ต่างประเทศ
1 ปีสงครามกาซ่า: ภารกิจตัวประกันยังเดินต่อไป-แรงงานไทยกลับไปเสี่ยงชีวิต
เรื่องราวจากแรงงานที่เลือกเดินทางกลับไป จากอดีตตัวประกันที่กำลังเดินหน้าในเส้นทางใหม่ และท่าทีของผู้มีอำนาจในเมืองไทย สะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของไทยหลายด้านภายใต้สงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ทวีความตึงเครียดขึ้นในจังหวะครบรอบหนึ่งปีของการสู้รบ เสีย
เรื่องราวจากแรงงานที่เลือกเดินทางกลับไป จากอดีตตัวประกันที่กำลังเดินหน้าในเส้นทางใหม่ และท่าทีของผู้มีอำนาจในเมืองไทย สะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของไทยหลายด้านภายใต้สงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ทวีความตึงเครียดขึ้นในจังหวะครบรอบหนึ่งปีของการสู้รบ
เสียงไซเรนเตือนภัยและแสงสว่างบนท้องฟ้าที่วีระยุทธ สมจันทร์ แรงงานไทยในอิสราเอลบันทึกไว้ได้เมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันที่เขาและเพื่อนร่วมงานชาวไทยอีกนับสิบคนต้องเผชิญ หลังสงครามขยายวงไปยังแนวรบฝั่งเลบานอน ที่กลุ่มเฮซบอลลาห์ใช้เป็นฐานที่มั่น
“ปานดอกไม้ไฟลอยมา ผมกะบอกบ่ถืก มันบ่เคยเห็น มันข้ามหัวไป เพราะหม่องผมอยู่มันใกล้กรุงเทลอาวีฟ ประมาณ 30 กิโล ก็เลยเห็นจรวดมันพุ่งลง ก็เห็นหลายลูกอยู่ครับ” วีระยุทธเล่าเหตุการณ์เป็นภาษาอีสาน
แรงงานไทยจากจังหวัดสกลนครรายนี้บอกกับวีโอเอไทยผ่านทางโทรศัพท์ เล่าถึงการรับมือสถานการณ์ภายในแคมป์คนงาน ใจกลางไร่สตรอว์เบอร์รี่ นอกกรุงเทลอาวีฟ ที่ต้องวิ่งไปยังบังเกอร์ที่ห่างไปราว 500 เมตรเมื่อได้รับการแจ้งเตือนที่ให้เวลาไม่นานนัก
แรงงานไทยหลักหมื่นยังอยู่ในอิสราเอล
ราว 1 ปีก่อน วีระยุทธเป็นหนึ่งในแรงงานไทยนับหมื่นที่ต้องลี้ภัยกลับเมืองไทย หลังเหตุกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบเมื่อ 7 ตุลาคม 2023 ก่อนที่จะตัดสินใจกลับไปเสี่ยงชีวิตในอิสราเอลอีกครั้งเมื่อต้นปี 2024 แลกกับรายได้เป็นกอบเป็นกำเพื่อเลี้ยงครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง
“(สิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ) เรื่องความปลอดภัย หรือการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้พวกผมได้ไปหลบภัยก่อน แต่วันนั้นมันดีอย่างหนึ่ง เขาส่งมาประมาณสองนาทีแล้วเขาก็ยิงกันเลยครับ การแจ้งเตือนของอิสราเอล แต่ปัญหาคือผมอ่านภาษาเขาบ่ออก มันเตือนเข้าไปในหลุมหลบภัย กว่าสิแปลได้จรวดก็มาแล้ว”
อยากให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือเกี่ยวกับความปลอดภัย แต่ถามว่าอยากกลับบ่ ก็เรื่องเงินแหละครับ กลับยาก ทางบ้านก็ซื้อบ้านซื้อรถ ภาระก็หลาย” วีระยุทธกล่าว
ฐานข้อมูลกระทรวงแรงงานเมื่อเดือนสิงหาคม ระบุว่ามีแรงงานไทยในอิสราเอลจำนวนราว 13,000 คน ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าตัวเลขราว 25,000 คน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2023 ก่อนสงครามจะเริ่มต้นขึ้น
เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2024 ไทยส่งแรงงานจำนวน 309 คนไปทำงานที่อิสราเอล ภายใต้กรอบข้อตกลงรัฐต่อรัฐที่มีอยู่เดิม ถือเป็นชุดแรกนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น ตามการรายงานของเบนาร์นิวส์ สำนักข่าวภายใต้ United States Agency for Global Media (USAGM) เหมือนกับวีโอเอ
สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาชน และสมาชิกคณะกรรมาธิการการแรงงาน (กมธ.แรงงาน) ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยว่าภาคการเกษตรแทบทั้งหมดของอิสราเอลต้องพึ่งพาแรงงานไทย ทำให้อิสราเอลขาดแคลนแรงงานเมื่อต้องอพยพคนไทยออกไปในช่วงปีที่แล้ว
“ในแง่หนึ่ง สถานการณ์สู้รบมันหมายความว่าคุณรับประกันความปลอดภัยให้กับใครไม่ได้อยู่แล้ว มันก็เลยเป็นความน่ากังวล ต่อให้ทางอิสราเอลจะรับรอง บอกว่าเดี๋ยวมีเชลเตอร์ มีพื้นที่หลบภัย มีแผนอพยพ แต่ว่าหนึ่งข้อเท็จจริงก็คือ ในสถานการณ์สงครามเนี่ย มันรับประกันความปลอดภัยให้ใครไม่ได้ นี่แหละครับปัญหาใหญ่”
ส.ส.จากพรรคประชาชนกล่าวว่า รัฐสภามีอนุกรรมาธิการที่หารือเรื่องแรงงานไทยในอิสราเอลเมื่อปีที่แล้ว และมีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยและอิสราเอล ทำแนวทางให้แรงงานแจ้งข้อมูลการเปลี่ยนที่อยู่ ช่องทางติดต่อ หรือเปลี่ยนนายจ้าง เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่มีความเป็นปัจจุบันที่สุด ในกรณีที่ต้องติดต่อเพื่อประสานงานการอพยพหนีภัยสงครามในอนาคต
ตัวประกันไทย: ภารกิจของรัฐบาล และเรื่องของผู้รอดชีวิต
อีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลไทยยังพัวพันอยู่ในสงครามที่ตะวันออกกลาง คือชะตากรรมของตัวประกันชาวไทย
ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยและเครือข่ายภาคประชาชนชาวมุสลิม ใช้ช่องทางรัฐต่อรัฐและเครือข่ายส่วนตัวในการประสานงานให้ฮามาสปล่อยตัวประกันชาวไทยได้ถึง 23 คน แต่ปัจจุบันยังคงมีตัวประกันไทยในกาซ่าอยู่อีกหกคน อ้างอิงตามข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม
นิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย ให้สัมภาษณ์วีโอเอไทย ขณะเดินทางมาร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน ว่าภารกิจในเรื่องนี้ของไทยยังคงดำเนินต่อไป
“ไทยและกระทรวงการต่างประเทศ วาระหลักของเราที่เราเทิดไว้เหนือสิ่งอื่นใดก็คือการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองดูแลชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยในต่างแดน เราถึงประสบความสําเร็จในการนําตัวประกันกลับมาล็อตแรกได้เป็นประเทศแรก อันนี้ก็เกี่ยวเนื่องกับประเด็นแรกที่เราคุยกันก็คือว่า ทําไมเราถึงคิดว่าการไม่มีศัตรูหรือการไม่เลือกฝั่งมันเป็นประโยชน์กับเรา” นิกรเดชกล่าว
ท่ามกลางเรื่องราวของสงครามและแรงงานชุดใหม่ที่กำลังดำเนินไป ชีวิตของวิเชียร เต็มทอง อดีตตัวประกันไทยในกาซ่ากำลังเดินไปอีกเส้นทาง หลังได้รับการชดเชยเยียวยาจากรัฐบาลอิสราเอลตามสิทธิ์ และค่อย ๆ ฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยความรักจากครอบครัว
“ช่วงที่ผมหายไป พอกลับมา เขาบอกว่าพ่ออย่ากลับไปอีกนะ พ่ออยู่กับหนู ผมก็แบบอยู่กับลูก เห็นหน้าลูก ไม่คิดถึงเรื่องเก่า ๆ เลยครับ” วิเชียรกล่าว
อดีตตัวประกันที่เสียเพื่อนไปจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ต้องการที่จะเล่าถึงเรื่องราวในอดีต เพราะหากพูดถึง แผลในใจก็เหมือนจะเปิดออกมาใหม่ และจากนี้ไปจะใช้เงินทุนที่มีช่วยภรรยาทำธุรกิจอยู่ที่บุรีรัมย์
“ฝันเรื่องเก่า ๆ เลยครับ ได้นอนบ้างไม่ได้นอนบ้าง กลับบ้านมาก็เป็นเหมือนอยู่นู่นเลยครับ กว่าจะปรับสภาพได้ก็ประมาณ 2-3 เดือนถึงจะใช้ชีวิตปกติ”
“ส่วนมากถ้ามีใครมาถามอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็บอกว่าไม่พูดถึงดีกว่าเพราะมันเหมือนผมไม่คิดแล้ว ถ้ามีคนมาถามปุ๊บผมจะคิดปั๊บเลย เหมือนแบบ มันเจอมาหนัก ก็เลยตัดสินใจไม่พูดดีกว่า” วิเชียรกล่าว
การบุกโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส สังหารประชาชน 1,200 คน และจับกุมตัวประกันไปราว 250 คน นำไปสู่การตอบโต้ของอิสราเอลในฉนวนกาซ่า ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วกว่า 41,000 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกาซ่า
ท่ามกลางการต่อสู้ที่ดำเนินไปและยังไม่มีทีท่าจะถึงจุดคลี่คลาย ชีวิตของแรงงานไทยในอิสราเอล ชะตากรรมของตัวประกันที่ยังเหลืออยู่ รวมถึงอดีตตัวประกันที่รอดชีวิตออกมา ยังคงต้องต่อสู้ในสังเวียนชีวิตของตัวเองกันต่อไป ภายใต้เงื่อนไขแห่งสงครามที่พวกเขาไม่ได้ก่อ สัมภาษณ์โฆษกกระทรวงการต่างประเทศโดยทรงพจน์ สุภาผล