อย่าปล่อยให้ลูก เสี่ยง 'ฮ่องเต้ซินโดรม'
คุณพ่อคุณแม่โปรดหยุดพฤติกรรมตามใจลูกน้อยมากเกินไปจนขาดการควบคุมพฤติกรรมที่เหมาะสม เพราะลูกอาจเสี่ยงเป็นฮ่องเต้ซินโดรมได้ แน่นอนว่าภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อพัฒนาการและสร้างปัญหาให้กับลูกน้อยได้ในอนาคต ดังนั้นบทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับภาวะฮ่องเต้ซินโด
- Aug 26 2023
- 167
- 7209 Views
คุณพ่อคุณแม่โปรดหยุดพฤติกรรมตามใจลูกน้อยมากเกินไปจนขาดการควบคุมพฤติกรรมที่เหมาะสม เพราะลูกอาจเสี่ยงเป็นฮ่องเต้ซินโดรมได้ แน่นอนว่าภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อพัฒนาการและสร้างปัญหาให้กับลูกน้อยได้ในอนาคต ดังนั้นบทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับภาวะฮ่องเต้ซินโดรม และวิธีการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกเติบโตได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างเป็นสุข
ฮ่องเต้ซินโดรม คืออะไร ?
ฮ่องเต้ซินโดรม (Rich Kid Syndrome) คือกลุ่มอาการของเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากผู้ปกครองแบบตามใจมากเกินไป ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่แสดงออกทางวาจาและการกระทำที่ไม่เหมาะสม เช่น เอาแต่ใจ ก้าวร้าว เพราะพวกเขาไม่เคยรู้สึกผิดหวังหรือไม่เคยเผชิญความลำบาก มักยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้หากไม่รับการแก้ไขโดยด่วน จะส่งผลได้ในอนาคตเมื่อเขาโตขึ้น
พฤติกรรมแบบนี้ อาจส่งผลได้ในระยะยาว
- ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง อาจส่งผลให้เด็กไม่เรียนรู้การอยู่ในกฎกติกาในสังคม เพราะสนใจแต่ความต้องการของตนเป็นที่ตั้ง
- ไม่มีเหตุผล ทำให้เด็กขาดความเข้าใจการใช้เหตุผล ขาดตรรกะในวิธีคิดที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้
- เด็กแสดงพฤติกรรมไม่เคารพหรือไม่ให้เกียรติผู้อื่น ส่งผลให้เด็กขาดมารยาทและทักษะสำคัญในการเข้าสังคม
- เมื่อรู้สึกผิดหวังจะมีอาการเครียด แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้อื่นเสมอ
- ไม่มีความอดทน จัดการอารมณ์ตนเองไม่ได้ ทำให้แสดงอารมณ์รุนแรงเมื่อทุกสิ่งไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
ป้องกันฮ่องเต้ซินโดรมได้ ด้วยการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม
ผู้ปกครองสามารถป้องกันภาวะฮ่องเต้ซินโดรมได้ดังนี้
- ให้เวลากับลูกมากกว่าให้ลูกอยู่กับของเล่น เช่น ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
- สร้างกฎกติกาง่าย ๆ ในบ้านกับลูก เช่น กำหนดเงื่อนไขเวลานอน กิน เล่น ให้ตรงต่อเวลา ปลูกฝังความมีระเบียบวินัย เพื่อช่วยให้ลูกสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมในสังคมได้ และกำกับดูแลให้ลูกทำตามกฎกติกาอย่างสม่ำเสมอ
- สอนลูกด้วยเหตุและผล ให้รางวัลเมื่อมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยรางวัลที่ให้ควรเหมาะสมกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ไม่มากจนเกินไป
- อย่าให้รางวัลในรูปแบบของการติดสินบน ควรให้รางวัลด้วยคำพูด เช่นกล่าวชื่นชม ให้กำลังใจ หรือยินดีกับความสำเร็จของลูก
- ถ้าลูกทำผิด ต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสมทันที ตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า อย่างกังวลว่าถ้าลงโทษแล้วลูกจะไม่รักจนละเลยไม่ลงโทษ จะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ
แม้ในครอบครัวอาจจะยอมรับกับพฤติกรรมของลูกน้อยได้ แต่อย่าลืมว่าเมื่อลูกน้อยโตขึ้นต้องเข้าสู่รั้วโรงเรียน อาจทำให้มีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับเพื่อนและสังคม ดังนั้นการฝึกฝนให้ลูกรู้จักระเบียบวินัย ฝึกความอดทน และรู้จักความผิดหวัง จะทำให้ลูกสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และใช้ชีวิตในวัยเรียนได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้หากผู้ปกครองท่านใดมีความกังวลลูกน้อยจะเสี่ยงภาวะฮ่องเต้ซินโดรมหรือไม่ สามารถปรึกษาแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อรับคำแนะนำในการเลี้ยงดูลูกน้อยอย่างเหมาะสมต่อไป
บทความโดย แพทย์หญิงศิริพร แจ่มจำรัส (กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการด้านพัฒนาการเด็ก)
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก ชั้น 2 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
โทร 02-836-9999 กด 3 หรือ *2721-2