ไส้ติ่งอักเสบ ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
อาการปวดท้องอย่างหนึ่งที่หลายคนมักชะล่าใจและพบได้ทุกเพศทุกวัยนั่นคือ “ไส้ติ่งอักเสบ” โดยทั่วไปมักคิดว่าอาการปวดดังกล่าวเป็นอาการปวดโรคกระเพาะหรือท้องเสียธรรมดา แต่รู้หรือไม่ลักษณะอาการปวดไส้ติ่งอักเสบเริ่มแรกอาจจะคล้ายกับโรคกระเพาะหรือท้องเสียได้ทำให
- Apr 17 2023
- 135
- 8532 Views
อาการปวดท้องอย่างหนึ่งที่หลายคนมักชะล่าใจและพบได้ทุกเพศทุกวัยนั่นคือ “ไส้ติ่งอักเสบ” โดยทั่วไปมักคิดว่าอาการปวดดังกล่าวเป็นอาการปวดโรคกระเพาะหรือท้องเสียธรรมดา แต่รู้หรือไม่ลักษณะอาการปวดไส้ติ่งอักเสบเริ่มแรกอาจจะคล้ายกับโรคกระเพาะหรือท้องเสียได้ทำให้ถูกมองข้ามไปว่าไม่เป็นอันตราย แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจจะรุนแรงถึงชีวิต
ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอะไร ?
ไส้ติ่งเป็นติ่งของลำไส้ที่ยื่นออกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้น หากไส้ติ่งเกิดการอุดตันจะทำให้เกิดการอักเสบของไส้ติ่ง ซึ่งสาเหตุการอุดตันได้แก่อุจจาระหรือสิ่งแปลกปลอมหรือแม้กระทั่งเนื้องอกของลำไส้ไปอุดตรงบริเวณขั้วไส้ติ่ง หรือการติดเชื้อเช่นไวรัส แบคทีเรีย ปรสิตเป็นต้น ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชราแต่จะพบมากช่วง 10-19 ปี
ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่รักษาหายขาดได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดไส้ติ่งแตก ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่บริเวณช่องท้อง เยื่อบุช่องท้องอักเสบ มีหนองในช่องท้อง ติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจจะอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
อาการบ่งชี้ ไส้ติ่งอักเสบ
- ปวดท้องด้านขวาล่าง บางคนปวดเริ่มแรกรอบสะดือแล้วย้ายมาขวาล่าง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้สูง
- เบื่ออาหาร
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโดยส่วนใหญ่แพทย์จะใช้อาการ การตรวจร่างกายและผลเลือดพิจารณาเป็นหลัก ส่วนการตรวจโดยใช้ภาพทางรังสีเป็นส่วนประกอบเสริมได้แก่ อัลตราซาวนด์ ช่องท้อง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งความจำเป็นการตรวจเพิ่มเติมและการเลือกวิธีตรวจนั้นขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
วิธีการรักษา
ปัจจุบันวิธีมาตรฐานการรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบยังเป็นการผ่าตัด เนื่องจากไส้ติ่งอักเสบไม่สามารถรักษาหายได้ด้วยการรับประทานยาอย่างเดียว ซึ่งวิธีการผ่าตัดไส้ติ่งสามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
- การผ่าตัดแบบเปิด (Open appendectomy)
การผ่าตัดแบบเปิดเป็นวิธีการผ่าตัดไส้ติ่งโดยการลงแผลที่ท้องด้านขวาล่าง ซึ่งขนาดแผลจะอยู่ในช่วงประมาณ 2-10 เซนติเมตรขึ้นกับความหนาของหน้าท้องและระดับความรุนแรงการติดเชื้อ หรือในกรณีไส้ติ่งแตกอาจต้องเปิดแผลขนาดยาวบริเวณกลางท้องด้านล่างเพื่อทำความสะอาดภายในช่องท้อง
- การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic Appendectomy)
การผ่าตัดผ่านกล้อง โดยการเจาะรูเล็ก ๆ บริเวณสะดือ เหนือหัวหน่าว และบริเวณท้องด้านขวาหรือท้องน้อยด้านซ้าย ทำให้มีแผลขนาดเล็ก 0.5- 1 เซนติเมตรจำนวน 1-3 รู ซึ่งข้อดีของการผ่าตัดแบบส่องกล้องคือแผลจะเล็กกว่าผ่าตัดแบบเปิด ปวดแผลน้อยกว่า โอกาสแผลติดเชื้อน้อยกว่า ฟื้นตัวได้ไวกว่า โดยที่ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันการเกิดไส้ติ่งอักเสบได้อย่างชัดเจน แต่การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเช่น ผักและผลไม้ อาจจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะไส้ติ่งอักเสบได้มากกว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย สำหรับผู้ที่มีภาวะไส้ติ่งอักเสบ แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงรวมถึงความเสี่ยงหรือโรคร่วมของผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้หากใครมีอาการเข้าได้กับข้างต้นควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
***********************
บทความโดย แพทย์หญิงตรีทิพย์ เกิดสินธ์ชัย แพทย์ศัลยกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนเเจ้งวัฒนะ ( WMC )
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ศูนย์ศัลยกรรมเฉพาะทาง ชั้น 2 โทร. 02-836-9999 ต่อ *2621- 3