรกซ้อนเข้ามาทำร้ายร่างกายได้ง่าย เช่น โรควัณโรคปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคทางสมอง ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยส่วนใหญ่เกิดมาจากสาเหตุเหล่านี้
สาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีที่พบบ่อยที่สุด คือ ติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ สัมผัสเลือด น้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ หรือแม้แต่น้ำนมแม่ก็สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน
การติดเชื้อ HIV มี 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะเฉียบพลัน เป็นระยะแรกหลังรับเชื้อประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด
- ระยะอาการ ระยะนี้เชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกายแต่มักไม่แสดงอาการและระยะนี้ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อีกด้วย
- ระยะเอดส์ กว่าจะถึงระยะนี้ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่เคยได้ระงับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเลย ในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะ
สูญเสียภูมิคุ้มกันโรคและเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม
การป้องกัน HIV มีวิธีการอย่างไรบ้าง
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมดับผู้อื่น
- หากมีแผลเปิดหรือแผลสด ควรปิดแผลให้สนิท
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
- พบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสเอชไอวีทันที หากทราบว่าสัมผัสกับผู้ป่วยโรคเอชไอวี
- ตรวจเลือด หรือตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละครั้ง
แนวทางการรักษาของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน
แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน คือ การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีเท่านั้น เนื่องจากเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด โดยผู้ติดเชื้อจะได้รับยาต้านเอชไอวีอย่างน้อย 3 ชนิด และมีหลักการรักษา คือ ผู้ติดเชื้อต้องกินยาให้ตรงเวลาทุกวันอย่างต่อเนื่องเพราะยาจะไปทำการยับยั้งการแบ่งตัวและการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส ถ้าหยุดกินเมื่อไหร่ก็จะทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและแพร่กระจาย
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้ป่วยเอชไอวี สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ เพียงระมัดระวังและป้องกันการติดเชื้อระหว่างตัวผู้ป่วย และคนอื่นๆ ในบ้าน ควรป้องกันไม่ให้เชื้อโรคอื่นๆ ไปติดผู้ป่วยเอชไอวีเพราะผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้นจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติ หากเป็นโรคหรือติดเชื้อขึ้นมา ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าคนอื่นได้นั่นเอง
บทความโดย
แพทย์หญิง จารุณี ชีวินเจริญรุ่ง แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02- 836-9999 ต่อ *2921-2 ศูนย์อายุรศาสตร์ ชั้น 2