ต่างประเทศ
ไมโครซอฟท์: อาชญากรไซเบอร์เดินหน้าช่วยรัสเซีย-จีน-อิหร่าน โจมตีสหรัฐฯ หนักขึ้น
รายงานเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านดิจิทัลโดยบริษัทไมโครซอฟท์ชี้ว่า รัสเซีย จีนและอิหร่านเดินหน้าพึ่งพาเครือข่ายอาชญากรเพื่อดำเนินปฏิบัติการแฮกข้อมูลและจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์จากฝ่ายตรงข้าม เช่น สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี ความร่วมม
รายงานเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านดิจิทัลโดยบริษัทไมโครซอฟท์ชี้ว่า รัสเซีย จีนและอิหร่านเดินหน้าพึ่งพาเครือข่ายอาชญากรเพื่อดำเนินปฏิบัติการแฮกข้อมูลและจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์จากฝ่ายตรงข้าม เช่น สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลเผด็จการและแฮกเกอร์ของแก๊งอาชญากรรมทั้งหลายกลายมาเป็นประเด็นที่หน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ต่าง ๆ รู้สึกกังวลหนักขึ้นอย่างมาก
หนึ่งในตัวอย่างที่ไมโครซอฟท์อ้างถึงในรายงานฉบับนี้คือ กรณีที่นักวิเคราะห์พบว่า แก๊งแฮกเกอร์กลุ่มหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลอิหร่านทำการแทรกซึมเข้าไปในเว็บหาคู่ของอิสราเอลและขโมยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานออกมาเพื่อเรียกค่าไถ่หรือนำไปขายต่อ ซึ่งไมโครซอฟท์สรุปว่า แฮกเกอร์มีแรงจูงใจ 2 ประการ นั่นคือ เพื่อทำให้อิสราเอลขายหน้าและเพื่อหาเงิน
อีกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่มีการระบุในรายงานดังกล่าวคือ กรณีที่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนระบุตัวเครือข่ายอาชญากรรมสัญชาติรัสเซียกลุ่มหนึ่งได้ว่า ทำการแทรกซึมเข้าไปในอุปกรณ์อิเลกทรอนิกกว่า 50 เครื่องของกองทัพยูเครนเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งเชื่อกันว่า น่าจะเพื่อหาข้อมูลที่ช่วยให้รัสเซียรุกรานยูเครนได้สำเร็จ แต่ในกรณีนี้ ไม่พบแรงจูงใจด้านการเงินใด ๆ นอกจากค่าจ้างที่รัสเซียจ่ายให้เท่านั้น
ทอม เบิร์ท รองประธานบริษัทไมโครซอฟท์ ด้านความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของลูกค้า กล่าวว่า การศึกษาชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่ประเทศอย่างเช่น รัสเซีย จีน อิหร่านและเกาหลีเหนือ หันมาร่วมมือกับอาชญากรไซเบอร์เพิ่มมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ดี เบิร์ทเปิดเผยว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะยืนยันว่า รัสเซีย จีนและอิหร่านแบ่งปันทรัพยากรด้านนี้ระหว่างกัน หรือทำงานร่วมกับเครือขายอาชญากรกลุ่มเดียวกัน แต่ก็ชี้ว่า การที่รัฐบาลเหล่านี้เลือกมาพึ่ง “ทหารรับจ้าง” ทางไซเบอร์ที่เป็นเอกชนมากขึ้นแสดงให้เห็นว่า ศัตรูของสหรัฐฯ กำลังมุ่งใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอาวุธโจมตีหนักขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ รายงานของไมโครซอฟท์พบว่า ปฏิบัติการส่วนใหญ่ที่รัสเซียมีส่วนร่วมนั้นมุ่งเน้นไปยังยูเครน โดยมีเป้าหมายการโจมตีเป็นระบบของรัฐบาลและกองทัพ พร้อม ๆ กับการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเพื่อหวังบ่อนทำลายแรงสนับสนุนของชาติพันธมิตรทั้งหลายของกรุงเคียฟ แต่ยูเครนก็มีการตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางไซเบอร์ด้วย ดังเช่นในกรณีของสัปดาห์ที่แล้วที่มีการทำให้ระบบของสื่อรัฐบาลมอสโกบางแห่งล่มไป
นอกจากนั้น ยังมีการพบว่า เครือข่ายอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ทำงานกับรัสเซีย จีนและอิหร่านยังพุ่งเป้าโจมตีมายังผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันด้วยการสร้างเว็บไซต์และบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมเพื่อปล่อยข้อมูลเท็จและข้อมูลที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งปีนี้
นักวิเคราะห์ของไมโครซอฟท์ยังเห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ ที่ว่า รัสเซียมุ่งโจมตีแผนหาเสียงของรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ขณะที่ อิหร่านนั้นพยายามต่อต้านอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นหลัก
ทอม เบิร์ท รองประธานบริษัทไมโครซอฟท์ กล่าวเสริมว่า ทั้งรัสเซียและอิหร่านน่าจะเร่งเครื่องปฏิบัติการทางไซเบอร์ของตนในช่วงที่วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ งวดเข้ามาอยู่นี้
ในส่วนของจีนนั้น รายงานของไมโครซอฟท์ระบุว่า ไม่ได้ยุ่งกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเลย แต่มุ่งเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสและการเลือกตั้งในระดับรัฐและท้องถิ่นเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง และหลิว เพ็งหยู โฆษกประจำสถานทูตจีน กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า คำกล่าวอ้างทั้งหมดนี้ไม่มีมูล และกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า เป็นผู้ปล่อย “ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับภัยคุกคามจากการแฮกของจีน” เสียเอง
รัสเซียและอิหร่านนั้นก็ปฏิเสธคำกล่าวหาว่า ตนใช้ปฏิบัติการทางไซเบอร์ที่มุ่งเป้ามายังชาวอเมริกัน ขณะที่ ตัวแทนของเกาหลีเหนือยังไม่ติดต่อผู้สื่อข่าวกลับมาก่อนจัดพิมพ์รายงานข่าวนี้เสร็จ
ที่มา: เอพี